ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าทำสงครามกับคนรุ่นใหม่จนประเทศอนาคตหมด

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ผลการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพลเอกประยุทธ์และกลุ่มสืบทอดอำนาจ คสช.เพราะนอกจากพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งจนมี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง พรรคที่ได้อันดับสามและสี่ก็คืออนาคตใหม่กับประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศจุดยืนไม่เอาการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน

นอกจากพรรคที่ชูประเด็น “ไม่เอาประยุทธ์” จะได้ความไว้วางใจจากประชาชนจนเป็นพรรคที่มี ส.ส.สูงสุด ๓ ใน ๕ จำนวนเขตเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ทั้งสามพรรคยังมีถึง 206 เขต ขณะที่เขตเลือกตั้งที่พลังประชารัฐและพรรคสุเทพซึ่ง “เอาประยุทธ์” ชนะมีแค่ 98เขตเท่านั้นเอง

ไม่เพียงตัวเลขเขตเลือกตั้งซึ่งฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ชนะฝ่าย “เอาประยุทธ์” กว่าหนึ่งเท่าตัว ประชาชนที่เลือกฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” จากเพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาธิปัตย์-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เพื่อชาติ-เศรษฐกิจใหม่ ก็สูงถึง 20.4 ล้าน หรือเกือบสามเท่าของฝ่าย “เอาประยุทธ์” ที่มีผู้เลือกเพียง 8.84 ล้านคน

ด้วยคะแนนเลือกตั้งที่แสดงถึงความต้องการของประชาชน ประเทศไทยหลังวันที่ 24 มีนาคม คือประเทศที่ฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ยึดพื้นที่ของประเทศไว้ประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วนประชากรฝ่ายที่ “ไม่เอาประยุทธ์” มีสัดส่วน ๑ ใน ๓ ของคนไทยทั้งประเทศ และ ๒ ใน ๓ ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ในประเทศที่กติกาปกครองคำนึงถึงประชาชน เจตจำนงที่ “ไม่เอาประยุทธ์” ในแง่จำนวน ส.ส.ทุกระบบ/ ส.ส.เขต /คะแนนดิบ ฯลฯ ต้องถูกแปรรูปเป็นนายกและรัฐบาลไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้คือฝ่าย “เอาประยุทธ์” ทำทุกวิถีทางเพื่อยึดครองอำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่แม้แต่นิดเดียว

โดยปกตินั้นการเลือกตั้งคือการรีเซ็ตประเทศสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม ประเทศไทยหลังเลือกตั้งทุกครั้งจึงมีบรรยากาศ “น้ำผึ้งพระจันทร์” ที่ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อให้รัฐบาลใหม่ทำงานเต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในสภา การขัดแข้งขัดขารัฐบาลย่อมคล้ายการขัดขวางตัวแทนประชาชน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562 ไม่มีบรรยากาศ “น้ำผึ้งพระจันทร์” อย่างที่เคยเป็น เพราะนอกจากฝ่ายชนะเลือกตั้งจะถูกฝ่าย “เอาประยุทธ์” แย่งชิงตั้งรัฐบาล กกต.ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเพิ่ม ส.ส.ให้ฝ่าย “เอาประยุทธ์” ตั้งรัฐบาลสำเร็จ ขณะที่กองทัพก็โจมตีประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของกกต.

หลังการเลือกตั้งผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ สี่ผู้บัญชาการเหล่าทัพแถลงปกป้อง กกต.จากคนที่กลุ่มพลเอกเรียกว่า “ผู้ไม่หวังดี” , พล.อ.ประวิตรบอกว่าการลงชื่อถอดถอน กกต. “ไม่เหมาะสม” ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าทำแบบนี้ “สร้างความวุ่นวาย” ถึงประชาชนจะใช้สิทธิไปตามกระบวนการที่กฎหมายรับรองก็ตาม

นอกจากฝ่าย “เอาประยุทธ์” จะโจมตีประชาชนรุนแรงจนน่าตกใจ นายกฯ ยังประกาศต่อไปให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลาน, ครูควบคุมศิษย์ และข้าราชการสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชาจาก “ผู้ไม่หวังดี” ที่กำลังคุกคามประเทศ ส่วนผู้บัญชาการทหารบกก็แถลงข่าวว่าพวก “ซ้ายจัดจบนอก” อย่าดัดจริตเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง

ล่าสุดของล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งถึงกับแจ้งความกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. ส่วนตำรวจก็ออกหมายเรียกคนกลุ่มต่างๆ เพื่อดำเนินคดีข้อหาหมื่นประมาท กกต. ซึ่งสื่อเรียกสั้นๆ ว่า “คดีหมิ่น กกต.” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

แม้จะไม่มีใครในรัฐบาลทหารและกองทัพพูดตรงๆ ว่าให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกหลังเลือกตั้งต่อไป แต่พฤติกรรมที่แสดงออกล้วนส่งสัญญาณต้าน “ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์” อย่างที่สุด ต่อให้ฝ่าย “เอาประยุทธ์” จะตั้งรัฐบาลได้ก็ต่อเมื่อ กกต.ใช้อภินิหารลดจำนวน ส.ส.ของอีกฝ่าย แล้วใช้ 250 ส.ว.เลือกนายกก็ตามที

ในโลกของฝ่าย “เอาประยุทธ์” ที่เปิดเผยตัวในพรรคการเมือง, คณะรัฐประหาร และข้าราชการประจำ ฝ่ายชนะเลือกตั้งคือฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” เป็น “ฝ่ายทักษิณ” จนยอมให้มีอำนาจไม่ได้ การดำเนินการไม่ให้คนกลุ่มนี้ตั้งรัฐบาลจึงเป็นเสมือนภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำให้สำเร็จ ต่อให้จะฝืนมติของประชาชน

มองในมุมนี้ ฝ่าย “เอาประยุทธ์” กำลังมองประเทศไทยหลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ด้วยสายตาเดียวกับชนชั้นปกครองกลุ่มที่บงการประเทศตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์สงครามที่ “ฝ่ายต้านทักษิณ” ต้องกำจัด “ฝ่ายทักษิณ” ไม่ว่าจะโดยรัฐประหาร, แปลงผลเลือกตั้ง หรือล้มเลือกตั้งก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในปี 2562 แตกต่างจากประเทศไทยช่วง 2549 จนผลการเลือกตั้งที่คนส่วนใหญ่เลือกฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ไม่ได้แปลว่าคนส่วนใหญ่เลือก “ฝ่ายทักษิณ” และกระทั่งฝ่าย “เอาประยุทธ์” อาจผิดพลาดที่มองฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ด้วยสายตานี้จนดึงประเทศสู่ความขัดแย้งใหม่ที่อันตราย

หนึ่ง ผลเลือกตั้งครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ซึ่งได้แก่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งพรรคที่มีเงื่อนไขพอจะให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็น “ฝ่ายทักษิณ” ได้แก่พรรคเพื่อไทย, พรรคเพื่อชาติ หรือเต็มที่ก็คือพรรคประชาชาติเท่านั้นเอง

ด้วยข้อเท็จจริงดังนี้ ฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” เป็นคนละเรื่องกับ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” หรือแม้กระทั่ง “ฝ่ายทักษิณ” แน่ๆ จนแปลความได้ว่าประชาชนไปเลือกพรรคกลุ่มนี้เพราะประเด็น “ไม่เอาประยุทธ์” มากกว่าจะเป็นประเด็น “เอาทักษิณ” หรือ “เอาเพื่อไทย” อย่างที่ผู้มีอำนาจหวาดระแวง ทั้งคนที่เปิดเผยตัวและคนที่บงการอยู่หลังเวที

สอง ขณะที่ความเกาะเกี่ยวของบางพรรคกับ“ฝ่ายทักษิณ” มาจากการที่บุคคลสำคัญของพรรคเคยสังกัดไทยรักไทยและพลังประชาชน คนเหล่านี้ล้วนไม่ใช่และไม่เคยเป็นศูนย์กลางของการเผชิญหน้าระหว่าง “ฝ่ายทักษิณ” กับ “ฝ่ายต้านทักษิณ” มานานแล้ว ไม่ว่าคุณหญิงสุดารัตน์, คุณจตุพร หรืออาจารย์วันนอร์ฯ

หากผู้มีอำนาจโยนวิธีมองโลกว่าใครเคยสังกัดไทยรักไทยและพลังประชาชนล้วนเป็น “ฝ่ายทักษิณ” ทิ้งไป คนกลุ่มนี้ล้วนเป็นตัวแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา มิหนำซ้ำยังไม่ใช่คนที่เข้าข่าย “ผู้ไม่หวังดี” ต่อประเทศ เว้นเสียแต่จะคิดว่าใครเคยอยู่พรรคใหญ่ที่สุดที่ชนะเลือกตั้งตลอดยี่สิบปีคือศัตรูทางการเมือง

สาม แม้พรรคอนาคตใหม่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งโดยชูหลายประเด็นคล้ายพรรคที่ผู้มีอำนาจเรียกว่า “ฝ่ายทักษิณ” แต่ผู้ลงคะแนนเลือกพรรคนี้จำนวนหกล้านกว่าๆ ไม่ใช่คนที่เคยเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในประเทศนี้ทั้งหมด และแน่นอนว่ายิ่งไม่ใช่คนที่ชนชั้นนำจะยัดข้อหาว่าเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง

หนึ่งในเหตุผลที่อนาคตใหม่โตก็เพราะ “คนรุ่นใหม่” นิยม ฐานคะแนนหลักของอนาคตใหม่จึงไม่เกี่ยวกับ “ฝ่ายทักษิณ” ซึ่งถูกรัฐประหารไปตัั้งแต่ปี 2549 และไม่ได้เหยียบประเทศนี้มาสิบสองปีแล้ว รวมทั้งไม่ใช่ฝ่ายเพื่อไทยซึ่งถูกรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 จนพรรคไม่มีโอกาสสร้างผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่มากว่าห้าปี

จริงอยู่ว่าชัยชนะของฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” มีองค์ประกอบหลายอย่างมาจากทับซ้อนกับ “ฝ่ายทักษิณ” และ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” แต่หากตัดภูมิหลังของบุคคลทิ้งไป สิ่งที่สังคมไทยกำลังเห็นก็คือคุณทักษิณค่อยๆ เป็นอดีตของพรรคการเมืองกลุ่มนี้และประชาชนที่เลือกฝ่ายนี้ไปแล้วอย่างละมุนละม่อมและค่อยเป็นค่อยไป

สิบกว่าปีนี้ประเทศไทยถดถอยเพราะวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง แต่การเลือกตั้งปีนี้คือเงื่อนไขในการพาประเทศจากวงจรของความขัดแย้งอย่างที่สุด เพราะตัวละครหลักที่พัวพันกับความขัดแย้งล้วนหมดบทบาทหรือปรับบทบาทไป ส่วนตัวละครใหม่ที่เกิดขึ้นล้วนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งโดยตรง

ในกรณีของ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ตัวละครหลักอย่างคุณชัชชาติ, คุณธนาธร , พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ หรือแม้แต่คุณหญิงสุดารัตน์ ล้วนไม่มีบทบาทอะไรในความขัดแย้งหลังปี 2549 เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่จำนวนหลายล้านที่เลือกพรรคฝั่งนี้เพราะชื่นชอบคนเหล่านี้จากคุณสมบัติส่วนบุคคลของเขาเหล่านี้เอง

มองในมุมนี้ ประชากรกว่า 20 ล้านที่ไปเลือกฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ลงคะแนนเพราะอยากเห็นประเทศเดินหน้าสู่เส้นทางใหม่ๆ แบบชัชชาติหรือธนาธร, อยากเห็นผู้นำเพื่อไทยซึ่งไม่มีส่วนขัดแย้งกับ “อำมาตย์” หรือกระทั่งอยากได้พลตำรวจเอกที่ “ไม่เอาประยุทธ์” แต่ไม่ได้ถูกชนชั้นนำเขม่นอย่างเพื่อไทยหรือธนาธร

ในเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่ได้มองสังคมไทยด้วยโลกทัศน์ “อำมาตย์-ไพร่” , “เหลือง-แดง” หรือ “ระบอบทักษิณ” อย่างที่ผู้มีอำนาจเข้าใจ การที่ผู้มีอำนาจผลักดันทุกวิถีทางไม่ให้เกิดรัฐบาลตามเจตจำนงของคนกลุ่มนี้จึงทำให้ผู้มีอำนาจเป็นขั้วตรงข้ามกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ทันที

ห้าปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกโดยอ้างว่าทำเพื่อสร้างความสงบ แต่การสืบทอดอำนาจของฝ่าย “เอาประยุทธ์” กำลังทำให้สังคมไทยเข้าสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างคนส่วนใหญ่กับฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งอย่างย่อยยับอย่างพลังประชารัฐ, กองทัพ, คสช. และกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เปิดเผยตัว

โอกาสที่สังคมไทยจะใช้การเลือกตั้งเป็นประตูบานแรกสู่ความสงบกำลังปิดฉากลง ผลจากการแสวงหาอำนาจของกลุ่มที่แพ้เลือกตั้งอย่างย่อยยับจะทำให้สงครามต้านทักษิณหลังปี 2549 เป็นเรื่องตลกเมื่อเทียบกับอภิมหาความขัดแย้งกับคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกปล้นอำนาจที่แสดงในวันเลือกตั้งอย่างอยุติธรรม