ศัลยา ประชาชาติ : ท่องเที่ยวเหนือยับ สงกรานต์กร่อย “ไฟป่า-ฝุ่น PM 2.5” ยังไร้ทางรับมือ

กลายเป็นแชมป์เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกไปแล้ว สำหรับ “เชียงใหม่” เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็จะพบว่าเชียงใหม่เริ่มติดอันดับ 10 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาเป็นระยะๆ

ล่าสุด จากการจัดอันดับค่า World AQI Ranking เว็บไซต์ AirVisual พบว่าค่าฝุ่นละอองของเชียงใหม่ทะลุไปไกลกว่า 448 US AQI ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มี “มลพิษ” สูงสุดในโลกขณะนี้

วิกฤต “ฝุ่นครองเมือง” เริ่มเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายให้กับชาวเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนืออีก 8 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่ามาเร็วกว่าที่ผ่านๆ มา

อย่างที่รับทราบกันดีว่า ต้นตอหลักๆ ของปัญหาฝุ่นควันดังกล่าวมาจากการเผาซากข้าวโพดของบรรดาเกษตรกร การเผาที่เผาป่าเพื่อเตรียมการเพาะปลูกพืช ประกอบกับสภาพของตัวเมืองเชียงใหม่ที่เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้อากาศไม่ถ่ายเท

แต่ที่เป็นปัญหาหนักในตอนนี้ก็คือ การเผาป่าเผาที่ของประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและเมียนมา ที่ซ้ำเติมเข้ามาอย่างหนักหน่วง

หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะลากยาวไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม จากปกติที่เชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือจะเจอปัญหานี้เพียง 1-2 เดือน

 

นอกจาก “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” จะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ที่เริ่มป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากขึ้น โรงพยาบาลบางแห่งเริ่มมีคนไข้ล้นทะลัก และมีการคาดจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกเป็นระลอกๆ

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นโดมิโนที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและสร้างรายได้ให้กับประเทศในอันดับต้นๆ

วันนี้แม้ว่าจะยังมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยือนเชียงใหม่อยู่ไม่น้อย แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่มีท่าทีว่าจะบรรเทาลงในเร็ววัน แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ หดหายลงไปเรื่อยๆ

จากฝุ่นพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้น อากาศอยู่ในระดับสีน้ำตาล ส่งผลให้การเดินทางโดยเครื่องบินในเส้นทางภาคเหนือได้รับผลกระทบทั้งดีเลย์ล่าช้า จนถึงการยกเลิกเที่ยวบิน เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี เพียงช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ (23 ก.พ.-2 เม.ย.) มีเที่ยวบินถูกยกเลิกกว่า 40 เที่ยว จากทั้งหมด 200 เที่ยวบิน

ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ผลจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ทำให้เที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน มีนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 10,000 คน/วัน และคาดว่าช่วงสงกรานต์จะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 195,000 คน/วัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 203,000 คน/วัน

แม้จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงไปไม่มากนัก แต่เม็ดเงินในช่วงเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ที่เคยมีถึง 900-1,000 ล้านบาทก็จะต้องลดลงตามไปด้วย

 

แน่นอนว่าย่อมส่งต่อถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและภาคบริการอื่นๆ

ขณะที่ “ละเอียด บุ้งศรีทอง” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) ยอมรับว่า สถานการณ์ฝุ่นพิษครั้งนี้มีความรุนแรงไม่น้อย ส่งผลให้ยอดจองโรงแรมลดลง โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอดจองห้องพักโรงแรมลดลงราว 15% ขณะที่การจองล่วงหน้าช่วงสงกรานต์มีเพียง 50% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 80-85% ขณะนี้แม้จะยังไม่เห็นภาพของการยกเลิกห้องพัก แต่ก็ต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเวลาใกล้ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร

ถ้าสถานการณ์ฝุ่นควันยังไม่จางหาย เชื่อว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงเทศกาล ที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญก็มีสิทธิออกอาการกร่อยได้

เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงราย จากการสำรวจก็พบว่าอัตราการเข้าพักลดลง 10-20% มิหนำซ้ำนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่าพำนักระยะยาว หรือลองสเตย์ ก็ชิ่งเปลี่ยนปักหมุดไปพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯ แทน

ขณะที่หอการค้าภาคเหนือตอนบน 1 ก็ยังเกรงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อการจองห้องพักล่วงหน้าข้ามปีของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย

ครั้งนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นพิษจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นตัวเลขเฉียดๆ หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและลากยาว การท่องเที่ยวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือจะเสียโอกาสมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นการด่วน เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

หลังจากที่ปล่อยให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่เชียงใหม่ไปจับเข่าคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งรับปากว่าจะผลักดันการแก้ปัญหาฝุ่นควันดังกล่าว เรียกว่าโกยคะแนนนิยมจากชาวเชียงใหม่ไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ

งานนี้ “ลุงตู่” นั่งหัวโต๊ะถกปัญหาพร้อมได้สั่งการอย่างขึงขัง ขีดเส้นเดดไลน์ว่าภายใน 7 วัน หมอกควันจะต้องหายไปจากเชียงใหม่และภาคเหนือ พร้อมสั่งบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน หลายหน่วยงานเด้งรับคำสั่งจ้าละหวั่น มือเป็นระวิงตอบสนองคำสั่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังติดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะงบประมาณ

จากนี้ไปคงจะต้องรอดูสถานการณ์ ปัญหา “ฝุ่นครองเมือง” ในพื้นที่ภาคเหนือจะคลี่คลายบรรเทา หรือยืดเยื้อยาวนานหรือไม่

“มาช้า ดีกว่าไม่มา”… พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถ “ครองใจ” ประชาชนชาวเหนือได้หรือไม่ และสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปจากวิกฤตที่ดำเนินต่อเนื่องมานานนับเดือนอย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามต่อไป