“ประชาธิปัตย์ที่ภาคใต้” กับอนาคตบนถนนประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ในหลายจังหวัดภาคใต้ ถึงแม้ไม่สูญพันธุ์เหมือนสนามกรุงเทพมหานคร ก็เป็นเรื่องพลิกความคาดหมายสำหรับคอการเมือง ในหลายพื้นที่นั้นอดีต ส.ส.อย่างศิริโชค โสภา และนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ใครจะเชื่อว่าสอบตก

บางจังหวัดเกือบสูญพันธุ์ อย่างสงขลา หรือสูญพันธุ์ เช่น สตูลและภูเก็ต ในขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คว้ามาได้แค่ 1 ใน 11 ที่นั่ง

อะไรคือสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวในครั้งนี้ต่อพลพรรคและแฟนประชาธิปัตย์

จากที่ผู้เขียนได้คลุกคลีกับพื้นที่และการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเห็นสอดคล้องกันดังนี้

1.ปัญหาภายใน

คนของพรรคประชาธิปัตย์มีความคิดเห็นที่แตกต่างจนนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกในพรรค ซึ่งก่อตัวมาตลอดตั้งแต่ศึกแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และหลังจากได้หัวหน้าพรรคแล้วก็มีการแบ่งขั้วในพรรคอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับอีกฝ่าย รวมทั้งแนวร่วมสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งผลให้พรรคไม่เป็นเอกภาพ

แม้กระทั่งการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ลงสู้ศึกเลือกตั้ง จนวินาทีสุดท้ายตามที่เป็นข่าว เช่น ที่จังหวัดสงขลา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับไพร พัฒโน

หรือระหว่างคนของถาวร เสนเนียม กับนิพนธ์ บุญญามณี

2.กระแสคนรุ่นใหม่

ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนมากเช่นกันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการทำงานแบบเดิมๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้วิธีการเดิมๆ ในการหาเสียง

ใช้วาทกรรมมากกว่านโยบาย

กอปรกับพรรคอนาคตใหม่นำเสนอนโยบายถูกใจวัยรุ่น ผ่านโลกโซเชียล

ถึงแม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ชนะการเลือกในภาคใต้เลย แต่เกือบทุกเขต อนาคตใหม่ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ อันดับสอง อันดับสามเกือบทุกพื้นที่

ส่งผลให้อนาคตใหม่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงที่สุดเหนือความคาดหมาย

ซึ่งเสียงเหล่านี้มาจากคนวัยหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งคนวัยทำงานหัวก้าวหน้า

3.กระแสพรรคประชาชาติของท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา

สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ได้แค่ 1 เสียงจากที่เคยครองแชมป์ถึง 11 เสียง

เพราะกระแสพรรคประชาชาติของวันนอร์ที่ชูเป็นนายกรัฐมนตรี

และนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โดนใจคนพื้นที่

4.แยกกันตีระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย

ในหลายเขตการเลือกตั้ง เช่น เขต 7 สงขลา 2 เขตที่พัทลุงและสตูล พรรคภูมิใจไทยชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่หลายเขตสงขลา ภูเก็ตและอื่นๆ ได้พลังประชารัฐ โดยเฉพาะเขต 1 ตรังของชวน หลีกภัย อดีต ส.ส.หลายสมัย อย่าง “หมอสุกิจ” ก็แพ้คาบ้าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคพลังประชารัฐมีอำนาจและกลไกของรัฐพร้อมกระสุนอยู่ในมือ ในขณะที่ภูมิใจไทยทุ่มสุดๆ แบบปูพรมให้คนที่ตัวเองคาดว่ามีโอกาสได้ และส่งสัญญาณชัดเจนให้พรรคพลังประชารัฐถอยในเขตดังกล่าว

เรียกว่า แยกกันตี อย่างที่นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาสัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังแพ้การเลือกตั้ง

5.ผีทักษิณ

สำหรับคำว่าผีทักษิณ ยังขายได้ในพื้นที่แห่งนี้หรือแม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร เป็นที่ทราบกันดีว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศจุดยืน “ไม่หนุนลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี มีแฟน กปปส. แฟนประชาธิปัตย์ไม่น้อยที่เกลียดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เข้าสายเลือดถึงแม้ไม่อยู่ในประเทศนานแล้ว

มวลชนคนเหล่านี้มองว่า มีคนเดียวเท่านั้นที่จะต่อกรกับพลพรรคต่างๆ ของเครือข่ายและแนวร่วมพรรคเพื่อไทย รวมทั้งอนาคตใหม่ คือลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐอย่างเดียวเท่านั้น

(ยกเว้นคนเป็นแนวร่วมประยุทธ์อย่างชัดเจน อย่างถาวร เสนเนียม และนายชุมพล จุลใส) ถึงแม้ลึกๆ แล้วไม่พอใจในการบริหารรัฐบาล คสช.ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะราคายางได้ แต่ก็ทำให้ประเทศสงบ

อนาคตพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะการจะเข้าร่วมหนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา จากฝั่งพลังประชารัฐเพราะอภิสิทธิ์ก็ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคแล้ว

คนที่เคลื่อนไหวมากที่สุดต่อเรื่องนี้ก็เป็นไปตามคาดคือ ถาวร เสนเนียม แต่การเลือกเดินตามถาวร ก็มีเสียงทัดทานกลัวภาพลักษณ์หนุนการสืบทอดอำนาจจากฝั่งแนวร่วมอภิสิทธิ์ ชวน บัญญัติ บรรทัดฐาน แม้โดยมารยาทคนเหล่านี้จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวแต่ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “แล้วแต่มติพรรค”

แต่เสียงทัดทานเหล่านี้จะได้ยินจากคนหนุ่มๆ ของพรรค เช่น ไอติม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และณัฏฐ์ บรรทัดฐาน โดยเสนอแนะว่า “คนของพรรคต้องไม่หนุนการสืบทอดอำนาจ พร้อมทั้งควรเป็นพรรคฝ่ายค้านเสรีจะดีกว่า เพราะสิ่งนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้อย่างสง่างามในถนนประชาธิปไตย รวมทั้งเสนอให้มีการทบทวนตัวเองรวมทั้งปฏิรูปพรรค ซึ่งได้รับการตอกกลับจากผู้อาวุโสพรรค และคนนอกพรรคสายแนวร่วมประยุทธ์ว่า “ละอ่อนทางการเมือง อีกทั้งเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับเครือข่ายหรือใช้คำว่าระบอบทักษิณ”

ทำให้ไม่เพียงว่าที่ ส.ส. อดีต ส.ส.ของพรรคหลายคนต้องชั่งใจ ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้พรรคแตกหรือมีงูเห่าในพรรค เพราะเมื่อสำรวจมวลชนคนประชาธิปัตย์เองทั้งระดับร้านน้ำชาและโลกโซเชียลก็โต้กันเดือด

สําหรับนักวิชาการในพื้นที่ภาคใต้สายเสรี ประชาธิปไตย มองว่าข้อเสนอของไอติมอาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เจ็บปวดมากหรืออาจทำให้พรรคแตก แต่ในอนาคตหากจะเดินบนสายอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแล้วต้องกล้าแลกกับความเจ็บปวดนี้อย่างยิ่งใหญ่

เช่น อาจารย์รอมฎอน ปันจอร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ทัศนะว่า “#พรรคประชาธิปัตย์ หลังความพ่ายแพ้ครั้งนี้คือต้องแน่วแน่เผชิญความเจ็บปวด 2 ชั้นอย่างสง่างาม กล่าวคือ 1) สนับสนุนเพื่อไทยและพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอันเป็นวิถีปกติของ #ระบบรัฐสภา และ 2) ยืนยันที่จะเป็นฝ่ายค้าน (ร่วมกับพลังประชารัฐและพันธมิตร) เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ตนยกมือหนุนด้วยความจริงจังเพราะมีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสะสมต้นทุนฝ่าวิกฤตศรัทธายืดอกอย่างผ่าเผยว่า #เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และ #ประชาธิปไตยสุจริต วิธีการ #หล่อสองชั้น นี้จะค่อยๆ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อไปในอนาคต แทนที่จะไปเป็น #หางเครื่อง ให้ #ฝ่ายสืบต่ออำนาจทหารด้านๆ และ #ฝ่ายทักษิณ อย่างที่ฐานเสียงพวกเขาคิดกังวล”

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่แกนนำพรรคต้องหยิบไปทบทวนเพื่อก้าวข้ามความผิดพลาดครั้งนี้ และฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นทางเลือกของประชาชนคนใต้และคนไทยทั้งประเทศ

ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ให้สู้ต่อไป แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานประชาธิปไตยสากลที่อารยะโลกยอมรับ รวมทั้งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ภายภาคหน้า