อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : แม่น้ำโขง การเมืองของแม่น้ำ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีรายงานข่าวตามสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เยือนไทยเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนตกลงยุติแผนการขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ที่สร้างความกังวลอย่างสูงสำหรับประเทศท้ายน้ำจากประเทศไทย สปป.ลาว เมียนมา ที่อาจได้รับผลลบจากข้อเสนอระเบิดเกาะแก่งของทางการจีน

การระเบิดเกาะแก่งและขุดเจาะในแม่น้ำโขงมีเป้าหมายเพื่อเรือขนส่งขนาดใหญ่อันจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนของพวกเขาตามลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งมีผลกระทบต่อปลาในแม่น้ำโขงอีกด้วย

รายงานข่าวของสื่อมวลชนรายงานการตอบรับข้อเสนอในการประชุมที่กรุงเทพฯ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของทางการไทยและเจ้าหน้าที่ของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนค่อนข้างดีและความเข้าใจ

กล่าวคือ ทางการไทยเสนอต่อทางการจีนว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนยอมรับด้วยความเข้าใจต่อข้อเสนอนี้

มีการขยายความว่า คำอธิบายของทางการไทยเรื่องการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงว่า นอกจากได้รับผลเสียหายต่อระบบนิเวศน์ การระเบิดเกาะแก่งยังสามารถเปลี่ยนกระแสน้ำซึ่งไหลจากจีนไปสู่ประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน 5 ประเทศคือ เมียนมา ประเทศไทย สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

และอาจจะกระทบต่อเส้นพรมแดนเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงทิศทางเมื่อไปไหลลงที่ทะเลจีนใต้

ทางการไทยยังชี้ให้เห็นว่า มีการเดินทางและขนส่งดีขึ้นอยู่แล้วในการขนส่งสินค้าต่างๆ จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง

 

ที่มาและความคลุมเครือ

ย้อนกลับไปศึกษาจากข่าวจากหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั่วไปพบว่า แผนการขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเป้าหมายเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงแม่น้ำโขงตอนบน ช่วยให้การเดินทางและส่งผ่านสินค้าเรียบร้อยต่อเรือบรรทุกขนาดใหญ่เมื่อก่อนนี้ได้รับการยินยอมจากประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไทยด้วยในเดือนธันวาคมในปี 2016

ประเด็นก็คือว่า ก่อนหน้านี้เป็นข้อเสนอที่มาจากทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางการไทยซึ่งหมายความว่าคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยินยอมนี่เอง มีการลงทุนขุดเจาะเกาะแก่งแม่น้ำโขงโดยบริษัทเอกชนของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว แต่มีการเลื่อนออกไปเพราะมีการประท้วงจากคนท้องถิ่นทางฝั่งไทยและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

การชะลอโครงการเกิดขึ้นท่ามกลางการยื้อยุดระหว่างทางการจีน ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทางการไทยทั้งในระดับคณะรัฐมนตรีและระดับผู้ว่าราชการจังหวัด

เพราะเจ้าหน้าที่เรือของจีนซึ่งได้เข้ามาทำการสำรวจแม่น้ำโขงได้ร้องขอไปที่กงสุลใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ให้ช่วยเหลือคุ้มครองเรือขุดเจาะจีน

เพราะเขาอ้างว่าเป็นมติคณะรัฐมนตรีไทยที่ยินยอมให้เรือจีนมาขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงได้

 

ฝ่ายสนับสนุนจีน

มีการจัดรับฟังสาธารณะ (public hearing) จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2019 ที่จังหวัดเชียงรายต่อข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มที่สนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนจีนในการดำเนินการเคลียร์เส้นทางของแม่น้ำโขงที่อนุญาตให้เรือขนส่งขนาด 500 ตันผ่านได้

มีบางข้อมูลจากสื่อมวลชนและคนในชุมชนท้องถิ่นอ้างว่า เป้าหมายหนึ่งของการขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงของทางการจีนคือ มุ่งเข้าสู่ เมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว

ซึ่งเหตุผลตรงไปตรงมา แต่ฉาบฉวยคือ ลงทุนการท่องเที่ยวเข้าไปในเมืองหลวงพระบางทั้งการขนนักท่องเที่ยวจีนให้จำนวนมากขึ้น ขนนักท่องเที่ยวได้หลายเที่ยว นำวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างโรงแรม เกสต์เฮาส์ วัสดุก่อสร้างจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

เหตุตรงไปตรงมานี้ชัดเจนเพราะแม่น้ำโขงบริเวณเมืองหลวงพระบางมีพื้นน้ำตื้นเขินเกินกว่าที่เรือขนาดใหญ่ของจีนจะพานักท่องจีนจำนวนมากเข้าไปท่องเที่ยวเมืองยอดฮิตอย่างหลวงพระบาง

นี่เป็นเพียงบางประเด็นแต่ชัด ตรงไปตรงมาและง่ายๆ จากฝ่ายสนับสนุนจีนในการขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง

มีรายงานจากสื่อมวลชนว่า มีจุดทั้งหมด 13 จุดแม่น้ำโขงระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระบุเป็นจุดพื้นที่เป็นช่องทางที่ทำให้แม่น้ำโขงขยายออกไปด้วยการขุดเจาะและระเบิด

การเมืองเรื่องแม่น้ำโขง

มีข้อน่าสังเกตหลายประการที่อาจจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

ประการที่หนึ่ง ข้อเสนอการขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นข้อเสนอที่มาจากไหน? เป็นข้อเสนอของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน จริงหรือที่ทุกชาติในลุ่มแม่น้ำโขงยอมรับในข้อตกลงจากฝ่ายจีน เพราะปัญหาประเทศต้นน้ำคือสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศปลายน้ำคือเมียนมา ไทย สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีมานานแล้ว

อีกทั้งด้วยเหตุผลของกระแสน้ำประเทศปลายน้ำเสียเปรียบอยู่แล้ว ยิ่งมีข้อเสนอขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อเรือบรรทุกสินค้าบรรจุได้ 500 ตัน ใครได้ประโยชน์

แม่น้ำโขงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีต้นทุนต่ำและขนส่งสินค้าจากจีนลงมาและขนสินค้าที่จีนต้องการไปจีนหรือเมืองที่จีนลงทุนมากๆ เช่น หลวงพระบาง สปป.ลาว

ประการที่สอง หากข่าวที่ว่ากงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่อ้างมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคุ้มครองเรือสำรวจและขุดเจาะของจีน สาธารณะควรทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีนั้นว่ามีเหตุผลอะไรและเพื่ออะไร คงเป็นการยากที่จะมีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนมาประชุมที่กรุงเทพฯ แล้วยอมรับข้อเสนอจากทางการไทย ไม่ง่ายไปหน่อยสำหรับความยิ่งใหญ่ของจีนและประเทศเล็กๆ อย่างไทย

ประการที่สาม เหตุผลของการไม่เห็นด้วยต่อการสำรวจขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงของจีนในกรณี สปป.ลาวและราชอาณาจักรกัมพูชาคล้ายคลึงกัน เพียงแต่สาธารณะของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะชุมชนในแม่น้ำโขงย่อมแสดงออกอะไรไม่ได้เลย เพราะการปกครองที่แตกต่างกันอย่างที่รู้อยู่ หรือมีกลุ่มด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน แต่เป็นข่าวน้อยมาก

นี่เป็นเพียงบางส่วนของการเมืองแม่น้ำโขง ซึ่งจริงๆ มีอีกมาก แล้วเราควรดูหลายด้านพร้อมกันทั้งจากรัฐบาลในลุ่มแม่น้ำโขง รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งตอนหลังเข้ามาเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงในหลายมิติและลุ่มลึก

แม่น้ำโขงที่กลายเป็นแขนขาทางการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจของจีนไปแล้ว

อยากฟังคำอธิบายมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์เรื่องแม่น้ำโขงจังเลย