เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พื้นที่งานศิลปวัฒนธรรม

ดีใจที่เรามีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ว่าจะเปิดใช้ราวเดือนกันยายนสองห้าหกสองนี้ ซึ่งจะเป็นสถานีโอ่อ่าอลังการด้วยการออกแบบตกแต่งสมภูมิสถาน

เช่น สถานีเยาวราชตรงวัดเล่งเน่ยยี่หรือวัดมังกรกมลาวาส คือหัวใจมังกร ก็จะมีบรรยากาศแบบจีน เป็นต้น

ยังมีอีกสองสามสถานี เช่น สามยอด สนามชัย แล้วลอดน้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนฯ แถววัดหงส์รัตนาราม โพธิ์สามต้นนั่น ว่าแต่ละสถานีได้ออกแบบตกแต่งสมภูมิสถานด้วยภูมิสถาปัตย์อันอลังการยิ่ง

สถานีรถไฟใต้ดินในมอสโกที่รัสเซีย ก็เป็นอย่างนั้น คืออลังการด้วยงานสถาปัตย์และศิลปะตกแต่ง คือนอกจากตัวอาคารและภูมิสถานภายใน ทั้งเพดาน ผนังและเสาที่ออกแบบสมภูมิสถาปัตย์แล้ว บางที่ยังมีรูปเขียนของจิตรกรเอกติดตั้งประดับประดาให้ได้ชื่นชมแก่สาธารณชนอีกด้วย

นี้คือการเปิดพื้นที่งานศิลปวัฒนธรรมแก่ชุมชนและแก่สังคมโดยรวม

เป็นการสำแดงคุณค่าของงานศิลปกรรมที่มีต่อสังคมโดยแท้และยืนยันสัจวาทะที่ว่า

ศิลปะเป็นอลังการของสังคม

ยังไม่มีโอกาสเข้าไปดู แต่เชื่อมือท่านสถาปนิกเอกคือ อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีส่วนร่วมรังสรรค์งานนี้อยู่อย่างสำคัญ โดยเฉพาะที่สถานีสนามชัย

ขอเสนอเพิ่มเติมว่าควรมีภาพเขียนร่วมสมัยของศิลปินไทยเรามาร่วมประดับตกแต่งตามเหมาะสมด้วยจะดียิ่ง

นอกจากรูปเขียนแล้วอาจมีบทกวีหรือวาทะปราชญ์จารึกประดับไว้ด้วยตามบรรยากาศสถานที่ เช่น สถานีเยาวราชก็น่าจะมีวาทะปราชญ์จีน เช่น

ภูเขาแม้ไม่สูง ขอเพียงมีเซียนสถิตอยู่ ภูเขานั้นก็เลื่องชื่อ

แม่น้ำแม้ไม่ลึก ขอเพียงมีมังกรอาศัยอยู่ แม่น้ำนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์

ดังนี้เป็นต้น

สถานีสนามชัยใกล้บรมมหาราชวังนั้นอาจจารึกบทกวีแห่งองค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์รัชกาลที่หนึ่ง บทนี้คือ

ตั้งใจจะอุปถัมภก

ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑสีมา

รักษาประชาชนและมนตรี ฯ

สถานีที่วัดหงส์รัตนารามอาจมีบทกวีโคลงนิราศนรินทร์ บทนี้คือ

วัดหงส์เหมราชร้าง รังถวาย นามแฮ

เรียมนิราเรือนลาย สวาทสร้อย

หงส์ทรงสี่พักตรผาย พรหมโลก

จะสั่งสารนุชคล้อย คลาดท้าวไป่ทัน ฯ

ดังนี้เป็นต้น

ทำได้ดังนี้ทุกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเป็นอุทยานศิลปกรรมหล่อหลอมรสนิยมสุนทรีย์ให้แก่ผู้คนในสังคมเราได้อย่างดีเยี่ยม

แทนที่จะมีแต่โฆษณาบ้าเลือดหรือแอบแฝงอย่างแนบเนียนตามวิถีทุนนิยมเพียงเท่านั้น

นอกจากภูมิสถานดังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว พื้นที่ศิลปวัฒนธรรมอันสมควรต้องส่งเสริมนั้นพึงมีในทุกจังหวัดด้วย ดังเรียกว่าลานวัฒนธรรมหรือเวทีศิลปวัฒนธรรม

ซึ่งเวลานี้เริ่มจะปรากฏในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ที่ตลาดทุ่งสง นครศรีธรรมราช ที่เมืองกาญจน์ก็มีเวทีถนนปากแพรก เป็นต้น

แม้จะดูยังไม่จริงจังยั่งยืน แต่การได้เริ่มทำให้ปรากฏก็เป็นนิมิตหมายอันดี เป็นเค้ามูลพอที่จะขยายผลให้พัฒนาต่อไปได้

คุณธนภณ วัฒนกุล เป็นศิลปินนักจัดการผู้หนึ่งที่แข็งขันในเรื่องนี้มาแต่ต้น งานวัฒนธรรมที่ตลาดทุ่งสงดังมีประจำทุกสัปดาห์นั้น คุณธนภณมีส่วนร่วมสร้างสรรค์มาแต่เริ่ม โดยมีนายกเทศมนตรี คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง เป็นผู้ดำเนินงานอย่างจริงจังและจริงใจ

โดยเฉพาะการทำงานในลักษณะ สานพลังสามภาคส่วนไปด้วยกัน อย่างมีดุลยภาคและศักยภาพ สามภาคส่วนนี้คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) และภาคประชาสังคม

ตลาดทุ่งสงมีทุกเย็นวันอาทิตย์ถึงราวสามทุ่ม จัดติดต่อกันมาถึงวันอาทิตย์ 31 มีนาคมนี้เป็นครั้งที่ 65 แล้ว โดยมีแผงขายสินค้าผลิตภัณฑ์ภาคใต้เท่านั้น พิเศษคือมีเวทีศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น เวทีของเด็กนักเรียนทุ่งสง ซึ่งมีทั้งโรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนทั่วไปในอำเภอ รวมทั้งเวทีของศิลปินอื่นๆ หลากหลายจากที่ต่างๆ

จำเพาะเด็กนักเรียนเทศบาลหกโรงเรียนในทุ่งสงนั้นมีเวทีต่างหากออกไป ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะสลับกันมาแสดงอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งการแสดงโนราและหนังตะลุง ว่าเป็นที่ชื่นชมและชื่นชอบของเด็กๆ จนเกิดค่านิยมหนังตะลุง-โนราในหมู่เด็กๆ และเยาวชน นอกจากสนุกแล้ว ยังมีเวทีให้ได้แสดงออกอย่างภาคภูมิ

นี่คือพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมที่บ้านเรายังขาดอยู่

พื้นที่ศิลปวัฒนธรรมที่มีเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ใช่มีเฉพาะเทศกาลงานพิธีชั่วครั้งคราวหรือประเพณีประจำปีเพียงเท่านั้น

เวทีประจำทำนองนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกในหลายจังหวัด และควรจะต้องมีเป็นประจำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่า “ถนนคนเดิน” ซึ่งมีอยู่ในแทบทุกจังหวัด และหลายชุมชนอยู่แล้วนั้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดพื้นที่งานศิลปวัฒนธรรมนี้ นอกจากสีสันของชุมชนในลักษณะแปรคุณค่าทุนทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ประโยชน์ยิ่งทางนามธรรมคือการได้อนุรักษ์ฟื้นฟูงานศิลปวัฒนธรรมพร้อมทั้งพัฒนาไปกับยุคสมัยได้ด้วย

พิเศษยิ่งคือเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถของตนในเชิงศิลปะให้ปรากฏ อันเป็นความภูมิใจที่ประจักษ์ได้เฉพาะตนเท่านั้น

บรรดาสรรพวิชาที่ร่ำเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายในโรงเรียนนั้น เป็นเพียง “วิชาชีพ”

ความสามารถในงานศิลปวัฒนธรรมนี่ต่างหากเป็น “วิชาชีวิต” ที่สำคัญยิ่งนัก ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเติมเต็มในกระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพคน

ภูมิสถาปัตย์รถไฟฟ้าใต้ดินและเวทีลานวัฒนธรรมนี่แหละเป็นนิมิตใหม่ของการพัฒนาคุณภาพคน ถือเป็นการ “นำร่อง” ดังรัฐธรรมนูญใหม่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 57(1) ว่า

“(1) อนุรักษ์ พื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกฉบับเดียวที่มีหมวดว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” (หมวด 5) โดยมีบทบังคับไว้ในมาตรา 51 ต้นหมวดดังนี้

มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

“…จัดให้มีพื้นที่สาธารณะ…” นี่แหละสำคัญสุด

ฝากรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลด้วยนะ