เกษียร เตชะพีระ | สถานการณ์โลกจากมุมอเมริกา : การเมืองเรื่องหนี้

เกษียร เตชะพีระ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) อย่างกว้างขวางในโลกทุนนิยมตะวันตกสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1970 แล้วไม่ได้มีการรื้อทำลายธุรกิจและพลังการผลิตเก่าที่ด้อยประสิทธิภาพลง เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสร้างพลังการผลิตใหม่ขึ้นทดแทน ตามตรรกะการทำลายอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) ของทุนนิยมตลาดเสรี ได้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (economic stagnation) ตกค้างยืดเยื้อเรื้อรังในตะวันตกและอเมริกา นำไปสู่การเปลี่ยนทุนนิยมเป็นแบบการเงินและอาศัยเงินกู้มาขับดันการเติบโตทางเศรษฐกิจแทนในระยะต่อมา (financialization & debt-fuelled growth)

ด้านหลักของเงินกู้ดังกล่าวในสหรัฐมาจากภาคครัวเรือน แทนที่จะเป็นหนี้สาธารณะของภาครัฐซึ่งได้ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 มาจนแซงหน้าหนี้ภาคครัวเรือนอเมริกันในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 (ดูแผนภูมิด้านบน)

หลังจากนั้นเพื่อแก้ไขวิกฤตการคลัง รัฐบาลประธานาธิบดีคลินตันแห่งพรรคเดโมแครต (ค.ศ.1993-2001) ได้ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล ลดหนี้ภาครัฐลง พร้อมกับเปิดเสรีทางการเงินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ เพื่อสร้างอุปสงค์ (demand) ผ่านเงินกู้ภาคครัวเรือนเข้าไปทดแทนในระบบเศรษฐกิจ

โดยผลักดันให้สภาคองเกรสยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกกิจการธนาคารวาณิชธนกิจ (investment banking ซึ่งทางการคุมน้อยกว่า) ออกจากธนาคารพาณิชย์ (commercial banking ซึ่งทางการคุมเข้ม) ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 เพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤตการเงินการธนาคารลง (เรียกกันว่า The Banking Act of 1933 หรือ The Glass-Steagall Act)

แล้วผ่านกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า The Financial Services Modernization Act of 1999 หรือ The Gramm-Leach-Bliley Act ออกมาใช้แทน ซึ่งยกเลิกการแยกประเภทธนาคารแต่เดิมและเปิดช่องให้ธนาคารดำเนินกิจการทั้งแบบพาณิชย์และวาณิชธนกิจควบคู่กันได้

ส่งผลให้สถาบันการเงินนานาประเภทไม่ว่าเฮดจ์ ฟันด์, กองทุนส่วนบุคล, นิติบุคคลเฉพาะกิจ และบรรดาสถาบันการเงินฐานะคลุมเครือเหมือนระบบธนาคารในเงามืด (shadow banking) อื่นๆ เติบโตและปล่อยกู้หนี้จำนองบ้านให้แก่ลูกหนี้บุคคล/ครัวเรือนด้อยคุณภาพ (ที่เรียกกันว่า subprime) อย่างไร้การกำกับควบคุมจนนำไปสู่วิกฤตซับไพรม์ในที่สุด (ดูเพิ่มเติมใน เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555)

ดังจะเห็นได้ว่าหนี้ครัวเรือนอเมริกันทิ้งห่างหนี้สาธารณะของรัฐไปไกลโขนับแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา (ดูแผนภูมิด้านบน)

การคลี่คลายขยายตัวของปรากฏการณ์หนี้ซับไพรม์จนกลายเป็นวิกฤตการเงินในอเมริกาและทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.2008 (ผ่านกระบวนการปล่อยกู้หนี้จำนองบ้านด้อยคุณภาพ -> ธนาคารวาณิชธนกิจแปลงหนี้เป็นหุ้นกู้ -> คลุกเคล้าผสมผสานหุ้นกู้เป็นหีบห่อใหญ่ตามชั้นระดับความเสี่ยงกลายเป็นตราสารหนี้ CDOs -> ซื้อตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง CDSs ให้ CDOs -> แล้วขายตราสารหนี้ CDOs ออกไปให้นักลงทุนทั่วโลก -> เกิดฟองสบู่ยักษ์ของอสังหาริมทรัพย์) นั้นอิงอาศัยฐานความเป็นจริงด้านลบของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในสังคมอเมริกันเอง กล่าวคือ :

[บรรษัทข้ามชาติอเมริกันย้ายฐานการผลิตและตำแหน่งงานหัตถอุตสาหกรรมมั่นคงรายได้ดีออกไปต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า -> ชีวิตการงานของคนงานอเมริกันไปจนถึงนักวิชาชีพคนชั้นกลางสุ่มเสี่ยงไม่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ -> ชาวอเมริกันมีชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้น แต่ค่าจ้างที่ได้เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้วกลับตกต่ำลง ครัวเรือนอเมริกันจึงพากันกู้หนี้ยืมสินรุงรังหนักขึ้นโดยเฉพาะหนี้จำนองบ้านด้อยคุณภาพหรือซับไพรม์]

ผลจากการนี้ทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ของบุคคลในสหรัฐฯพุ่งสูงระเบิดเถิดเทิงเมื่อใกล้ปี ค.ศ.2008 ที่วิกฤตซับไพรม์ปะทุ และถึงปัจจุบันก็เฉลี่ยอยู่ที่ 100% ของรายได้ครัวเรือนต่อปี โดยแตกต่างหลากหลายกันมหาศาลตามถิ่นที่อยู่ในภูมิภาค เช่น ตามบริเวณชายฝั่งทะลตะวันออก-ตะวันตก-ทางใต้ และภูมิภาคตามแนวเทือกเขาอัพพาลาเชียอันเป็นเขตเหมืองถ่านหินมาแต่เดิมนั้น

หนี้สินสูงเป็นสามหรือสี่เท่าของรายได้ครัวเรือนต่อปีทีเดียว

ทว่าในแง่สังคม การติดหนี้สินไม่ใช่ประสบการณ์รวมหมู่ในแบบที่การตกงานขนานใหญ่เป็น หากมีลักษณะเป็นประสบการณ์ปัจเจกบุคคลโดยเนื้อในของมัน

ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ทุกคนมีคะแนนสินเชื่อ (credit score ในทำนองคล้ายกับข้อมูลสินเชื่อส่วนบุคคลที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจัดเก็บ) เฉพาะตัวบุคคลในเชิงปริมาณ และวิกฤตจะมาถึงตัวเขา/ตัวเธอคนเดียวโดดๆ ในรูปชักหน้าไม่ถึงหลัง มีเงินไม่พอ จ่ายบิลต่างๆ ไม่ทัน แทนที่จะมาถึงคนหมู่มากแบบรวมหมู่

ดังนั้น ในแง่การเมือง หนี้สินจึงน้อมนำไปสู่การทำให้กิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล (individualization of political activity) แทนที่ประเด็นหนี้สินจะทำให้คนงานรับจ้างรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน มันกลับทำให้ประชากรแตกกระจายเป็นอะตอมเหมือน “ถุงใส่หัวมันฝรั่ง” ที่มาร์กซ์เคยใช้เปรียบเปรยชาวนาเอกระ

ในสภาพเช่นนี้ การเมืองเรื่องหนี้สินจึงไม่เป็นฐานให้ก่อเกิดขบวนการฟาสซิสต์ที่เป็นปึกแผ่นเอกภาพ หากเอื้อให้เกิดระบอบเผด็จการที่ปัจเจกลูกหนี้ทั้งหลายระดมกันเข้าห้อมล้อมอิงอาศัยบารมีผู้นำแบบ Bonapartism (เหมือนเผด็จการ หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ตในฝรั่งเศส ค.ศ.1851-1870) มากกว่า ในลักษณะรัฐอำนาจนิยมรวมศูนย์ ซึ่งมีผู้นำบารมีที่เข้มแข็ง แสดงโวหารต่อต้านชนชั้นนำ ได้แรงหนุนจากกองทัพและยึดอุดมการณ์อนุรักษนิยม

ดังที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมายและแสดงแนวโน้มท่าทีทำนองจอมเผด็จการตัวบุคคลแบบ Bonapartist ออกมาในปัจจุบัน

ท่าทีการเมืองของมวลชนอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์จึงมีลักษณะชาตินิยมแบบปกป้องการค้าที่ระแวงภัยและตั้งรับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์ Dylan Riley ได้เปรียบเทียบจำแนกระบอบ/ขบวนการ 4 แบบรวมทั้งแบบทรัมป์ ในประเด็นฐานชนชั้นและท่าทีการเมืองแบบสากลนิยม/ชาตินิยมไว้อย่างน่าสนใจ พอสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ :