การศึกษา / เปิดเกณฑ์ประเมิน…เลื่อนเงินเดือนแม่พิมพ์ ตอบโจทย์แก้ปัญหาการศึกษา??

การศึกษา

 

เปิดเกณฑ์ประเมิน…เลื่อนเงินเดือนแม่พิมพ์

ตอบโจทย์แก้ปัญหาการศึกษา??

 

ในที่สุดก็ได้ข้อสรุป หลังครูออกมาโวย กรณีแบบบันทึกการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเดิมมี 3 ด้าน 13 แฟ้ม ทำให้ครูต้องกรอกรายละเอียด เพิ่มภาระงาน สร้างความยุ่งยากให้กับผู้รับการประเมิน…

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติ “ยกเลิก” แบบประเมินผลการปฏิบัติงานฯ เดิม และได้เห็นชอบแบบบันทึกการประเมินผลการปฏิบัติงานฯ ใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบการประเมินปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ซึ่งรายละเอียดแบบบันทึกการประเมินฯ ใหม่ แบ่งเป็น 4 สาย ดังนี้ แบบที่ 1 แบบประเมินผลการปฏิบัติงานฯ สายงานสอน แบบที่ 2 แบบประเมินผลการปฏิบัติงานฯ สายงานบริหารการศึกษา แบบที่ 3 แบบประเมินผลการปฏิบัติงานฯ สายงานบริหารการศึกษา และแบบที่ 4 แบบประเมินผลการปฏิบัติงานฯ สายงานนิเทศการศึกษา

มี 2 องค์ประกอบ รวม 100 คะแนน คือการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงาน 70 คะแนน และการประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 30 คะแนน

 

แบบที่ 1 ดังนี้ 1. ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยพิจารณาจากการสร้าง และหรือพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียน การสร้าง และหรือพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมิน การเรียนรู้และการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และหรือวิจัย เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน

  1. ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการชั้นเรียน และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ และการจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
  2. ด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ โดยพิจารณาจากการพัฒนาตนเองและการพัฒนาวิชาชีพ

และ 4. งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

 

แบบที่ 2 ดังนี้ 1. ด้านการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยพิจารณาจากการจัดระบบการประกันคุณภาพ และการนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและแผนกลยุทธ์ การสร้างความสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของครู บุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม

  1. ด้านการบริหารจัดการการเรียนรู้ โดยพิจารณาจากการบริหารการพัฒนาหลักสูตร การบริหารจัดการกระบวนการเรียนรู้ การจัดระบบและนิเทศการจัดการเรียนรู้ การจัดระบบและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
  2. ด้านการบริหารจัดการงานทั่วไปของสถานศึกษา โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม และบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ การบริหารกิจการนักเรียนและจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
  3. ด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ โดยพิจารณาจากการวางแผนและพัฒนาตนเองด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะบุคคลสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาผู้อื่นด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ และการเป็นผู้นำในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

และ 5. งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย

 

แบบที่ 3 ดังนี้ 1. ด้านการกำหนดนโยบายการบริหารและการจัดการศึกษา โดยพิจารณาจากการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและแผนกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาการศึกษาฯ

  1. ด้านการพัฒนางานวิชาการ โดยพิจารณาจากการจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษา การส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การจัดระบบและนิเทศการศึกษา การจัดระบบและประเมินสถานศึกษาและการส่งเสริมการวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  2. ด้านการบริหารจัดการงานทั่วไปของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการสถานที่ สภาพแวดล้อม และบรรยากาศให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและการบริหารงานธุรการ สารสนเทศทางการศึกษา และงานประชาสัมพันธ์
  3. ด้านการพัฒนาตนเองและการพัฒนาวิชาชีพ โดยพิจารณาจากการวางแผนและพัฒนาตนเอง ด้านความรู้ และทักษะ และคุณลักษณะบุคคล สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาผู้อื่นด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ และการส่งเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

และ 5. งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย

 

และแบบที่ 4 ดังนี้ 1. ด้านนิเทศการศึกษา โดยพิจารณาจากการจัดทำแผนการนิเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับการนิเทศ การศึกษาวิเคราะห์ และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา การส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย หรือพัฒนาสื่อ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ การส่งเสริม และสนับสนุนให้ครูมีความรู้ความสามารถวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ และนิเทศตามระบบช่วยเหลือนักเรียนและประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง

  1. ด้านการส่งเสริมการบริหารสถานศึกษาและระบบประกันคุณภาพ โดยพิจารณาจากการจัดทำแผนการนิเทศเพื่อส่งเสริมการบริหารสถานศึกษา ระบบประกันคุณภาพการศึกษา การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ และสังเคราะห์ งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการบริหารงานวิชาการของสถานศึกษา
  2. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพิจารณาจากการร่วมกันสร้างองค์ความรู้ ชี้แนะ และพัฒนางานด้านนโยบายและจุดเน้นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และวิจัย สร้างนวัตกรรม การนิเทศเพื่อพัฒนางานด้านนโยบายและจุดเน้นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  3. ด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ โดยพิจารณาจากการวางแผนและพัฒนาตนเอง โดยนำผลการพัฒนาตนเองมาใช้ส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิชาชีพและเป็นผู้มีส่วนร่วมทางวิชาการในชุมชนแห่งการเรียนรู้

และ 5.งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย

 

องค์ประกอบที่ 2 การประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้ง 4 รูปแบบ มี 6 ด้าน ดังนี้

  1. มีความซื่อสัตย์ สุจริต รักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่อาศัย หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจ และหน้าที่ของตน เพื่อแสวงหาประโยชน์
  2. การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย นโยบาย และคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
  3. มีความวิริยะ อุตสาหะ ตรงต่อเวลา และอุทิศเวลาให้แก่ทางราชการ
  4. การมีจิตสำนึกที่ดี มุ่งมั่นต่อกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  5. การรักษาคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ

และ 6. การรักษาภาพลักษณ์และความสามัคคีในองค์กร ชุมชน และสังคม

หลัง ก.ค.ศ. ประกาศเกณฑ์นี้ออกมา นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เกณฑ์ประเมินดังกล่าว เป็นพื้นฐานตามระบบราชการ กล่าวคือกว้างและครอบคลุมทุกประเด็น แต่ไม่ทำให้เห็นความแตกต่าง สะท้อนถึงตัวตนและวิธีการทำงานของระบบราชการ ซึ่งมีจุดอ่อน ตรงที่ขาดความเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก ทั้งชุมชน ผู้ปกครอง ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยความคิดที่แหลมคม เพื่อทำให้การศึกษาดีขึ้น

“การประเมินเพื่อเลื่อนเงินเดือนของ ศธ. อาจจะตอบโจทย์ความเป็นระบบราชการ แต่ไม่ตอบโจทย์สังคม ไม่มีจุดเด่น ซึ่งจะทำให้คนที่อยากทำงานแก้ปัญหาให้ระบบการศึกษาได้มีพื้นที่แสดงออก การสร้างจุดเด่นในส่วนของการสร้างนวัตกรรมขาดหายไป แม้จะยังมีอยู่แต่ไม่ถูกดึงออกมา ที่สำคัญไม่มีการพูดถึงความสำคัญของคุณภาพเด็ก ขณะที่องค์ประกอบที่สองการประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นสิ่งที่วัดได้ยาก ผมเองเห็นว่า เกณฑ์นี้จะทำให้คนทำงานตามกรอบ แต่ไม่ส่งเสริมให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่ข้าราชการยุคใหม่ ควรสร้างคนที่คิดนอกกรอบ พัฒนาประเทศ” นายสมพงษ์กล่าว

   แม้จะแก้ปัญหาลดภาระไม่ให้ครูต้องมีภาระงานเอกสารเพิ่ม แต่โจทย์การพัฒนาการศึกษา ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ ศธ.อาจต้องกลับไปทบทวน ให้การจัดทำเกณฑ์ต่างๆ มีความเชื่อมโยง สัมพันธ์ สามารถบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น…