คนมองหนัง : “ปั๊มน้ำมัน” จักรวาลพิเศษของ “ธัญญ์วาริน”

คนมองหนัง

https://www.youtube.com/watch?v=LsgrlonZjw0

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเช่นเดียวกับหนังยาวหลายเรื่องของธัญญ์วาริน ที่ด้านหนึ่ง มิได้เป็น “หนังอาร์ต” ดูยากสุดขั้ว แต่อีกด้าน ก็มิได้เป็น “หนังตลาด” ฉาบฉวย ที่ปราศจากแง่มุม “ลึกซึ้ง” ใดๆ

กล่าวได้ว่า “ปั๊มน้ำมัน” เป็นงานที่ “ดูไม่ยาก” ทว่า ใน “ความ (เหมือนจะ) ง่าย” กลับมีกระบวนท่าสวยๆ น่าจดจำ และมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ชวนขบคิด ดำรงอยู่ตามรายทางมากมาย

หนังเล่าเรื่องราวของ “มั่น” ชายหนุ่มที่อาศัยอยู่เพียงลำพังใน “ปั๊มน้ำมัน” เก่าๆ โทรมๆ ซึ่งตั้งอยู่อย่างเดียวดายอ้างว้างริมถนนลูกรัง ณ พื้นที่ “ชนบท” แห่งหนึ่ง

เขาดำเนินชีวิตประจำวันอย่างซ้ำซากจำเจเพื่อรอคอยการกลับมาของภรรยาชื่อ “นก” ที่หายตัวไปโดยไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม “นก” ไม่ได้มีสถานะเป็น “บุคคลหายสาบสูญ” เธอเดินทางกลับมาหา “มั่น” เป็นครั้งคราว (บางคราว กลับมาพร้อม “ภาระ” และ “ความผิดบาป” บางประการ) แต่สุดท้าย ก็มักหนีหายจากไกลไปอีกโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย

ณ ปั๊มน้ำมันอันเปลี่ยวร้าง จะมีก็เพียงสาวใหญ่ผู้มีครอบครัวแล้วอย่าง “เจ๊มัท” และเด็กสาวชื่อ “ฝน” เท่านั้น ที่เฝ้าคอยแวะเวียนมาเกาะแกะ ดูแลห่วงใย ร่วมกินดื่ม และสร้างความรำคาญให้แก่ “มั่น”

เพราะพวกเธอต่างหลงรัก “มั่น” ทว่า “มั่น” ไม่ได้รักพวกเธอ และยังคงเฝ้ารอคอยการกลับมาของ “นก” อย่างแน่วแน่

14991054_1157046027717817_8180378294442493103_o

จุดแรกที่ผมชอบมากๆ ใน “ปั๊มน้ำมัน” ก็คือ “จักรวาล” ของหนัง ซึ่ง “แปลกแยก” ออกจากโลกปกติธรรมดา ทั้งในแง่สถานที่, พื้นที่, การแต่งกายหลุดโลกของนักแสดง (ชุดคาวบอย, ชุดราตรีประกวดนางงาม ชุดคอสเพลย์นานาชนิด และชุดแฟชั่นนิสต้า)

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความแปลกแยกเหล่านั้น ตัวละครส่วนใหญ่ภายในจักรวาลอันผิดเพี้ยนกลับใช้ชีวิตอยู่กับความหวัง ความฝัน และพฤติกรรมที่ซ้ำซาก จำเจ ย้ำคิดย้ำทำ (มีแค่ “นก” ที่กลับมาแต่ละครั้งพร้อม “ความเปลี่ยนแปลง” เช่นเดียวกับ “ฝน” ผู้ค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละน้อย)

คล้ายกับที่นักวิจารณ์อย่าง “วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา” ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า จริงๆ แล้ว “ปั๊มน้ำมัน” มีสถานะเป็นแค่พื้นที่แห่ง “การเปลี่ยนผ่าน” คือเป็นที่ที่ผู้คนเดินทางผ่านมาแล้วก็จากไป แต่ตัวละครหลักของหนังเรื่องนี้กลับติดค้าง ถูกทอดทิ้ง และเฝ้ารอคอยใครสักคนหรือความหวังบางอย่าง อยู่ตรงพื้นที่ “เปลี่ยนผ่าน” ดังกล่าว

ดูเหมือนช่วงหลังๆ จะมีหนังไทยหลายเรื่องที่พยายามถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านการสร้าง/นำเสนอภาพแทนของ “พื้นที่เฉพาะ/พิเศษ” ซึ่งอาจหมายถึง “ยูโทเปีย” “พื้นที่ทางเลือก” “พื้นที่ยกเว้น” “พื้นที่ของความสัมพันธ์ที่กลับหัวกลับหาง” หรือ “พื้นที่เปลี่ยนผ่าน” ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้น

ไล่มาตั้งแต่ “อนธการ” “มหาสมุทรและสุสาน” และล่าสุด คือ “ปั๊มน้ำมัน”

15025113_1157046011051152_4393480273677529716_o

การถือกำเนิดขึ้นของ “พื้นที่เฉพาะ/พิเศษ” ในโลกภาพยนตร์ มักนำไปสู่ “ความเป็นไปได้” ชนิดใหม่ๆ

สำหรับผม “ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” ที่เกิดขึ้นใน “โลกเฉพาะ” ของหนังเรื่องนี้ ก็คือ บทบาทหน้าที่ของตัวละครชาย-หญิง ซึ่งถูกพลิกให้กลับหัวกลับหางหรือผิดฝาผิดตัว อย่างมีนัยยะน่าสนใจ

กลายเป็นว่าตัวละครชายรายเดียวใน “ปั๊มน้ำมัน” ต้องมีภาระในการแบกรับความทุกข์ตรม, การถูกทอดทิ้ง (ตัดขาด) ให้อยู่ใน “ชนบท?” หรือโลกแห่งความแปลกแยกอันแน่นิ่ง, การต้องเป็นประจักษ์พยาน/สักขีพยานแห่งความพลัดพราก และการเป็นตัวแทนของ “ความไม่ (ยอม) เปลี่ยนแปลง”

ผิดกับในภาพยนตร์ นวนิยาย และเรื่องเล่าส่วนมาก ที่บทบาทอันน่าหดหู่นี้มักตกเป็นของผู้หญิง

เผลอๆ การพลิกด้านให้ผู้ชายมาแบกรับภาระตรงนี้ อาจสื่อแสดงถึงภาวะเสื่อมถอยทรุดโทรมของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ “ชายเป็นใหญ่” ด้วยซ้ำไป

ในทางกลับกัน บรรดาตัวละครหญิงก็กลายมาเป็นตัวแทนของ “ความเปลี่ยนแปลง”, เป็น “ผู้กระทำการที่กระตือรือร้น”, เป็นฝ่ายที่ออกเดินทางไปติดต่อกับ “โลกภายนอก” กระทั่งเป็นฝ่ายรู้เดียงสาและ “เปิดรับ/เปิดกว้าง” เรื่องเพศมากกว่าผู้ชาย

ทั้งๆ ที่หน้าที่ส่วนนี้มักถูกผูก (ขาด) ให้เป็นบทบาทหลักของผู้ชาย

นอกจากนี้ การปรากฏกายขึ้นของ “ซินเดอเรลล่า” หรือ “ซิน” ลูกสาวตัวน้อยของ “นก” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความเปลี่ยนแปลง” “ความแปลกแยก” “ความแตกต่างหลากหลาย” หรือ “ความผิดบาป” ที่น่าครุ่นคิดตีความต่อมากๆ

แต่ท้ายสุด ดูคล้ายหนังจะพยายาม “เลือน” สถานะ “ผิดแผกโดดเด่น” ของตัวละครหญิงทั้งหลายให้ “จางบาง” ลงพอสมควร

เพราะอีกด้านหนึ่ง พวกเธอก็ค่อยๆ ถูกฉายภาพให้กลายมาเป็นผู้แบกรับความทุกข์/ความหวังบางอย่างอยู่ในใจ พวกเธอมี “ปมปัญหา” บางชนิด ที่ส่งผลให้ “บางด้าน” ของชีวิตไม่อาจปรับเปลี่ยนแปรผัน

หรือเอาเข้าจริงตัวละครอย่าง “เจ๊มัท” ก็ฝังตรึงรัดรึงตนเองเข้ากับความซ้ำซากจำเจนานัปการ ไม่ต่างจาก “มั่น”

14991376_1157046277717792_389239272445685687_o

ขณะที่วิธีการจัดเรียงตัวละครผู้หญิงสามคนให้มีความทับซ้อนกัน ซึ่งส่งผลให้ตัวละครสองคนมีสถานะเป็นดัง “ภาพแทน” ของตัวละครอีกรายหนึ่ง ก็เป็นกระบวนท่าน่าสนใจไม่น้อย

แม้สุดท้าย “ภาพแทน” จะเป็นได้แค่ “ภาพแทน” ที่แทนอย่างไรก็แทนได้ไม่ครบ และแทนได้ไม่เหมือน “ของ/คนจริง”

เท่ากับว่า ไปๆ มาๆ ตัวละครหญิงบางรายก็ถูกฉวยใช้เป็นเพียง “เครื่องมือทางความทรงจำ” ที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ “ผู้ใช้เครื่องมือ/ผู้ชาย” สามารถระลึกถึงตัวละครหญิงอีกคน

ก่อนที่หนังจะหาหนทางคลี่คลายให้พวกเธอกลับกลายเป็น “มนุษย์ผู้มีชีวิตจิตใจ” (ที่ทั้งเหี่ยวเฉารอวันแหลกสลาย และเติบโตเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกช่วงวัยหนึ่ง) ได้อย่างงดงามในตอนท้าย

ในมุมมองของผม “จุดอ่อน” ของ “ปั๊มน้ำมัน” กลับไปอยู่ที่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของนางเอกอย่าง “นก”

ลักษณะกำกวม ผลุบๆ โผล่ๆ เข้ามาใน “จักรวาลปั๊มน้ำมัน” ชั่วครั้งคราว แล้วจากไปแบบไม่ค่อยเห็นเหตุผลแน่ชัดของ “นก” นั้นมีเสน่ห์ และส่งผลให้ธีมว่าด้วย “ความหวังและการรอคอยอันเลื่อนลอย” ของ “มั่น” ตลอดจนตัวละครหลักรายอื่นๆ ถูกขับเน้นอย่างทรงพลัง

แต่พอเธอต้องกลับคืนสู่จักรวาลดังกล่าวอีกครั้งในช่วงท้าย ทั้งยังต้องรับภาระหนักในการเฉลยเงื่อนปม/ข้อมูลใหม่บางประการ สถานการณ์ส่วนนี้กลับแลดูอ่อนพลัง และอันที่จริง อาจไม่จำเป็นต่อตัวภาพยนตร์สักเท่าไหร่

15025522_1157046121051141_530597899394661057_o

ที่สำคัญ ผมรู้สึกว่า “ปูมหลัง” ซึ่งถูกคลี่ออกก่อนหนังจบ ไม่สามารถอธิบายมูลเหตุในพฤติกรรมของตัวละครบางรายได้อย่างหมดจด และแน่นอนว่าไม่สามารถลบล้าง “ความผิดพลาด/ผิดบาป” บางด้านของตัวละครรายนั้นลงได้ด้วย

ผมเข้าใจว่าธัญญ์วารินตั้งใจจะปิดฉากหนังเรื่องนี้ให้ “สมบูรณ์/สมดุล” ที่สุด ด้วยการกำหนดให้คู่พระ-นาง ต่างต้องแบกรับ “ภาระหนักหนา” และมี “บาดแผล” ในชีวิตอย่าง “เท่าเทียม/เสมอภาคกัน”

อย่างไรก็ตาม เจตนาดีที่ว่ากลับนำไปสู่ผลลัพธ์อันน่าเสียดาย เพราะมันส่งผลให้ความสัมพันธ์ชาย-หญิง ที่ “บิดเบี้ยวแปลกประหลาด” ใน “โลกเฉพาะ/พิเศษ” ของหนังเรื่องนี้ ถูกปรับเปลี่ยนกลับคืนสู่สภาวะ “สมดุล” และ “ปกติธรรมดา”

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “ความบิดเบี้ยว” ซึ่งปรากฏในเนื้อหาประมาณ 95% ของหนังนี่แหละ ที่ช่วย “ถ่วงดุล” เรื่องเล่าว่าด้วยความสัมพันธ์ชาย-หญิง “กระแสหลัก” ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกลื่อนกลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อีกองค์ประกอบของ “ปั๊มน้ำมัน” ซึ่งน่าสนใจ ก็คือ “กรอบเวลา” อันยาวนานนับทศวรรษของเรื่องราวภายในหนัง

กรอบเวลาเกือบ 20 ปีของหนัง อาจแฝงนัยยะทาง “สังคมการเมือง” เอาไว้ หรืออาจไม่แฝงอะไรไว้เลยก็ได้ (แล้วแต่ใครจะตีความ)

เหตุการณ์ในหนังลากยาวจากปี 2539 (ปีที่ “มั่น” เริ่มรู้จัก “นก” และมีเพศสัมพันธ์กับ “เจ๊มัท”) มาถึงปี 2558 (ที่ “จักรวาลปั๊มน้ำมัน” ทั้งถูก “เติมเต็ม” และ “พร่องหาย” เมื่อใครบางคนหวนคืนกลับมา และอีกหลายคนต้องลาจากไป)

ซึ่งเหมือนจะเป็นสองปีที่ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ ถ้าเทียบกับขวบปีอื่นๆ ที่บรรดาตัวละครต้องเผชิญ

“มั่น” กับ “นก” น่าจะแต่งงานกันเมื่อปี 2544 เพราะมีบทสนทนาก่อนแต่งว่าทั้งคู่คบกันมา 5 ปี 9 เดือนแล้ว

14990952_1157046117717808_1255894831654609545_o

หากพิจารณาไปที่โลกนอก “จักรวาลปั๊มน้ำมัน” ปีนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “รัฐบาลไทยรักไทย” พอดี

หนังยังชี้ว่า “นก” ที่หนีหายจาก “มั่น” ไปนานสามปีหลังแต่งงาน (นับตามรอยสักรูปนกสามตัวบนแขนของฝ่ายชาย) เกือบประสบภัยสึนามิที่ภูเก็ตเมื่อปี 2547

ตอนปี 2553 “เจ๊มัท” และ “ฝน” มานั่งพูดคุย/ปรับทุกข์/แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน พร้อมกับมีฉันทามติว่าพวกเธอจะ “สู้ต่อ” เพื่อหาทางพิชิตหัวใจผู้ชายอย่าง “มั่น” ให้ได้

น่าสนใจว่าคราวนั้น ทั้งคู่ต่างแต่งกายด้วย “โทนสี” ที่สอดคล้องกับขบวนการมวลชนจากชนบท (โดยเฉพาะภาคอีสาน-เหนือ) ซึ่งลุกฮือเข้ากรุงเทพฯ ในปีดังกล่าวพอดี

ตลกร้ายที่พอ “ฝน” เติบโตขึ้นเป็นพนักงานธนาคารและต้องแต่งกายด้วยชุดเรียบร้อยเป็นทางการแทนชุดคอสเพลย์ โทนสีของเครื่องแบบสาวออฟฟิศกลับ “สวนทาง” กับสีของชุดที่เธอสวมใส่ตอนปี 2553 อย่างสิ้นเชิง

หลายปีที่ผ่านมา หนัง “การเมืองไทย” มักอ้างอิงตัวเองกับกรอบเวลาที่ยาวนานนับ/หลายทศวรรษ

ตั้งแต่ “October Sonata รักที่รอคอย” มาถึง “Snap แค่…ได้คิดถึง” กระทั่ง “ดาวคะนอง” (ที่อดีตกับปัจจุบันทับซ้อนกันจนเกิดสภาวะพร่าเลือน)

น่าสนใจว่าแม้แต่ภาพยนตร์ไทยที่ไม่มีภาพลักษณ์เป็น “หนังการเมือง” มากนัก อย่าง “ปั๊มน้ำมัน” ก็หันมาใช้กรอบเวลาแบบนี้เช่นกัน

นี่อาจสื่อให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมสมัย ที่มองว่าสังคมไทยมีลักษณะ “แน่นิ่ง” และขยับขับเคลื่อนไป “ช้า” เหลือเกิน

หรืออาจเป็นความรู้สึกซึ่งเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือผลลัพธ์จากกระบวนการที่ดำเนินมาอย่าง “ต่อเนื่องยาวนาน” มิใช่ผลลัพธ์ชนิดประเดี๋ยวประด๋าวของสถานการณ์ในระยะสั้นๆ

แม้ “ปั๊มน้ำมัน” จะมีจุดอ่อนแทรกอยู่บ้างท่ามกลางองค์ประกอบโดดเด่นชวนขบคิดจำนวนมาก แต่หนังเรื่องนี้ก็จัดเป็นผลงาน “ชั้นครีม” ของธัญญ์วาริน ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก” หนังยาวที่ดีที่สุดของเขา ตามความเห็นของผม