มนัส สัตยารักษ์ | งานสอบสวนที่ต้องปฏิรูป

มีเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับงานสอบสวน ที่ทำให้ผมสบายใจเกิดขึ้นพร้อมกัน 2 กรณี คือ 1 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายเปรมชัย กรรณสูต 16 เดือนโดยไม่รอลงอาญา และปรับ 2 ล้านบาท ในคดีล่าเสือดำสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี

อีก 1 คือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปลี่ยนแปลงแก้ไขและสลับเก้าอี้แต่งตั้งนายตำรวจ 440 ตำแหน่ง ในจำนวนนั้นเป็น “สารวัตรสอบสวน” หลายตำแหน่ง ท่ามกลางกระแสที่ไม่ต้องการให้ตำรวจทำงานสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งคงจะหมายถึงว่าทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังต้องรับภาระงานสอบสวน ขณะเดียวกันก็กำลังมีปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวน และจำเป็นต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อนเป็นการด่วน

กล่าวสำหรับคดีล่าเสือดำ แม้ทั้งจำเลยและโจทก์มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์และฎีกาได้หากไม่พอใจผลคำพิพากษา

แต่ผลของการฟ้องและพิพากษาตัดสินลงโทษมหาเศรษฐี ทำให้ตำรวจพ้นจากข้อครหา “ช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ร่ำรวย” จากผู้ประสงค์ร้ายไปได้เปลาะหนึ่ง แม้จะยังมีโพสต์พาดหัวตัวโป้ง ในสื่อโซเชียลให้ผู้อ่านเข้าใจผิดอีกว่า “ยกฟ้องล่าเสือดำ” ก่อนจะมีอักษรตัวจิ๋วบรรยายรายละเอียดในความผิดฐานอื่นๆ ที่ศาลพิพากษาลงโทษ!

กลวิธีพาดหัวโดยเนื้อหาต่างกับเนื้อข่าวนี้เป็นวิธีการอย่างเดิมก่อนเรื่องสู่ศาล ทั้งนี้โดยไม่แคร์ความผิดฐานหมิ่นประมาท และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

คงจำกันได้ว่า ก่อนหน้าที่ทางการจะส่งสำนวนการสอบสวนและตัวผู้ต้องหาสู่ศาลนั้น สารพัดสื่อพยายามสร้างกระแสให้เป็นว่าตำรวจและอัยการดำเนินการสอบสวนไปในทิศทางที่จะช่วยเหลือนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่ ให้พ้นผิดด้วยวิธีการต่างๆ นานา

แม้จนกระทั่งเมื่อพนักงานอัยการเขต 7 ออกมาแถลงข่าวรายละเอียดข้อหาต่างๆ ที่อัยการสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้องแล้ว สื่อส่วนหนึ่งยังใช้วิชามารพาดหัวตัวเป้งเน้นเฉพาะที่ “สั่งไม่ฟ้อง” ส่วนข้อหาหลักอันเป็นแกนของเรื่องที่สั่งฟ้องนั้น สื่อกล่าวถึงในตอนท้ายด้วยตัวอักษรธรรมดา

คนที่เห็นและอ่านผ่านๆ แต่พาดหัวข่าวก็จะตำหนิและประณามตำรวจทันทีโดยไม่ได้ไตร่ตรองหรือตรวจสอบก่อน

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน (บ่ายวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ก่อนหน้าอ่านคำพิพากษาคดีล่าเสือดำ 4 วัน) อีกมุมหนึ่งของโลกได้เกิดเหตุมือปืนโหดและบ้าคลั่งชาวออสเตรเลีย ใช้อาวุธปืนกราดยิงชาวมุสลิมตาย 50 คน บาดเจ็บ 48 คน ที่มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์

วันรุ่งขึ้นเสาร์ที่ 16 ตำรวจนิวซีแลนด์นำตัวมือปืนส่งฟ้องศาลทันที!

ทำให้นึกเปรียบเทียบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของตำรวจ 2 ประเทศ-ไทยกับนิวซีแลนด์ ที่ประเทศไทยใช้เวลากว่า 1 ปี ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ใช้เวลาเพียง 1 วัน

คดีล่าเสือดำเหตุเกิดและจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางได้ในวันเดียวกัน (4 กุมภาพันธ์ 2561) ใช้เวลาในการสอบสวนรวมทั้งขยายผล ตรวจพิสูจน์ของกลาง ตรวจดีเอ็นเอ ฯลฯ รวมทั้งให้เวลาแก่สารพัดสื่อสร้างมโนและประดิษฐ์ดราม่าเล่นงานตำรวจเป็นเวลา 1 ปีก่อนส่งศาล

ความแตกต่างของวิธีพิจารณาความอาญานี้ ผมหวังว่าจะได้คุยกับผู้รู้อย่าง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช หรือ พล.ต.อ.อมรินทร์ เนียมสกุล ซึ่งเคยเป็นอาจารย์บรรยายวิชาการสอบสวนและพานักเรียนนายตำรวจไปดูงานต่างประเทศมาแล้วหลายรุ่น

อีกท่านหนึ่งที่น่าจะเป็น “ผู้รู้” คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคน “ครบเครื่อง” ท่านอาจจะดำริที่จะพัฒนางานสอบสวนของเราให้ก้าวพ้นกับดักและอุปสรรคที่เป็นตัวถ่วงสถาบันตำรวจอยู่แล้วก็ได้

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 140 และ 141/2562 เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นคำสั่งสลับตำแหน่งและแต่งตั้ง “สารวัตรสอบสวน” ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้อฉาวนั้น

ผู้ได้รับการสลับตำแหน่งมาทำหน้าที่สารวัตรสอบสวนส่วนหนึ่งเป็น นรต.รุ่น 65 ซึ่งเป็นรุ่นที่เรียนมาทาง “สะพายโน้ตบุ๊กทำสำนวนการสอบสวน” สื่อบางเจ้าวิจารณ์ว่าอาจจะต้องกลับไปเคาะสนิมทบทวนข้อกฎหมาย เนื่องจากบางคนห่างการสอบสวนไปพักใหญ่

อันที่จริงการใช้โน้ตบุ๊กและกฎหมายไม่จำเป็นต้องเคาะสนิม เพราะแค่ใช้ไปสักวัน-สองวันก็ได้คืนเหมือนเดิมไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือ “สิทธิประโยชน์” ที่เคยพูดว่าพนักงานสอบสวนควรได้รับการดูแลในฐานะเป็น “ต้นทางกระบวนการยุติธรรม”

ไม่เพียงแต่ นรต.รุ่น 65 เท่านั้นที่สะพายโน้ตบุ๊ก รุ่นก่อนหน้านี้และรุ่นต่อมาก็เน้นหนักไปในทางวิชาการตำรวจ ส่วนใหญ่พวกเขามักจะได้รับปริญญานิติศาสตร์ พร้อมๆ กับปริญญารัฐประศาสนศาตร์ จาก ร.ร.นรต.

หลายคนได้เนติบัณฑิต เปลี่ยนเส้นทางอาชีพ ไปเป็นอัยการและตุลาการ (เมื่อหลายปีก่อนนับได้ 44 ท่าน) ซึ่งอยู่ในสายกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน เพียงแต่เงินเดือนมากกว่า

มีบางคนเปลี่ยนเส้นทางอาชีพที่หลุดพ้นออกจาก “กฎหมาย” ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นนักบินเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งเงินเดือนมากกว่าเช่นกัน

ดังนั้น ไม่เพียงแต่ “สิทธิประโยชน์” เท่านั้นที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะต้องดูแล หากต้องปฏิรูปหรือพัฒนาระบบงาน อย่าให้ภาระงานของพนักงานสอบสวนตกอยู่ในลักษณะ “ดินพอกหางหมู” และนั่งรอรับโทษทัณฑ์จากผู้บังคับบัญชา จนหลายคนต้อง “หนี” ออกจากงานที่ตัวเองรักและอุตส่าห์ร่ำเรียนมา

ไม่ขออะไรมาก ขอแค่มีเมตตาและให้ความเป็นธรรมเท่านั้น