ประชาชนเขาต้องผลงานแก้ความเดือดร้อน ไม่ใช่การ “ควบคุม”

ทิศทางเกมอำนาจ

แม้ไม่ประสบความสำเร็จแบบ 100 % เพราะทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่การเขียนกฎหมายเลือกตั้งโดยมุ่งไปที่การลดบทบาทของพรรคการเมือง ทำให้ไม่มีพรรคใดได้รับการเลือกตั้งเป็นกอบเป็นกำ ด้วยการรวมบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นใบเดียวกัน นับว่าเข้าไปพอสมควร

เพราะเป้าหมายอยู่ที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถลงมติเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้ง่ายๆ และในที่สุดแล้วต้องไปจบที่ให้วุฒิสมาชิก 250 คนเข้ามามีส่วนร่วมในการโหวต

ถึงวันนั้นจะเหลืออะไร

250 ส.ว.ล้วนมาจากการแต่งตั้ง

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกไว้แล้วว่า “ต้องคุมได้”

ไม่ต้องถึงกับการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เหมือนข่าวที่ปล่อยกันออกมาก่อนหน้านั้น ว่าจะเป็นทางออกหากไปทางอื่นไม่ได้

ทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ ควบคุมการเมืองให้ชุดเก่าจาก คสช.คุมอำนาจรัฐต่อไป

เปลี่ยนผ่านจากอำนาจที่มาโดยรัฐประหาร เป็นอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง มีภาพของประชาธิปไตยมากขึ้น

อาจจะมีความหวังกันว่าเมื่อการเมืองกลับเข้าสู่สภา การตรวจสอบอำนาจรัฐจะทำได้มากขึ้น แต่ในมุมกลับกันอำนาจรัฐในนามของประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะหยิบกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ที่จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการคุมอำนาจ

มีกลไกรัฐ และเครือข่ายที่จะประสานเสียงขานรับ

ถึงวันนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะอึดถึก และยอมรับชะตากรรมอันขมขื่นได้มากกว่ากัน

วิธีการเป็นอย่างไร ช่วงที่ผ่านมารับรู้ด้วยประสบการณ์อยู่แล้ว ทั้งโดยตรงกับตัวเอง และเรื่องเล่าจากเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิทมิตรสหาย

ชัยชนะที่ไม่เด็ดขาด ท่วมท้น และความหวาดระแวงต่อรัฐสภา จะทำให้การใช้อำนาจเป็นเรื่องน่าจับตา

มีแนวโน้มสูงไปในทางการบริหารจัดการต้องเน้นที่การสร้างเสถียรภาพ ซึ่งวิธีการจะเป็นไปในทางลดฤทธิ์เดชของฝ่ายตรงกันข้าม

ภารกิจของอำนาจจะเป็นในทางสงครามการเมืองภายในต่อเนื่องไปมากกว่าอย่างอื่น

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งหมายความว่าสิ่งที่เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชน จะถูกวางไว้ในฐานะไม่ใช่ภารกิจจำเป็นและเร่งด่วน

สิ่งที่ประชาชนต้องการนั้น หากย้อนที่ไปผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ในวาระที่ “รัฐบาล คสช.ทำงานมาครบ 4 ปี”

มีบันทึกไว้ในคำถามถึง “สิ่งที่ผิดหวังใน 4 ปีรัฐบาล คสช.” ร้อยละ 41.78 ตอบว่าเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าแพง ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 34.22 บอกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ร้อยละ 19.66 บอกว่าแก้ไขปัญหาล่าช้า ทำงานช้า ร้อยละ 15.31 เห็นว่าใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม เช่น การใช้. ม.44 ร้อยละ 13.23 ชี้ไปที่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ

หากถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการของประชาชน โดยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แม้ความต้องการเหล่านั้นจะดูพื้นๆ และไม่มีอะไรแปลกใหม่ เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เรียกร้องกันมาทุกยุคทุกสมัย

แต่ที่พิสูจน์มายาวนานเช่นกันก็คือ ล้วนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก

ทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างรู้ว่า ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขคือ รัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการและมีเสถียรภาพ

สภาวะทางการเมืองที่เป็นไปเช่นที่เห็นอยู่แล้ว หวังในความรู้ความสามารถได้หรือไม่ แค่ไหน คำตอบล่องลอยมาให้สัมผัสได้จากผลงานที่ผ่านมา

ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือ เสถียรภาพ

ความรู้สึกมั่นคงในอำนาจของคณะผู้เคยชินกับการทำงานโดยควบคุมการตรวจสอบได้ กับบทบาทใหม่ที่ต้องอยู่ในการสอดส่องของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งควบคุมไม่ได้

การรักษาอำนาจหากเป็นไปตามความเคยชินคือ มุ่งไปที่การควบคุม

แต่ความต้องการของประชาชนกลับเรียกร้องไปในทางสร้างผลงานเพื่อแก้ความเดือดร้อน

นั่นหมายถึงแรงเสียดทานที่ต้องฝืนในกันและกัน

ยากที่จะอยู่ได้อย่างสุขสงบ