เพ็ญสุภา สุขคตะ : พุทธลีลาคลาไคล ท่องครรไลขจายธรรม (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เดินเทสสันถี ประกาศธรรม

ความนิยมในการทำพระพุทธรูปลีลาของยุคสุโขทัย ไม่เพียงแต่จะปรากฏเป็นองค์เดี่ยวๆ ในรูปแบบนูนต่ำ นูนสูง หรือลอยตัว เท่านั้น ทว่ายังพบในลักษณะการทำพระลีลาเดินเรียงรายต่อเนื่องกันอีกด้วย เช่น ปูนปั้นประดับฐานกำแพงแก้ววัดมหาธาตุ ในเขตอุทยานเมืองเก่าสุโขทัย

พระลีลาเหล่านั้น บางแห่งทำเป็นพระอรหันตสาวก (ไม่มีพระรัศมีเปลวบนเกตุมาลา) แต่บางแห่งก็ทำเป็นพระพุทธปฏิมา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สาวก ในทางประติมาณวิทยาอธิบายได้ว่า กองทัพสังฆะที่เดินรายเรียงกันนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “การก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อประกาศพระธรรม”

ตรงกับศัพท์ที่ชาวล้านนาใช้คำว่า “เดินเทสสันถี” กล่าวคือ หากพระลีลาองค์ไหนไม่มีรอยพระบาทประกอบด้านหน้า ชาวล้านนาก็จะไม่เรียกพระลีลาองค์นั้นว่า “พระเจ้าไว้ฮอยตีน” (ปางประทับรอยพระบาท) แต่จะเรียกว่า “พระเจ้าเดินเทสสันถี” แทน

“เทสสันถี” มาจากคำว่า “เทศสันตรี” หรือ “เทศสันติ” แยกศัพท์ได้ว่า เทศ-เทศะ = สถานที่, สันติ-สันตรี = โดยสงบ หมายถึงการเดินทางจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ (เลียบโลก) เพื่อปฏิบัติธรรมและโปรดสัตว์ สำหรับภาษาล้านนาแล้วพยัญชนะอักษรกลาง เมื่อใช้ควบกับอักษรต่ำ จะถูกแปลงเป็นตัวอักษรสูงทันที เช่น ตร = ถ ดังนั้น สันตรี จึงกลายเป็น สันถี หรือคำว่า บัตรา กลายเป็น บัดถา โดยเฉพาะคำที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ ปรารถนา กลายเป็น ผาทนา (อ่าน ผา-ทะ-นา)

พระลีลาในวัฒนธรรมล้านนาจึงมีอีกมุมมองหนึ่งว่าเป็นการจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโปรดสัตว์โลก และประกาศธรรม

ชาวล้านนาจึงเรียกพระลีลาว่า “พระเจ้าเดินเทสสันถี”

 

พระสุมนเถระนำพระลีลา
จากสุโขทัยขึ้นสู่ล้านนา

มีผู้ตั้งคำถามว่า ในวัฒนธรรมล้านนาพบพระพุทธรูปลีลาแบบสุโขทัยด้วยล่ะหรือ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่จะพบเห็นกันบ่อยนัก

คำตอบคือ พอจะพบอยู่บ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร ปรากฏหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้น และในระยะช่วงสั้นๆ เท่านั้น

โดยบุคคลผู้มีบทบาทเชื่อมประสานนำแนวคิดเรื่องพระพุทธรูปลีลาจากสุโขทัยมาสู่แผ่นดินล้านนาก็คือ “พระสุมนเถระ” พระสังฆราชาจากสำนักของพระญาลิไท ที่ได้รับการอาราธนาจากพระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่ให้มาวางรากฐานพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ (สายเมาะตะมะ รามัญวงศ์) แก่ศาสนจักรล้านนาอันมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดสวนดอก

พระสุมนเถระได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดมาได้จากกอเข็มที่เมืองบางขลัง ศรีสัชนาไลยติดมือมาด้วย และในที่สุดได้ถวายให้พระญากือนาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่วัดสวนดอก พระสถูปองค์นี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย กล่าวคือ มีองค์ระฆังใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมใหญ่ยังไม่ย่อมุม ส่วนฐานมีขนาดเตี้ยๆ ยังไม่มีชั้นฐานย่อเก็จยกสูงแบบล้านนา

ข้อสำคัญคือในส่วนของเสาหาน (บ้างเขียนว่า เสาหาร เพราะมาจากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า หรรมิกา Harmika) ตรงบริเวณคอระฆังเหนือบัลลังก์นั้น ทำเป็นพระพุทธรูปลีลา 16 องค์โดยรอบ บ้างยกพระหัตถ์ขวาบ้างยกพระหัตถ์ซ้ายล้อกับพระบาทข้างนั้นๆ ตามอย่างท่ากุญชรลีลา

การทำพระพุทธรูปลีลาเดินเรียงรายเช่นนี้ มีความหมายว่า พระพุทธศาสนาจักวิวัฒน์ก้าวไกลไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะลีลาที่ก้าวย่างนั้นเปรียบประหนึ่งกงล้อแห่งธรรมจักรที่ขับเคลื่อนทะยานไปคู่โลกา

 

พระลีลาที่วัดป่าสัก
สมัยกือนาไม่ใช่แสนภู

พระพุทธรูปลีลาชิ้นที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งก็คือ พระลีลาปูนปั้นในซุ้มจระนำที่ฐานพระเจดีย์วัดป่าสัก เมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นประติมากรรมนูนสูงเช่นเดียวกับกลุ่มพระลีลา 16 องค์ที่เสาหานเจดีย์วัดสวนดอก โดยที่วัดป่าสักนี้สร้างในสมัยพระญาแสนภู ผู้เป็นหลานของพระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา (พระญาไชยสงครามเป็นโอรสของพระญามังราย และพระญาแสนภูเป็นโอรสของพระญาไชยสงคราม)

แม้ว่าจะมีการระบุว่าพระญาแสนภูเป็นผู้สถาปนาวัดป่าสัก (ราว พ.ศ.1860) แต่นักโบราณคดีได้ศึกษาพิสูจน์แล้วเห็นว่า การทำพระลีลาปูนปั้นที่ฐานพระเจดีย์ในซุ้มจระนำในอิริยาบถลีลา (บางด้านสลับกับปางเปิดโลก รวมแล้วด้านละ 3 องค์) นั้นเป็นรูปแบบศิลปะที่สร้างขึ้นในสมัยพระญากือนามากกว่า (ประมาณ พ.ศ.1924)

เนื่องจากในยุคของพระญาแสนภู อิทธิพลของศิลปกรรมสุโขทัยยังไม่ได้แพร่ขยายขึ้นมาบนดินแดนล้านนามากนัก อาจมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ใช่พระลีลา ซึ่งอายุสมัยของพระญากือนาห่างจากพระญาแสนภู 3 รุ่น (พระญาคำฟูเป็นโอรสของพระญาแสนภู พระญาผายูเป็นโอรสของพระญาคำฟู และพระญากือนาเป็นโอรสของพระญาผายู)

การพบพระลีลาซึ่งมีต้นแบบจากศิลปะสุโขทัยที่วัดป่าสัก จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายสวนดอกของพระสุมนเถระและพระญากือนาจากนครเชียงใหม่สู่เมืองเชียงแสน

 

พระลีลาสลักแผ่นทองดุนนูน
บนองค์ระฆังพระธาตุหริภุญไชย

อีกหนึ่งตัวอย่างของพระพุทธรูปลีลาสมัยล้านนา พบในรูปแบบแผ่นทองจังโกบุดุนนูนต่ำจำนวน 8 องค์ ประดับอยู่บนองค์ระฆังของพระธาตุหริภุญไชย จัดวางสลับกับดอกไม้สี่กลีบขนาดใหญ่จำนวน 8 ดอก (อันที่จริงในบรรดาพระพุทธรูปดุนนูน 8 องค์นี้ มีพระลีลาเพียง 3 องค์ และที่เหลืออีก 5 องค์เป็นปางรำพึงหรือปางถวายเนตร ยกมือทับประสานกันเบื้องอุทร)

การทำดอกไม้กลีบบาน 8 ดอก และพระลีลา (รวมถวายเนตร) 8 องค์เช่นนี้ เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาทั่วทั้ง 8 ทิศ หรือหากตีความเป็นธรรมะ ก็จะหมายถึงมรรคมีองค์ 8 ซึ่งการทำดอกไม้ 8 กลีบบนองค์ระฆังเช่นนี้ เป็นการรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยปาละผ่านพุกามมายังยุคหริภุญไชยก้อนหน้านั้นแล้ว

ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งต่อจากการทำพระพุทธรูปลีลาที่เสาหานจำนวน 16 องค์ของวัดสวนดอก กล่าวคือ เป็นการย้ายสถานที่ของพระลีลาจากตำแหน่งเสาหานลงมาสู่พื้นที่ขนาดใหญ่ตรงองค์ระฆังแทน เหตุที่องค์บัลลังก์ของพระธาตุหริภุญไชยมีขนาดเล็กและยังย่อมุมอีกด้วย ทำให้ตำแหน่งของเสาหานยิ่งลดขนาดให้เล็กลงตามไปด้วย

เมื่อเสาหานเล็กจิ๋วริ๋ว ก็ป่วยการที่จะไปสร้างพระลีลาเดินเรียงรายรอบคอระฆัง จะมีใครเล่าเพ่งมองเห็น ช่างจึงได้ย้ายพระลีลาจากตำแหน่งเดิมของเสาหานลงมาอยู่บนพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้างบนตัวองค์ระฆังแทน เป็นการแก้ปัญหาทางด้านการจัดวางองค์ประกอบศิลปะให้เกิดสุนทรียะที่งดงาม และเมื่อต้องการเน้นสัดส่วนให้โดดเด่นจึงลดจำนวน 16 ให้เหลือแค่ 8 องค์พอ

แถมวิธีนี้ยังรักษาคติดั้งเดิมด้วยอีกว่า ท่าทางย่างเยื้องของพระพุทธรูปนี้เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาจักแผ่ไพศาลก้าวไปข้างหน้า

แผ่นทองดุนนูนพระพุทธรูปลีลาที่องค์พระธาตุหริภุญไชยนี้ เป็นการบูรณะครอบทับองค์เดิมข้างในที่สร้างครั้งแรกตั้งแต่สมัยพระญาอาทิตยราช ยุคหริภุญไชยราวพุทธศตวรรษที่ 16 จากนั้นมีการสร้างเสริมต่อๆ กันมาอีกหลายยุค อาทิ สมัยพระญาสววาธิสิทธิ ผู้เป็นเหลนทวดของพระญาอาทิตยราชในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยพระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ราวปี พ.ศ.1824-1826

กระทั่งการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ราวปี พ.ศ.2000 คือองค์ที่เห็นในปัจจุบัน

 

หลากหลายความหมายแห่งลีลา

กล่าวโดยสรุป พระพุทธรูปลีลาสร้างขึ้นครั้งแรกในศิลปะสุโขทัย เกิดจากแรงบันดาลใจ 2 ทาง

1. ในงานพุทธศิลป์ลังกาได้วางรากฐานแนวความคิดเรื่องพระพุทธรูป 4 อิริยาบถมาก่อนแล้ว แต่ช่างลังกาทำได้เพียง 3 อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน ส่วนอิริยาบถเดินยังทำไม่สำเร็จ น่าจะเป็นอะไรที่ฝังใจ กระตุ้นต่อมความท้าทายต่อนายช่างสุโขทัยเป็นที่ยิ่ง

2. เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการสร้างพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นปูนปั้นนูนสูง พระพุทธองค์มีจุดเด่นคืออยู่ในอากัปกิริยาที่เลื่อนไหลคล้ายล่องลอยมาจากนภากาศ เป็นครั้งแรกที่ช่างสุโขทัยต้องคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาเรื่องการคำนวณจุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักเพื่อรองรับพระพุทธรูปลอยตัวซึ่งไม่ได้ยืนตรงในท่าสมดุล แต่เป็นแบบ unsymmetry ไม่ให้ล้มหกคะเมนตีลังกา มิใช่เรื่องง่ายๆ เลย

ส่วนการตีความพระพุทธรูปลีลา ก็มีหลากหลายความหมาย ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของ “ทางสายกลาง” เป็นการรักษาสมดุลของร่างกายมนุษย์ที่ต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง 4 นอกจากนี้ยังมีความหมายในมิติการเดินจงกรม การย่ำรอยพระบาท (พระเจ้าไว้ฮอยตีน) พระเจ้าเลียบโลก เดินเทสสันถี การประกาศธรรมให้ขจายทั่วทิศานุทิศ

หลังยุคสุโขทัยแล้วพระพุทธรูปลีลายังคงมีการทำสืบต่อบ้างประปรายในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีชิ้นใดโดดเด่นเกินไปกว่าพระพุทธรูปลีลา “พระศรีศากยทศพลญาณ” ประดิษฐานที่พุทธมณฑล นครปฐม ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและปั้น พ.ศ.2500

อาจารย์ศิลป์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ดึงสุนทรียศาสตร์แบบอุดมคติของสุโขทัยมาใช้เพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งที่เหลือเป็นสุนทรียศาสตร์แห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เน้นความงามแบบเหมือนจริง”