ชีวิตที่น่าสงสาร ของ “ขุนช้าง”

ญาดา อารัมภีร

แม่ลูก(ไม่)ผูกพัน

ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ เศรษฐีรวยทรัพย์กลับมีปมด้อยเรื่องรูปร่างหน้าตากัดกร่อนใจมาตั้งแต่เกิด แม้แม่บังเกิดเกล้ายังรังเกียจ ไม่อุ้มชูดูแลอย่างแม่ทั้งหลาย “ขุนช้าง” ลูกชายขุนศรีวิไชยกับนางเทพทองในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน จึงมีวัยเยาว์ที่น่าเศร้าเพราะแม่ชิงชังตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก

ความฝันที่สุดแสนพะอืดพะอม เห็นทั้งภาพและได้กลิ่นช้างตายขึ้นอืดเหม็นชวนกระอัก ทำให้นางเทพทองตกใจตื่น โก่งคออาเจียนโอ้กอ้ากก่อนเล่าความฝันให้ผัวฟัง

“ช้างพลายตายกลิ้งตลิ่งชัน พองขึ้นหัวนั้นเน่าโขลงไป

ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่ บินเตร่เร่มาแต่ป่าใหญ่

อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป เข้าในหอกลางที่นางนอน

ในฝันนั้นว่านางเรียกนก เชิญเจ้าขรัวหัวถกมานี่ก่อน

นางคว้าได้เจ้าตัวหัวกล้อน กอดนกกับช้างนอนสบายใจ”

ขุนศรีวิไชยพอมีความรู้เรื่องทำนายฝันก็บอกเมียว่า เจ้าจะมีลูกชายร่ำรวยนัก เสียแต่อัปลักษณ์หนักหนา

“ลูกของเราจะเป็นชายทำนายไว้ เหมือนนกตะกรุมตัวใหญ่คาบช้างมา

จะบริบูรณ์พูนสวัสดิ์แล้วเจ้าพี่ แต่ลูกของเรานี้จะขายหน้า

หัวล้านแต่กำเนิดเกิดมา จะมั่งมีเงินตรากว่าห้าเกวียน”

พอได้ยินคำว่า “หัวล้าน” เท่านั้น นางเทพทองก็ด่ารับขวัญลูกเสียเลยว่า “โคตรแม่มึงช่างมาให้อาเจียน อ้ายหัวเลี่ยนโล้นเกลี้ยงจะเลี้ยงไย” นางทำใจไม่ได้ที่จะมีลูกไร้ผม ถึงกับหลุดปากโพล่งออกมาว่า จะเลี้ยงไว้ทำไมให้พ่อแม่อับอายขายหน้า

ไม่ใช่แค่ความฝันที่ทำให้นางเทพทองเดือดเนื้อร้อนใจ อาการแพ้ท้องพิสดารก็ทำให้ยุ่งยากไม่น้อย อยากกินของสดของคาวดิบๆ สุกๆ ที่คนท้องเขาไม่กินกัน กินเรียบตั้งแต่สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กินไม่กินเปล่า ต้องแกล้มเหล้าครั้งละมากๆ

“ปลาไหลไก่กบทั้งเต่าฝา แย้บึ้งอึ่งนาไม่พอไส้

หยิบคำโตโตโม้ข้าไป ประเดี๋ยวเหล้าสิ้นไหไม่ซื้อทัน”

เวลาอยากกินอะไรขึ้นมา กิริยาอาการก็เหลือทน ดังที่กวีบรรยายว่า

“ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว

น้ำลายไหลรี่ดังผีกระสือ ร้องไห้ครางฮืออ้อนวอนผัว”

นางเทพทองแพ้ท้องยาวนานยันคลอด ยิ่งใกล้เวลาคลอดเท่าไหร่ ความเจ็บปวดรวดร้าวก็ทวีขึ้นจนสุดจะทนทาน

“ท้องลดทศมาสลูกถีบยัน พอใกล้ฤกษ์ยามนั้นเจ็บหนักไป

บิดตัวเรียกผัวหาพ่อแม่ ร้องเปื้อนเชือนแชไม่เอาส่ำได้”

ทำเอาทั้งผัวทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้องข้าทาสบริวารวิ่งวุ่นไปทั้งเรือน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเพื่อช่วยให้การคลอดผ่านพ้นไปด้วยดี บ้างก็โปรยข้าวสารเสก เอาเบี้ย (เงินสมัยนั้น) เหน็บฝาเรือนเป็นเชิงเอาเคล็ดว่าให้คลอดง่ายๆ

ขุนช้างทรมานแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งท้องจนถึงวันคลอด สมัยโบราณคนทำคลอดคือหมอตำแย ขุนช้างไม่ใช่จะคลอดได้ง่ายๆ เช่นทารกอื่น ตรงกันข้ามทำเอาแม่และหมอตำแยเหงื่อตก เพราะ “ขวางตัวอยู่” คลอดออกมาไม่ได้

“หมอตำแยแยงแย่เข้าคร่อมท้อง แม่นางเทพทองเข้าข่มส่ง

ตัวสั่นหวั่นไหวมิใคร่ลง หมอตำแยว่าตรงแล้วข่มมา

ยายคงโก้งโค้งโขย่งข่ม เสียงผลุดนอนล้มไปจมฝา”

ยายหมอตำแยถึงขั้นขึ้นคร่อมกดท้องนางเทพทองไว้ ในขณะที่ขุนศรีวิไชยก็ “จิกหัวแล้วเป่ากระหม่อมลง” คือเป่ามนต์พรวดลงไปบนหัวเมีย ในที่สุดก็ผ่านพ้นนาทีวิกฤตชนิดหอบตัวโยนไปตามๆ กัน นางเทพทองก็เหมือนแม่ทุกคนที่อยากเห็นหน้าลูก เพียงแวบแรกที่เห็น นางก็ด่าใส่ไม่ยั้ง

“ทุดลูกบัดสีเหมือนผีปั้น หัวล้านในครรภ์ดังวงเดือน

เสียแรงอุ้มท้องประคองมา ชกโคตรแม่อ้ายหมาขี้เรื้อนเปื้อน

เลี้ยงมันไว้ไยอายเพื่อนเรือน หัวเหมือนโคตรข้างไหนให้เกิดมา”

นางเทพทองชังน้ำหน้าลูกเลยปล่อยเป็นภาระของพี่เลี้ยงแม่นมโดยไม่แยแสแม้แต่น้อย

“แม่นมข้าไทให้รักษา

อาบน้ำป้อนข้าวทุกเวลา ไกวเปลเห่ช้ามาทุกวัน”

คนไทยสมัยก่อนนิยมตั้งชื่อลูกหลานตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ขุนช้างได้ชื่อมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้นำช้างเผือกมาถวายสมเด็จพระพันวษา กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น เมื่อรวมกับความฝันของแม่เกี่ยวกับซากช้างพลายและนกตะกรุมหัวล้าน ญาติผู้ใหญ่จึงได้นำมาตั้งชื่อหลานชาย

“แม่ฝันว่านกตะกรุมคาบช้าง บินมาแต่ทางพนาสณฑ์

พาไปให้ถึงในเรือนตน หัวล้านอกขนแต่เกิดมา

เมื่อตกฟากฤกษ์พารของหลายชาย ช้างเผือกมาถวายพระพันวษา

จึงให้นามตามเหตุทั้งปวงมา หลานรักของข้าชื่อขุนช้าง”

“เวลาตกฟาก” ของขุนช้างหรือเวลาเกิดแรกคลอดจากท้องแม่นั้นเป็นมงคลยิ่ง พอขุนช้างเกิด เงินทองก็ไหลมาเทมาจนพ่อแม่ร่ำรวย พรั่งพร้อมข้าทาสบริวาร

“บริบูรณ์พูนเกิดกว่าแต่ก่อน เพราะบุญของลูกอ่อนได้สร้างสรรค์

แต่เกิดมาเงินตราอุดมครัน ข้าหญิงชายนั้นมากมายไป

เผอิญให้แม่เคียดเกลียดชัง แต่มั่งคั่งหาใครเสมอไม่”

ก็เพราะอย่างนี้ขุนช้างน้อยจึงมีเครื่องประดับท่วมตัว ปะวะหล่ำกำไลเต็มข้อมือข้อเท้า จนเดินแขนกางขาถ่าง และยังมีเครื่องประดับอีกมาก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ “ดูดี” สักนิดในความคิดของนางเทพทอง นางก็ยิ่งระบายอารมณ์ด่าลูกทุกวันไม่มีวันหยุด กระทบกระเทียบต่างๆ นานา

“นางเทพทองร้องด่าอ้ายยาจก ช่างเต้นหยกหยกเหมือนตลกโขน

ยึดไว้ไม่นิ่งตละลิงทโมน อ้ายผีโลนที่ไหนปั้นใส่มา

ไม่มีใจที่จะใคร่เข้าอุ้มชู เหมือนค่างครอกหลอกกูดูขายหน้า

ทำตาบ้องแบวแมวกินปลา อ้ายตายห่าด่าแช่งไม่เว้นวัน”

ทุกอย่างที่รวมเป็นขุนช้าง ดูจะขวางหูขวางตาแม่ไปหมด ความรักความอบอุ่นระหว่างแม่ลูกไม่ต้องพูดถึง สองตาแม่ยังไม่แล เรื่องกอดจูบด้วยความรักใคร่ทะนุถนอมอย่างแม่คนอื่น ลืมๆ ไปได้ ดูๆ ก็น่าสงสารขุนช้างที่ขาดความรักความอบอุ่นมาตั้งแต่เป็นทารก

อย่างไรก็ดีความอัปลักษณ์ทางสรีระเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อย คือใครเห็นปุ๊บ จำได้ปั๊บ และมักจะเอาจุดนี้มาหัวเราะเยาะอย่างสนุกปาก โดยไม่คิดถึงจิตใจขุนช้างน้อยเลยว่าจะขมขื่นคับแค้นแค่ไหน อย่างตอนที่ขุนศรีวิไชยพาขุนช้างเดินทางไปถวายตัวกับสมเด็จพระพันวษา พอใครเห็นขุนช้าง เด็กน้อยหัวล้าน อกขนรุงรังเข้าเท่านั้นก็ฮาครืน

“เด็กอะไรหัวล่อนกล้อนสุดใจ แลไปเหมือนหนึ่งหลอกบอกเพื่อนกัน

จะว่าค่างฤๅลิงวิ่งมาเกิด อ้ายผีนอกละเมิดที่ไหนปั้น

ชายหญิงวิ่งหัวร่ออยู่งองัน ดูจนพ่อลูกนั้นเข้าในวัง

พวกขุนนางต่างคนที่คอยเฝ้า พอเห็นเข้าก็หัวเราะราวจะคลั่ง

ขุนช้างน้อยพลอยประหม่าละล้าละลัง เข้าหมอบชิดติดหลังบังบิดา”

แม้แต่สมเด็จพระพันวษาเมื่อเห็นพานดอกไม้ธูปเทียนที่สองพ่อลูกเตรียมมาก็ตรัสทักทายว่า

“ฮ้าเฮ้ยอ้ายขุนศรีวิไชย นั่นมึงพาลูกใครเข้ามาหวา

ดูหัวหูน่าสมเพชเวทนา เป็นเชื้อวงศ์พงศาของผู้ใด

ฤๅลูกหลานว่านเครือของมึงเอง หัวล้านโจงเหม่งไม่เอาส่ำได้

จะเอามาให้กูฤๅว่าไร มีธูปเทียนดอกไม้ใส่พานมา”

ความอัปลักษณ์แต่เด็กยิ่งโดดเด่นเมื่อเป็นหนุ่ม

“จะกล่าวถึงขุนช้างเมื่อรุ่นหนุ่ม หัวเหมือนนกตะกรุมล้านหนักหนา

เคราคางขนอกรกกายา หน้าตาดั่งลิงค่างที่กลางไพร”

ความที่เป็นคนกว้างขวางใครรู้จัก ก็มีกิริยาท่าทีดังที่กวีบรรยายว่า

“เดินย้ายส่ายมาหน้าแหงนหงาย

เห็นใครดูก็พยักทักทาย เหมือนควายขวิดเฝือเหงื่อท่วมมา”

ขุนช้างตกหลุมรักนางพิมพิลาไลย (เพื่อนเล่นสมัยเด็ก) เมื่อเป็นเจ้าภาพกัณฑ์กุมารในงานเทศน์มหาชาติ วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี จึงรบเร้าให้แม่ไปสู่ขอ “แม่จงเมตตาปรานี วันนี้วันดีแม่จงไป” นางเทพทองพยายามเตือนว่า ขุนช้างไม่คู่ควรกับนางพิมด้วยการเปรียบเปรยค่อนข้างแรงแต่แฝงด้วยความหวังดี อยากให้ขุนช้างเจียมตัวยอมรับความจริงว่ารักครั้งนี้ไม่มีหวัง

“ออพิมพิลาไลยเขารูปงาม

ล้ำคนในสุพรรณพารา รูปเอ็งเหมือนผ้าละว้าย่าม

จะเสียแรงไปว่าพยายาม แม่จะเปรียบเนื้อความให้เข้าใจ

นางพิมพริ้มเพราดังจันทรา เอ็งเหมือนเต่านาอยู่ต่ำใต้

อยากได้ดวงจันทร์สวรรค์ไกล เห็นจะได้แล้วฤๅนะลูกอา”

นางเทพทองแนะนำว่าเงินทองเรามีมาก ไม่ยากที่จะหาผู้หญิงคนใหม่ซึ่งไม่ใช่นางพิมที่ “เมื่อยังเด็กมันด่าเอ็งฉาดฉาน คารมข่มขู่กูรำคาญ ผุดขึ้นก็หัวล้านทุกคราวคำ” ขุนช้างบอกแม่ว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว อย่าเก็บมาคิดเลย สมัยยังเด็กก็เล่นกันด่ากันตามประสาเด็ก อยู่กินเป็นผัวเมียกันไปแล้วก็คงชินหน้าตาของลูกไปเอง ขุนช้างใส่สีตีไข่หว่านล้อมให้แม่เชื่อว่านางพิมมีใจให้เกินร้อย

“สงสารเจ้าพิมพิลาไลย ได้สัญญาว่าไว้เป็นถ้วนถี่

ลูกรับคำมาเหมือนพาที ว่าในสามราตรีจะแต่งไป

นางพิมว่าถ้าลูกไม่ไปขอ จะผูกคอตายเสียหาอยู่ไม่”

ถึงตอนนี้ขุนช้างกลายเป็นดาราเจ้าน้ำตาขึ้นมาทันที

“แม่ไม่ปรานีทีนี้จน ไม่รู้จะผ่อนปรนไปพึ่งใคร

ยกตีนของแม่ขึ้นทูนหัว กลิ้งเกลือกเสือกตัวแล้วร้องไห้

มือชกหัวล้านซมซานไป น้ำตาหลั่งไหลออกนองตา”

ลูกชายเอาน้ำตามาต่อรอง แต่นางเทพทองรู้ทัน อีกทั้งโมโหที่ลูกไม่เชื่อฟัง ทั้งยังหมั่นไส้ลีลามารยาฟูมฟายน้ำตา นางก็เลยด่ากราดสาดเสียเทเสีย ไม่ยอมเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ และไล่ขุนช้างกลับบ้าน

“ฝ่ายยายเทพทองร้องตวาด อ้ายนอกครูอุบาทว์ไม่ฟังว่า

โกหกยกคอเจรจา ว่าเป็นชู้สู่หามาร่ำไร

ไม่คิดเจียมตัวอ้ายหัวพรุน รูปเป็นกระชุนุ่นน่ารักใคร่

กูไม่เห็นใครเขาจะชอบใจ นางพิมพิลาไลยเขาโสภา

อกเอวอ้อนแอ้นแม้นกินนร ฤๅจะมาสมจรกับหมูหมา

ให้เพื่อนบ้านติฉินนินทา มึงช่างมุสาแต่โดยเดา

กูไม่อยากจะเดินไปให้เหนื่อย เมื่อยหัวแม่ตีนเสียเปล่าเปล่า

ทำร้องไห้เซ้าซี้อ้ายขี้เค้า ไปเรือนไปเหย้าให้พ้นกู”

ความเอ็นดูไม่มีให้ ความรักใคร่ไม่เคยมี เจอหน้าด่าทุกที นี่แหละ… แม่แสนดีของขุนช้าง