วิกฤติศตวรรษที่21 | ทุนนิยมแตกแยก วิกฤติประชาธิปไตย และสงครามโลกครั้งที่สาม

วิกฤติประชาธิปไตย (49)

ยุโรปกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง

เชิงวิวัฒนาการ

ยุโรปเป็นแหล่งกำเนิดของทุนนิยม และเป็นต้นตอของสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นชะตากรรมที่น่าภาคภูมิและชวนสลด

เมื่อยุโรปล่มสลายแตกเป็นเสี่ยงจากภัยสงคราม ศูนย์กลางอำนาจโลกได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐ

ชนชั้นนำของยุโรปที่กำลังฟื้นตัว ตกอยู่ในความกดดันและความมุ่งหวังหลายด้าน

ด้านความกดดัน ที่สำคัญด้านหนึ่งได้แก่ แรงกดดันจากสหรัฐ ที่ต้องการให้ยุโรปตะวันตกเป็นบริวารของตนทางเศรษฐกิจ-การเมือง

อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ แรงกดดันจากขบวนการคนงานและนักศึกษาปัญญาชน ที่ต้องการทวงสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ออกจากระบบทุนและสังคมใหญ่ ที่กัดเซาะชีวิตของผู้คนทั้งหลาย

ขบวนการเหล่านี้มีความเข้มแข็งมาก จนสามัคคีกันโค่นล้มรัฐบาลนายพลเดอโกลได้ (ปี 1969)

นอกจากนี้ยังมีขบวนการสตรีนิยม ที่เคลื่อนไหวในมิติต่างๆ รวมทั้งเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์สตรีนิยมขึ้น และขบวนการสิ่งแวดล้อมก็ได้เพิ่มอิทธิพลในยุโรปขึ้นโดยลำดับนับแต่ปี 1970 สร้างระบอบ “การเมืองสีเขียว” ขึ้น

ด้านความมุ่งหวัง ที่สำคัญได้แก่ เจตนารมณ์ในการรวมยุโรปเข้าด้วยกันอีกครั้ง ยุโรปที่เป็นอิสระ อย่างสัมพัทธ์จากสหรัฐ การรวมยุโรปเข้าด้วยกันครั้งใหม่ จะต้องเกิดจากความร่วมมือหลายชาติและดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม และสถานการณ์ที่เป็นจริง ที่มีความซับซ้อนกว่าของสหรัฐในเชิงเปรียบเทียบ

สหภาพยุโรปก่อตัวตั้งแต่ปี 1951 มี 6 ประเทศร่วมก่อตั้งได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก เพื่อแก้ความขัดแย้งด้านพรมแดนและพลังงานอันเป็นสาเหตุของสงครามจากนั้นขยับเป็น “ประชาคมยุโรป” (1957)

และตั้งที่ประชุมสภาผู้แทนยุโรป ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสภายุโรป (1962) สหภาพยุโรป (1993) ตั้งธนาคารกลางยุโรป (1998) ทำให้การออกใช้เงินยูโรเป็นไปได้

จะเห็นได้ว่าการรวมยุโรปใหม่พื้นฐานเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเมือง เป็นมูลเชื้อให้มีการสร้างวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิวัฒนาการ (Evolutionary Political Economy) ขึ้น เพื่อรับใช้ลักษณะเฉพาะของยุโรปในการสร้างทฤษฎีและนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของตนขึ้นมาบ้าง

จัดเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอันดับที่สอง รองจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เป็นแบบคลาสสิคและเสรีนิยมใหม่

บางประการเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิวัฒนาการ

ในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิวัฒนาการของยุโรปนั้น มีนักวิชาการและนักคิดที่เด่นจำนวนไม่น้อย มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรทางวิชาการ

ในที่นี้จะอิงคำอธิบายตามแนวของเกอร์ฮาร์ด ฮานัปปี (เกิด 1951) เป็นสำคัญ

เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีอิทธิพลสูงในสหภาพยุโรปและสถาบันการศึกษาหลายแหล่ง มีบทบาทในการสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจการเมืองในยุโรป

ฮานัปปีเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์ การจำลองหรือการสร้างตัวแบบทางคอมพิวเตอร์ และทฤษฏีเกม มีผลงานจำนวนมาก ขณะนี้กำลังคิดสร้างวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงควอนตัมขึ้น

เมื่อไม่นานนี้เขาได้ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ทางการคิดวิเคราะห์ว่า โลกทุนนิยมได้เกิดการแตกแยกใหญ่มีวิกฤติประชาธิปไตย และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

สรุปความบางประการเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิวัฒนาการ ดังนี้

ก) เป็นสหวิทยาการสังเคราะห์ทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักทฤษฎีและนักเคลื่อนไหวของเยอรมนีและยุโรปหลายด้าน ได้แก่ เกออร์ค เฮเกล (1770-1831) คาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) ชาร์ลส์ ดาร์วิน (1809-1882) ธอสไทน์ เวเบล็น (1857-1929) เขาเป็นผู้สร้างคำว่า “เศรษฐศาสตร์วิวัฒนาการ”) โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (1883-1950) และอี. เอฟ. ชูมักเกอร์ (1911-1977) เป็นต้น โดยแก้ไขจุดอ่อนและรวมเอาจุดแข็งจากทฤษฎีเหล่านี้เข้าด้วยกัน ขึ้นเทียบเคียงกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิคและเสรีนิยมใหม่ที่เริ่มตั้งแต่อดัม สมิธ (1723-1790) อย่างไรก็ตาม วิชาเศรษฐศาสตร์คลาสสิคในปัจจุบันได้ขยายไปสู่การเป็นสหวิทยาการมากขึ้น

ข) เป็นแบบองค์รวม พิจารณาความเกี่ยวพันของพลังทางสังคมอย่างทั่วด้าน

ค) มีลักษณะเป็นพลวัต เน้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ความสมดุลแบบเศรษฐศาสตร์คลาสสิค เห็นว่าระบบเศรษฐกิจคล้ายกับระบบชีวิตที่มีวิวัฒนาการ มีการเกิดขึ้นและสลายไปของชนชั้นต่างๆ การเกิดขึ้นของสถาบันองค์การและระเบียบการจัดการใหม่ตามการวิวัฒน์นั้น ระบบทุนนิยมก็มีวิวัฒน์ของตน จากทุนพาณิชย์สู่ทุนอุตสาหกรรม และทุนการเงิน และที่สำคัญคือจากทุนบูรณาการสู่ทุนแตกแยก

ง) ให้ความสำคัญแก่อำนาจ ที่เป็นผู้สร้างและดูแลรักษาระบบตลาดนั้น อดัม สมิธ วิเคราะห์ว่าความมั่งคั่งของชาตินั้น เกิดจากการแบ่งงานกันทำละเอียดลออมากขึ้นในระบบตลาด ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ว่าไม่ได้คำนึงถึงอำนาจรัฐ ของอังกฤษที่ใช้กองทัพของตนบังคับให้มีการขนส่งวัตถุดิบจากอาณานิยมสู่โรงงานอุตสาหกรรมของตน และการกระจายสินค้านี้ออกไป

จ) ให้ความสำคัญแก่การใช้คณิตศาสตร์ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และทฤษฎีเกมในการวิเคราะห์ เข้าใจ และสร้างนโยบาย เนื่องจากการมีลักษณะองค์รวม และต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากขึ้นทุกทีในสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น จากชนชั้นในชาติหนึ่งสู่ชนชั้นระดับโลก เครื่องมือในการศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีและนโยบายทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจำต้องยกระดับเป็นการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิวัฒนาการอาจมีส่วนช่วยให้การรวมยุโรปให้เป็นเอกภาพ สร้างนโยบายทางเศรษฐกิจการเงินเฉพาะของตนคือรัฐสวัสดิการและการออกเงินสกุลยูโร แต่ก็ไม่ช่วยให้ยุโรปพ้นจากวิกฤติการเงินใหญ่ปี 2008 ไปได้ ถึงขั้นกล่าวกันว่าสหภาพยุโรปและเงินยูโรจะล่มสลาย

ฮานัปปีเห็นว่าในขณะนี้ปีศาจแห่งระบบทุนนิยมกำลังหลอนหลอกยุโรปอย่างหนัก เกิดภาวะการว่างงานอย่างสุดขั้ว โครงสร้างการเงินที่เปราะบางแบบสุดขั้ว มีการระบาดของลัทธิฟาสซิสต์และชาตินิยมหลายรูปแบบในหลายประเทศ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในรัฐบาลของยุโรปทำอะไรไม่ถูกและพยายามที่จะเก็บรับความรู้จากเหตุการณ์ร้ายเหล่านี้อย่างไร้ผล ปีศาจตนนี้กำลังกลายร่างเป็นปีศาจแห่งลัทธิฟาสซิสต์

(ดูบทความของ Hardy Hanappi & Manuel Scholz-Wackerle ชื่อ Evolutionary Political Economy : Content and Method ใน tandfrontlineccom 10.02.1017)

ยุโรปเป็นเหมือนกลุ่มรัฐชั้นสองที่ถูกทอดทิ้งโดยสหรัฐ จีน และรัสเซีย

การทุนนิยมแตกแยกวิกฤติประชาธิปไตยและสงครามโลกครั้งที่สาม

ต้นเดือนมกราคม 2019 ฮานัปปีได้เผยแพร่บทความที่ก่อความสนใจแก่นักวิชาการและนักยุทธศาสตร์ตะวันตกอย่างสูง

ในบทความนี้เขาชี้ว่าโลกทุนนิยมที่เคยเป็นแบบบูรณาการ ได้ก้าวสู่ขั้นทุนนิยมแตกแยก ซึ่งมีความเป็นไปสูงที่จะก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม ที่มีแบบการเกิดได้ 3 อย่างด้วยกัน

ฮานัปปีชี้ว่า นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มา รัฐบาลชาติตะวันตกมีความพยายามในการสร้างระบบทุนนิยมบูรณาการขึ้น เพื่อทำให้การสะสมทุนในชาติต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น

ในนี้มีการจัดตั้งสถาบันโลก ได้แก่ สันนิบาตชาติและองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น เพื่อรักษาระบบทุนนิยมโลก

แต่ก็ต้องสะดุดจากสงครามโลกสองครั้ง สงครามโลกครั้งแรกจากการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ของหลายจักรวรรดิที่ยังเป็นแบบฟิวดัล เป็นผลให้ระบอบฟิวดัลของยุโรปสูญหายไป

และสงครามโลกครั้งที่สองเกิดจากอำนาจของจักรวรรดิในยุโรปอ่อนแอลง เปิดทางให้สหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ เกิดลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลีและลัทธินาซีในเยอรมนี ปะทะกับแกนอเมริกัน-อังกฤษ

การอุบัติขึ้นของลัทธิฟาสซิสต์แสดงว่าระบบทุนนิยมบูรณาการนั้นมีความเปราะบางสูง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความพยายามสร้าง “ทุนนิยมบูรณาการ” ใหม่ ที่รอบด้านและมั่นคงกว่าเดิม เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และการให้ผลประโยชน์ต่างๆ แก่คนงาน การสร้างรัฐสวัสดิการ การมีสถาบันโลกที่คอยแก้ไขความขัดแย้ง และกำหนดระเบียบของทุนนิยม ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเลี่ยงสงครามโลกได้ยาวนาน 70 ปี

แต่เมื่อเกิดวิกฤติการเงิน 2008 กลไกที่สร้างไว้เดิม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันระหว่างประเทศ กฎระเบียบทางเศรษฐกิจ การเงิน ค่านิยมประชาธิปไตยของตะวัน ทำงานไม่ได้ผลเหมือนเดิม ช่องว่างทางชนชั้นขยายตัว ทุนนิยมแตกแยกเป็นสามขั้ว ได้แก่ สหรัฐ จีนและรัสเซีย ต่างขับเคี่ยวกันแย่งความเป็นใหญ่

“ทุนนิยมแตกแยก” มีลักษณะเด่นได้แก่ ที่ชนชั้นผู้ปกครองสร้างความจำกัดทางชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม เพื่อที่จะกีดกันชนชาติส่วนน้อยที่ถือว่าต่ำกว่า ไม่ให้ได้รับประโยชน์จากการกระจายความมั่งคั่ง เกิดการเฟื่องฟูของลัทธิชาตินิยมทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวรากหญ้ากับผู้ปกครอง ประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน เกิดความเป็นไปได้ของสงครามโลกครั้งที่สามใน 3 แบบด้วยกันได้แก่

1) ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สหรัฐ จีน รัสเซีย ที่เขม็งเกลียวเข้มข้นขึ้นทุกที พร้อมกับการแข่งขันทางอาวุธ การสงครามและการเผชิญหน้าแบบต่างๆ ฮานัปปีใช้การคำนวณทางทฤษฎีเกมได้ผลว่า หากเกิดสงครามจริง จีนมีความเป็นไปได้จะอยู่รอดสูงสุดที่ร้อยละ 52 ดังนั้น จีนมีแนวโน้มจะตอบโต้การคุกคามต่อการคุกคามต่อผลประโยชน์ของตนอย่างเปิดเผยสูงกว่าผู้อื่น สหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 30 รัสเซียต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 18 สหรัฐและรัสเซียจึงมีแนวโน้มที่จะใช้ปฏิบัติการลับ หรือใช้การต่อสู้แบบไม่ใช่ซึ่งหน้าหรือใช้ตัวแทนมากกว่า

2) สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ เกิดจากลัทธิประชานิยมทั้งปีกซ้ายและขวาขึ้นปะทะกัน โดยประชานิยมปีกขวามุ่งหวังให้เกิดระบอบเผด็จการรวบอำนาจและเป็นเชิงเชื้อชาติ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมนีและอิตาลึในทศวรรษ 1930 ส่วนประชานิยมปีกซ้ายมีความคิดที่จะสร้างทุนนิยมบูรณาการขึ้นมาอีกครั้ง ประชานิยมทั้งปีกขวาและปีกซ้ายต่างอ่อนแอลง และใช้มาตรการที่เฉียบขาด หรือใช้ยาแรงขึ้น จนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองและลามไปทั่วภูมิภาค เช่น ในยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง

3) การต่อสู้ของชาวรากหญ้าคนยากจนในประเทศต่างๆ และระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน เกิดเป็น “ขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยม” “ขบวนการเพื่อความเป็นเอกราช” และ “การลุกขึ้นสู้ของมวลชนต่อต้านรัฐบาลกลาง เรียกร้องให้มีการปฏิรูป” ไปจนถึงการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธและการก่อการร้าย โดยยึดถือแนวคิดลัทธิมาร์กซ์และลัทธิอิสลาม เป็นต้น ฮานัปปีให้ทางออกว่าควรต้องสร้างขบวนการสันติภาพโลก

(ดูบทความของ Gerhard Hanappi ชื่อ From Integrated Capitalism to Disintegrating Capitalism. Scenarios of a Third World War ใน ampra.ub.uni.muenchen.de 07.02.2019)

สถานการณ์และการเตรียมพร้อมของจีน

การวิเคราะห์และท่าทีของผู้นำจีนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีบรรยากาศบ้างด้านคล้ายกับในยุโรป นั่นคือรู้สึกถึงปัญหารุนแรงที่รุมเร้ามาทุกด้าน เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงอย่างไม่ปรากฏมาก่อน แต่ก็มีด้านที่ต่างกันไป ที่มีความสงบ มุ่งหวังอนาคต และไม่ได้หวาดกลัวสงครามโลก โดยจีนเห็นว่าตนจะเป็นกำลังสำคัญในการดับเพลิงสงคราม แต่ถ้าหากจะเกิดขึ้นก็พร้อมเข้าเผชิญหน้าสู้รบ ซึ่งใกล้เคียงกับการพยากรณ์ตามทฤษฎีเกมของฮานัปปี

ในปลายเดือนมกราคม 2019 สีจิ้นผิงกล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของท้องถิ่นและกระทรวงต่างๆ ที่กรุงปักกิ่ง เรียกร้องให้ทั้งพรรคและรัฐเพิ่มความพยายามในการป้องกันและลดอันตรายจากปัญหารอบด้านในปัจจุบัน ทั้งทางการเมือง อุดมการณ์ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างพรรค ระมัดระวังด้านภูมิทัศน์ระหว่างประเทศที่ไม่อาจคาดเดาได้ สถานการณ์ที่ซับซ้อนและอ่อนไหวในเขตเพื่อนบ้านเพื่อบรรลุภารกิจใหญ่ในการผลักดันการปฏิรูป การพัฒนาและเสถียรภาพต่อไป ก่อนอื่นได้แก่ การมียุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตในทิศทางที่ถูกต้อง ลดการเก็งกำไร เตรียมพร้อมปกป้องอันตรายในยามสันติ การวิเคราะห์วิจัยความเสี่ยงใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจ และมีการจัดการอย่างเหมาะสม รวมทั้งผลประโยชน์ของจีนในต่างประเทศ

ในทางการเมืองเร่งการตั้งระบบการปกครองออนไลน์ ส่งเสริมการปกครองออนไลน์ตามกฎหมาย

ในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จะต้องมีการวิจัยตัดสินและจัดลำดับในนวัตกรรมด้านต่างๆ สร้างความร่วมมือ การจัดตั้งองค์การ พัฒนายุทธศาสตร์และความมั่นคงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสำคัญ ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน

ในทางสังคมต้องส่งเสริมความรู้สึกของการได้ประโยชน์ การมีความสุขและความปลอดภัยในหมู่สาธารณชน จะต้องใช้ความพยายามทั้งด้านประกันผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของสาธารณชนและการป้องปรามอาชญากรรม

สำหรับการสร้างพรรค งานหลักยังเป็นเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น (ดูรายงานข่าวของ Xu Wei ชื่อ Readiness to manage risks called key task ใน chinadaily.com.cn 22.01.2019)

การเตรียมพร้อมรบของจีนจึงมีอยู่ทุกด้าน ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐ