ธงทอง จันทรางศุ | รดน้ำทีไร ทำไมต้อง “ดำหัว” ?

ธงทอง จันทรางศุ

เคยสังเกตไหมครับว่าตอนเราเป็นเด็กนักเรียน กว่าครูที่ยืนสอนอยู่หน้าชั้นจะบรรยายหมดชั่วโมง เรารู้สึกว่าเวลาช่างนานแสนนานชั่วกัปชั่วกัลป์

แต่พอมาถึงวัยที่เรียกว่าอาวุโสเต็มที่แล้ว วันคืนช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน

เผลอตัวนิดเดียวปฏิทินเดือนเมษายนก็โผล่หน้ามาให้เห็นแล้ว

อีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทยดั้งเดิมของเราอีกครั้งหนึ่งแล้ว

กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผมมีธุระเดินทางไปสุโขทัยและอุตรดิตถ์ มีผู้คุ้นเคยที่เคารพนับถือกันขออนุญาตรดน้ำสงกรานต์ผมเป็นการล่วงหน้า เพราะตอนช่วงเทศกาลสงกรานต์จริงๆ คงไม่ได้พบกัน

ผมยินดีรับรดน้ำด้วยความเต็มใจ

เมื่อรับรดน้ำแล้วก็เลยนึกเลยเถิดไปถึงคำสองคำที่จะต้องได้ยินได้ฟังในเดือนเมษายนนี้อยู่เสมอ คำหนึ่งคือคำว่า “รดน้ำ” อีกคำหนึ่งคือคำว่า “รดน้ำดำหัว”

สองคำนี้เป็นประเพณีดั้งเดิมของต่างภูมิภาคกัน ภายหลังมีผู้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันและฟังดูมีสัมผัสคล้องจอง คำว่า “รดน้ำ” ที่ไม่มีสร้อยว่า “ดำหัว” จึงใกล้จะสาบสูญไปเสียแล้ว

พูดคำว่ารดน้ำทีไรต้องดำหัวทุกทีสิน่า

เรามาเริ่มทำความเข้าใจเรื่องรดน้ำดำหัวเสียก่อนว่าคำนี้เป็นประเพณีทางเหนือหรือที่เราเรียกว่าล้านนา เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่โดยไม่มีกำหนดอายุตายตัว ขอให้เป็นผู้มีอาวุโสพอสมควรก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับรดน้ำดำหัวได้แล้ว

ประเพณีดั้งเดิมของเขานั้น แต่เก่าก่อนเรียกว่า “สระเกล้าดำหัว” เพราะเป็นการอาบน้ำและสระผมซึ่งเป็นคำแปลของคำว่าดำหัวกันอย่างจริงจัง

ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าจะนำน้ำซึ่งเจือด้วยส้มป่อยที่ชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่มีพลังกำจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายมารดน้ำผู้ใหญ่ ท่านผู้ใหญ่นั่งลงแล้วยินยอมอนุญาตให้ลูกหลานช่วยอาบน้ำช่วยสระผม เสร็จพิธีการแล้วจึงผลัดเสื้อผ้าแล้วอวยชัยให้พรกันต่อไป

ส่วนการรดน้ำของประเพณีภาคกลางนั้น มีกติกาเบื้องต้นว่าผู้ที่จะรับรดน้ำได้ต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพราะอายุครบห้ารอบนี้เองเป็นขีดขั้นที่บอกว่าผู้นั้นอยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่อาวุโสเต็มที่แล้ว ก่อนหน้านั้นยังแก่ไม่พอครับ

เราจะสังเกตเห็นหลักข้อนี้ได้ในเวลาที่มีการฉลองอายุห้ารอบหรือ 60 ปีของท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย ที่นิยมมีการรดน้ำเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการสำคัญในวาระดังกล่าว ถือเป็นการรดน้ำประเดิมครั้งแรก

และปีต่อๆ ไป ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็รับรดน้ำสงกรานต์ต่อไปได้จนตลอดชีวิต

ถ้าอายุยังไม่ถึงหกสิบปีแล้วมีคนมาขอรดน้ำ ก็ต้องบ่ายเบี่ยงปฏิเสธให้งดงาม อย่าให้ถึงกับเสียน้ำใจกัน

เมื่อครั้งที่ยังอายุน้อยกว่านี้และยังอยู่ในราชการ ซึ่งหมายความว่าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์รับรดน้ำ มีน้องๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาชักแถวกันเข้ามาขอรดน้ำสงกรานต์ผมอยู่เหมือนกัน

ผมมักจะถือโอกาสนั้นชี้แจงธรรมเนียมดังกล่าวมาข้างต้นให้ทราบทั่วกัน แล้วชักชวนกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่มีประจำอยู่บนโต๊ะหมู่บูชาในห้องทำงานของผมเพื่อเป็นสวัสดิมงคลกับทุกคน

ส่วนพวงมาลัยที่เขานำมามอบให้ผมนั้น ผมก็รับไว้ได้ด้วยไม่ขัดข้องประเพณีบ้านเมือง

ว่าแล้วก็กล่าวอวยชัยให้พรน้องๆ เหล่านั้นตามสมควร เป็นที่ชื่นมื่นสบายใจกันไปทั้งสองฝ่าย

นอกจากกติกาในเรื่องเกณฑ์อายุแล้ว วิธีการรดน้ำก็แตกต่างกันกับประเพณีเมืองเหนือ เพราะประเพณีภาคกลางบ้านผมนั้นไม่ได้อาบน้ำกันจนถึงตัวเปียก

ลูกหลานเพียงแต่นำน้ำอบน้ำหอมใส่ภาชนะขนาดน้อยมารินรดที่มือของผู้ใหญ่

ขณะเมื่อรดน้ำนั้นผู้น้อยไม่ต้องกล่าวอวยชัยให้พรอะไร เพราะถือว่าผู้ใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่เพียบพร้อมด้วยวัยวุฒิ ย่อมเป็นผู้ประสาทพรให้แก่ผู้น้อย

มิใช่ผู้น้อยให้พรผู้ใหญ่

ดังนั้น ขณะที่ผู้น้อยรดรินน้ำใส่มือ ฝ่ายผู้ใหญ่ย่อมมีหน้าที่ต้องกล่าวอวยพรให้ลูกหลานมีความสุขมีความเจริญอย่าเจ็บอย่าไข้ พูดพึมพำอะไรไปทำนองนี้

น้ำอบน้ำหอมที่เขารดใส่มือเราแล้วจะเอามาลูบเนื้อลูบตัวเสียหน่อยก็จะแลดูแก่สมวัยใช้การได้เลยทีเดียว

นอกจากการนำน้ำอบน้ำหอมมารดน้ำแล้ว แต่โบราณมาผู้น้อยยังนำของมามอบให้แก่ผู้ใหญ่เป็นการแสดงความเคารพระลึกถึงกันด้วย

ของที่ว่านี้คือผ้านุ่งและผ้าห่มและของหอมต่างๆ

ร่องรอยของธรรมเนียมนี้ยังเห็นได้จากงานพระราชพิธีสงกรานต์ของหลวง ที่จะมีการเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการีมาบำเพ็ญพระราชกุศล

ในพระราชพิธีดังกล่าวมีการนิมนต์พระราชาคณะจากพระอารามที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเจ้านายแต่ละพระองค์นั้นๆ มาสดับปกรณ์ คู่กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิเป็นลำดับไป (คำว่าสดับปกรณ์เป็นราชาศัพท์สำหรับคำว่าบังสุกุลที่เราคุ้นเคยกันอยู่นั้นเอง)

ขณะที่การทอดผ้าสดับปกรณ์ในงานพระราชกุศลอื่นใช้ผ้าไตรเป็นปกติอย่างที่เราเห็นในงานสามัญทั่วไป

แต่ในงานพระราชพิธีสงกรานต์จะใช้ผ้าขาวสองผืนมัดรวมกัน เรียกว่าผ้าคู่

ด้านบนของผ้าคู่แต่ละมัดมีสลากเขียนพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย หรือพระนามของเจ้านายแต่ละพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วกำกับอยู่ ผ้าสองผืนนี้คือผ้าห่มผืนหนึ่ง

ผ้านุ่งผืนหนึ่ง ที่ทรงพระราชอุทิศนี้เสมือนหนึ่งว่าได้ทรงถวายน้ำสงกรานต์สมเด็จพระบรมราชบุพการีอย่างเมื่อครั้งดำรงพระชนม์อยู่นั่นเอง

นอกจากผ้าคู่ยังมีขวดน้ำอบไทยขวดเล็กๆ อีกหนึ่งขวดถวายพระพร้อมกันด้วย

น้ำอบไทยนี้มิใช่สำหรับพระภิกษุไปใช้เองเพราะย่อมขัดต่อพระวินัย

แต่สำหรับท่านนำไปใช้สรงน้ำพระพุทธรูปตามประเพณีนิยมครับ

พูดถึงผ้านุ่งผ้าห่มและของหอมอย่างนี้แล้ว มีเรื่องขอขยายความต่อไปอีกนิดหนึ่งครับว่า เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใหญ่ยุคนี้ไม่ได้นุ่งโจงกระเบนหรือห่มผ้าแถบอย่างเดิมแล้ว ของที่ผู้น้อยนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่อาจพลิกแพลงไปแต่ไม่พ้นไปจากหลักเดิมคือเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือของใช้ที่ทำจากผ้าต่างๆ

เช่น ผ้าเช็ดตัว กางเกงแพร หรือเสื้อกางเกงต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสม

ส่วนเครื่องหอมนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน เช่น เมื่อครั้งที่พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ พ่อประกาศกร้าวเป็นการทั่วไปว่า พ่อชอบน้ำอบฝรั่งมากกว่าน้ำอบไทย

ทีนี้ก็ง่ายล่ะครับ ผมไปหาซื้อน้ำอบฝรั่งประเภทโอดิโคโลญมาหนึ่งขวด รดน้ำพ่อเสียหน่อยเดียว ที่เหลืออีกเกือบเต็มขวดก็กราบพ่อเป็นของรดน้ำสงกรานต์สำหรับพอได้ใช้ต่อไปตลอดทั้งปี

ของหอมที่นำไปกราบรดน้ำสงกรานต์นี้บางทีผมก็ยักเยื้องไปเป็นเครื่องหอมอย่างอื่น เช่น สบู่ก้อนหรือแม้กระทั่งแชมพู สบู่เหลวสำหรับอาบน้ำ เลือกดูของที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริงเป็นสำคัญ

เพื่อความประณีต ผมและอีกหลายคนนิยมถ่ายน้ำอบน้ำหอมจากขวดเดิมที่มาจากโรงงานของเขาลงในขวดแก้วสวยงามของเรา

เวลานำไปรดน้ำผู้ใหญ่แล้วทำให้ตัวเราปลาบปลื้มว่า ทำด้วยความเคารพ ด้วยความยกย่องระลึกถึงกันจริงๆ

ความคิดแบบนี้จะเรียกว่าเพ้อไปก็ได้ แต่พิจารณาแล้วไม่มีโทษแต่อย่างใด จึงอนุญาตให้ตัวเองเพ้อต่อไปได้ไม่มีกำหนด

อ้อ! อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องเตือนกัน คือตอนรับรดน้ำสงกรานต์นี้

ผู้รับรดน้ำควรจะนั่งนะครับ

ถ้านอนรับรดน้ำแล้ว เรื่องจะสับสนมากเลยทีเดียว

อันตรายมากครับ