จรัญ มะลูลีม : ปราบปรามผู้ต่อต้านระบอบชาห์ แปรเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่

จรัญ มะลูลีม

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ประณามสหรัฐว่าเป็นศัตรูตัวร้ายของอิสลาม

การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายของชาฮ์และการที่เอาเงินรายได้จากน้ำมันไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยก็เป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์

การสั่งปิดหนังสือพิมพ์และการปกครองประชาชนด้วยการกดขี่ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสีย เรียกร้องประชาชนและนักการศาสนาให้ขึ้นเสียงต่อต้านการกดขี่และเผด็จการ

และถึงกับเรียกร้องพวกทหารให้โค่นล้มราชวงศ์เพื่อจะปกป้องประเทศชาติให้พ้นจากเผด็จการและทรราชด้วย

รัฐบาลมิได้สนใจต่อคำประท้วงของพวกนักการศาสนา แต่ได้จับอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ขังไว้ในบ้านของเขา

อย่างไรก็ตาม การที่กองทหารและตำรวจเข้าบุกรุกโรงเรียนสอนศาสนาฟัยซียะฮ์นั้นได้ทำให้นักศึกษาในเมืองกูมรวมตัวเข้ากับนักศึกษาและครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเตหะราน ซึ่งเคยถูกกองทหารและตำรวจเข้าโจมตีเหมือนกันในเดือนมกราคม ปี 1961

ชาวอิหร่านทั่วประเทศเกิดความตระหนกตกใจพวกนักการศาสนาทั่วประเทศก็จัดพิมพ์คำประกาศของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ซึ่งประณามเผด็จการของชาฮ์ อะยาตุลลอฮ์ มุฮ์ซินุลฮะกีมเองก็ได้ส่งโทรเลขประณามความโหดร้ายของชาฮ์มายังพวกนักการศาสนาในอิหร่านด้วยและรบเร้าพวกเขาให้อพยพไปอยู่ที่เมืองนะยัฟ

(เป็นเมืองศาสนาของผู้ถือสำนักคิดชีอะฮ์ตั้งอยู่ในประเทศอิรักเพื่อวางแผนต่อสู้การกดขี่)

 

ในวันที่ 10 เดือนมุหัรร็อม (3 มิถุนายน ปี 1963) อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้กล่าวคำปราศรัยที่เมืองกูม และในเย็นวันที่ 4 มิถุนายน นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเตหะรานก็เดินขบวนครั้งใหญ่จากมัสญิดฮิดายะฮ์ ในถนนอิสตันบูล (Istanbul)

วันรุ่งขึ้นฝูงชนก็มาชุมนุมกันที่มัสญิดชาฮ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมัสญิดโคมัยนี) และมีการเดินขบวนครั้งใหญ่อีก ผู้เดินขบวนให้สัตย์สาบานว่าจะต่อสู้กับเผด็จการจนตัวตาย กองทหารได้ขับไล่ประชาชนจนแตกกระจัดกระจายไป อะยาตุลลอฮ์ ตาเลกอนีก็ถูกจับตัวส่งเข้าคุกทันที

ในตอนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ถูกจับตัวส่งเข้าคุกในกรุงเตหะราน ในทันทีที่ข่าวอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ถูกจับรู้ไปทั่วกรุงเตหะราน ฝูงชนจำนวนหลายพันคนก็เริ่มเดินขบวนตามถนน ประท้วงการจับกุมและการกดขี่ของชาฮ์

รัฐบาลจึงออกคำสั่งห้ามเดินขบวนทางศาสนาและอื่นๆ ทั้งหมด

แต่วันต่อมาก็มีการเดินขบวนอีกเป็นการท้าทายคำสั่งห้าม แล้วก็เปลี่ยนเป็นการจลาจลไปในทันที

การจลาจลได้ขยายไปถึงเมืองกูม ตาบริซ มัชฮัด อิสฟาฮาน และชีราซ ในเมืองสำคัญๆ ทั้งหมดได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและออกคำสั่งให้ “ยิงเมื่อเห็น”

ปรากฏว่ามีคนตายกว่า 15,000 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่านั้น

ชาฮ์กล่าวหาว่า อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี เป็นผู้จ้างประชาชนให้ก่อการจลาจลโดยให้เงินคนละ 20 เซ็นต์ จากเงินหลายแสนเหรียญสหรัฐที่ได้รับมาจากตัวแทนของต่างชาติ (หมายถึงอียิปต์) เชื่อกันว่าอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี จะถูกขังจนตายและผู้นำทางศาสนาคนสำคัญคนอื่นๆ ก็จะถูกขังกันคนละหลายๆ ปี

เพื่อจะช่วยชีวิตของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ไว้ อะยาตุลลอฮ์ ซาริอัตมาดารี (Ayatullah Shariatmadari) ได้ย้ายไปอยู่ใกล้กรุงเตหะรานและได้เชิญอะยาตุลลอฮ์ มิลานี (Milani) แห่งเมืองมัชฮัด อะยาตุลลอฮ์ เบฮ์เบฮานี (Behbehani) แห่งคูซิสถาน (Khuzestan) อะยาตุลลอฮ์ รอฟีอี (Rafi”i) แห่งเมืองกาซวิน อะกา ฮามาดานี (Hamadani) แห่งฮามาดาน และนักการศาสนาคนสำคัญๆ จากส่วนต่างๆ ของประเทศมาพบปะกัน

คนเหล่านี้ได้ไปหารัฐบาลและเน้นต่อรัฐบาลว่า อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี เป็นผู้นำทางศาสนาชั้นสูง (Marja-e-Taqlid) และเป็นผู้นำทางศาสนาที่ได้รับการปกป้องจากกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ คนเหล่านี้ไม่เต็มใจที่จะจากสถานที่นั้นไปโดยไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลเกี่ยวกับความปลอดภัยของบรรดานักการศาสนาที่ถูกจับ

และบังคับให้รัฐบาลต้องยอมตามคำเรียกร้องของพวกเขา

 

ต้นเดือนสิงหาคม อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ถูกปล่อยตัวแต่ก็ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน หน่วย SAVAK ได้ออกคำแถลงว่า อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี และนักการศาสนาคนอื่นๆ ให้สัญญาว่าต่อไปนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ออกคำแถลงปฏิเสธทันที

พวกผู้นำทางศาสนาก็ยังทำการต่อต้านรัฐบาลอยู่ต่อไป ในวันที่ 23 สิงหาคม ผู้นำทางศาสนาทั่วประเทศอิหร่าน ได้ออกประกาศให้ประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งที่กำลังจะมีมาโดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากอำนาจสูงสุดของประเทศตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือนไปเป็นการปกครองแบบเผด็จการซึ่งอำนาจรวมอยู่ที่คนคนเดียว

ในเดือนตุลาคม ปี 1964 รัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.บ.ยอมให้สิทธิพิเศษทางการทูตแก่บุคลากรทางทหารชาวอเมริกัน และอีก พ.ร.บ.หนึ่งยอมรับเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐจากสหรัฐอเมริกาเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้กล่าวประณามรัฐบาลและรัฐสภาอย่างเปิดเผยว่า การตัดสินใจของรัฐสภาเป็นการตัดสินใจที่ผิด เป็นเรื่องน่าอัปยศ เพราะสำหรับเขามันหมายถึงการทำลายอำนาจสูงสุดของชาวอิหร่านลงไปและขายชาติเพื่อเงิน

เขาได้สรุปว่า ขณะนี้แม้แต่ประเทศเมืองขึ้นเก่าๆ ก็ยังพยายามที่จะหักโซ่ตรวนความเป็นทาสของตะวันตกลง

แต่บัดนี้รัฐสภาซึ่งเรียกตัวเองว่าก้าวหน้า กลับกลายเป็นทาสของสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1964 อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ถูกเนรเทศไปตุรกี

ความพยายามของพวกนักการศาสนาที่จะเอาตัวอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี กลับคืนมายังอิหร่านก็ไร้ผล

การประท้วงของพวกนักศึกษา ช่างฝีมือและพ่อค้ามิได้ทำให้รัฐบาลสะดุ้งสะเทือนเลย

มุสฏอฟา (Mustafa) บุตรชายของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ถูกจับด้วย แต่หลังจากนั้น 2 เดือนก็ถูกปล่อยตัวให้ไปหาบิดาที่ตุรกีได้

 

ในวันที่ 5 ตุลาคม ปี 1965 การประท้วงอย่างไม่สิ้นสุดได้เริ่มขึ้นในเมืองกูม

สาเหตุคราวนี้เกิดจากได้มีบทความที่ไม่ลงนามผู้เขียนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประจำวันอิตติลาอัต (Ittela”at) ในวันที่ 19 ธันวาคม ปี 1977 ใช้ภาษาหยาบๆ กล่าวหาว่าอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี เป็นตัวแทนที่ได้รับสินบนจากรัฐบาลต่างชาติรัฐบาลหนึ่ง

ในเย็นวันที่ 19 นั้นเอง หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็ถูกเผาเป็นร้อยๆ ฉบับ

วันต่อมาได้มีการเดินขบวนประท้วง ประกอบด้วยนักการศาสนา พ่อค้า ตลอดจนนักศึกษาและประชาชนธรรมดา ตำรวจก็เปิดฉากยิงขับไล่คนเหล่านั้นแตกกระเจิงในกรุงเตหะรานในวันที่ 21 มกราคม ทหารพยายามปราบปรามแต่ก็ล้มเหลว

ในวันที่ 27 มีนาคม ปี 1977 เมืองกาซวินซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเตหะราน และเมืองบาโบล (Babol) ทางเหนือก็เกิดการจลาจลขนาดใหญ่ขึ้น วันต่อมาได้มีการจลาจลเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในตอนต้นเดือนเมษายนได้มีการประท้วงที่เมืองเรซาเยฮ์ (Rezaeyeh) อิสฟาฮานและซารันด์ (Zarand) ในวันที่ 9 เมษายน ก็มีการชุมนุมของพวกนิยมรัฐบาลจำนวน 300,000 คน รวมทั้งคณะรัฐมนตรีและข้าราชการอาวุโส แสดงความศรัทธาอย่างเต็มที่ในรัฐบาลของชาฮ์

หลังจากเดือนเมษายน พวกนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเตหะรานก็ต่อต้านชาฮ์อย่างรุนแรง

 

จากวันที่ 6 ถึง 9 พฤษภาคม ได้มีการจลาจลใหญ่ๆ ในเขตมหาวิทยาลัยแห่งเมืองชิราซ อิสฟาฮาน เคอร์มาน และกาซาน (Kashan)

ทหารนำรถถังบุกเข้าเมืองกูม โจมตีเมืองเสียหายและเกิดการต่อสู้ขึ้น พวกคอมมิวนิสต์จำนวน 200 คนถือโอกาสที่เกิดความระส่ำระสายนี้จัดการเดินขบวนขึ้นในกรุงเตหะราน

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่พรรคทูเดห์ถูกยุบมาในปี 1949 หัวหน้ากลุ่มถูกจับไป 9 คน ในวันที่ 10 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการรุนแรง ชาฮ์กล่าวหาสมาชิกของแนวหน้าแห่งชาติว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดการจลาจลขึ้น และกล่าวว่าคนเหล่านั้นต้องการให้อิหร่านถูกแบ่งแยกโดยมหาอำนาจ แต่ก็มิได้กล่าวถึงกลุ่มนักการศาสนาอีก

ในวันที่ 16 พฤษภาคม คณะกรรมการปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งอิหร่านได้เตือนชาฮ์มิให้ทำการกดขี่ประชาชนอีกต่อไป และกล่าวว่า มิฉะนั้นแล้วมันจะนำไปสู่การจลาจลเพิ่มขึ้น

แต่การจลาจลก็ยังมีอยู่อีกต่อไปในเดือนกรกฎาคมที่เมืองมัชฮัด กูมและอิสฟาฮาน

ในเดือนสิงหาคม เมืองต่างๆ เกือบทั่วอิหร่านก็เกิดการจลาจลขึ้น โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในเมืองอบาดาน (Abadan) ถูกเผา มีคนเสียชีวิตไป 377 คน บาดเจ็บ 233 คน ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ประชาชนประณามหน่วย SAVAK ว่าเป็นผู้กระทำการร้ายนี้ ซึ่งก็เท่ากับประณามชาฮ์ด้วยนั่นเอง

ผู้คนเริ่มเรียกร้องจะเอาชีวิตพระองค์ การจลาจลก็เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนจนต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกในเมืองอิสฟาฮาน