สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนรู้ อยู่ได้ ตามทัน ศ.21 (2) “ยุคเปลี่ยน วิธีต้องเปลี่ยน”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตราบที่โลกยังไม่หยุดหมุน ชีวิตยังดำเนินต่อไป การเรียนรู้ย่อมไม่มีวันสิ้นสุด

จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเหมาะสม สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่และเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีความหลากหลายในการจัดศึกษาด้วยรูปแบบต่างๆ ตามสภาพของพื้นที่ ทั้งในที่ราบชุมชนเมือง และพื้นที่สูงบนยอดเขา ตามแนวตะเข็บชายแดน มีโรงเรียนจำนวนมาก ทั้งที่มีคุณภาพระดับยอดของประเทศ และโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกล ยากลำบาก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

พี่น้องจาวเจียงใหม่รวมตัวกันในนามภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เคลื่อนไหวผลักดันเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาส และพัฒนาคุณภาพการศึกษา เรื่อยมาจนเกิดเวทีปฏิรูปการศึกษาติดต่อกันถึงครั้งที่ 4

พวกเขาไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ ยังคงพยายามค้นหาแนวความคิด แนวปฏิบัติใหม่ๆ และแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้แนวทางแก้ปัญหาดีๆ เหล่านั้นแพร่กระจายออกไป จนความสำเร็จเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียนให้มากที่สุด

การจัดเวทีล่าสุดจึงยกประเด็นเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุย แลกเปลี่ยน เพื่อให้การศึกษากับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งครู นักเรียน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เกิดความเข้าใจตรงกันและเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

 

วิทยากรผู้เปิดเวทีคนแรกจึงเป็นนักคิด นักวิชาการ ที่มีบทบาทคิดค้นและนำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาด้วยเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา จนกลายเป็นกฎหมายประกาศใช้บังคับแล้ว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และรองประธานคณะอำนวยการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ก้าวขึ้นเวทีพร้อมเสียงปรบมือต้อนรับอย่างต่อเนื่อง นำเวที ED TALK ด้วยหัวข้อ “หลักการ และแนวคิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

จุดประกายความคิดให้ผู้เข้าร่วมฟังเต็มห้อง ช่วยกันหาคำตอบให้กับตัวเอง ด้วยภาพที่ฉายขึ้นจดบนเวที ปฏิรูปการศึกษาไทย… ให้ได้ใจ “ต้องทำสองเรื่องให้สำเร็จ”

หนึ่ง ทำเวทีสร้างความเข้าใจกับสังคมอย่างที่ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังทำอยู่นี้ หรือที่ภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาระดับชาติทำเมื่อปีที่ผ่านมาในนามของ Thailand Education Partnership (TEP) และจะจัดเป็นครั้งที่สองเดือนมิถุนายน 2562

“การศึกษาที่ดีไม่ใช่การท่องจำ ทำข้อสอบให้ดีกว่าเพื่อน” วิทยากรเน้น การเปิดเวทีร่วมกันจะทำให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คุณครูเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน

สอง ทำตัวอย่างจริงให้ดู การจัดการเรียนรู้ เกิดห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต เกิดนวัตกรรมการเรียนการสอน การบริหารจัดการ เกิดการปฏิรูปทั้งประเทศ สิ่งดีๆ ข้อดีกระจายออกไปสู่การปฏิบัติทุกทิศทางช่วยคนในพื้นที่ได้ จะช่วยปรับระบบการศึกษาและปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในชั้นเรียนด้วย

เป็นเรียนแบบ Active Learning ซึ่งผ่านการสรุปประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

 

ถามว่าแนวความคิดเรื่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีอะไรพิเศษ หลักการสำคัญคือยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดขึ้นในระดับโรงเรียนทีละโรง โรงเรียนจะไม่ได้อยู่อย่างเหงาๆ แต่เอามาทำร่วมกัน ทำอะไร

หนึ่ง เพิ่มความเป็นอิสระ ปลดล็อกเรื่องที่เป็นปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ

สอง สร้างความสามารถ หาภาคีภายนอกไปช่วย

สาม ขยายผลต่อยอดออกไป

ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาของการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่า หนึ่งเทอมการศึกษา 200 วัน ครูไปโรงเรียนแต่ไม่ได้สอนหนังสือถึง 84 วัน เพราะมีเงื่อนไขที่ทำให้ครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียน

การให้เงินอุดหนุนโรงเรียนแบบมีเงื่อนไขต้องลดลง ให้มีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น ลดภาระการทำโครงการที่ไม่มีประโยชน์ กฎหมายที่ออกมาใหม่วางแนวทางป้องกันไว้ เผื่อโรงเรียนพิจารณารอบคอบแล้วเห็นว่าคำสั่งที่ได้รับมา

ประเมินแล้วไม่มีประโยชน์ไม่ต้องทำก็ได้ อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้จะได้ลดลงไป

 

หลักการสำคัญประการที่สองคือ หัวใจที่แท้จริงของความสำเร็จจะเกิดในห้องเรียน ครู ผู้บริหารจะได้รับการพัฒนา เกิดการสร้างชุมชนการเรียนรู้ ประเทศที่ทำสำเร็จเพราะครูได้เรียนรู้ร่วมกัน มาคุยกัน เกิด PLC มีวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตลอดเวลา เด็กคนไหนเรียนไม่ทันเพื่อน คนไหนมีปัญหา จะช่วยแก้ด้วยเทคนิควิธีแบบไหน ครูแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน

สาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันหมด แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดมีแนวทางที่เหมาะสมของตัวเอง สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ มีหลักสูตรของจังหวัดตัวเอง ทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนกัน

“เกิดโมเดลใหม่อย่างน้อย 6 โมเดลจากการนำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิด 1. หลักสูตรที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในทศวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เน้นท่องจำความรู้ แต่เน้นสร้างทักษะ ทัศนคติที่ดี 2. สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ 3. ตำรา ข้อสอบแบบท่องจำต้องเปลี่ยน การบริหารจัดการเปลี่ยน”

“การประเมินคุณลักษณะ ทักษะ ความรู้ ในระบบต้องประสานกับนอกระบบคือภาคีต่างๆ ที่รวมตัวกันนี่แหละ ใช้ตัวนอกระบบช่วยแก้ปัญหาที่ตัวระบบแก้ไม่ได้ พื้นที่นวัตกรรมนำร่อง 6 จังหวัด เปิดรับโรงเรียนที่สมัครใจจากไหนก็ได้ มีผู้ช่วยภายนอกเข้าไปช่วย เพื่อให้ผู้เรียน เรียนรู้ อยู่ได้ ตามทันศตวรรษที่ 21”

 

ดร.สมเกียรติจบการบรรยายท่ามกลางเสียงปรบมือขอบคุณอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่พิธีกรจะประกาศเชิญนักคิดคนต่อมาขึ้นเวที

เป็นกูรูท่านใด หัวข้อ สาระ เข้มข้น คมลึก โดนใจ แค่ไหน ต้องติดตาม

ครับ สำหรับแฟนคลับการศึกษาที่สนใจใคร่ลงลึกถึงรายละเอียด รูปธรรมของเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นิยามความหมาย รูปแบบ โครงสร้าง องค์ประกอบ กระบวนการดำเนินงาน เป็นอย่างไร

หาอ่านได้ใน พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเว็บไซต์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งกำลังหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้