จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำชาติผ่านวิกฤตโศกนาฏกรรม

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ คนที่ 40 เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ในรอบ 150 ปี หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 ด้วยวัยเพียง 37 ปี

นักการเมืองหญิง ผู้ที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี ก้าวสู่จุดสูงสุดพร้อมกับกระแส “จาซินดามาเนีย” โด่งดังในฐานะผู้นำพรรคแรงงาน ดาวรุ่งพุ่งแรง ที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกระแสนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด และอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำที่ครองใจเฟมินิสต์

สร้างสถิติอีกครั้งในฐานะผู้นำหญิงคนที่ 2 ของโลก

และเป็นผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ ที่ให้กำเนิดบุตรขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

อาร์เดิร์นบริหารประเทศนิวซีแลนด์ไปอย่างราบรื่น และผลักดันนโยบายตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ อย่างการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี การลดจำนวนผู้ลี้ภัย การทำแท้งถูกกฎหมาย รวมไปถึงนโยบายลดความยากจนโดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ

อย่างไรก็ตาม “บททดสอบ” ความเป็น “ผู้นำ” ของอาร์เดิร์นที่ไม่เคยมีผู้นำคนใดของประเทศนิวซีแลนด์เคยเจอมาก่อนเกิดขึ้นเมื่อมือปืนคลั่งผิวขาวชาวออสเตรเลีย ใช้อาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติ บุกกราดยิงชาวมุสลิมที่กำลังทำพิธีทางศาสนาในมัสยิดกลางเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 50 คน

การตอบสนองต่อเหตุก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ครั้งนี้ทำให้อาร์เดิร์นได้รับยกย่องในฐานะ “ผู้นำที่แท้จริง” เลยทีเดียว

แถลงการณ์ของอาร์เดิร์น หลังเหตุการณ์ แม้เสียงจะสั่นเครือแต่เนื้อหาที่แสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวและความเห็นอกเห็นใจนั้นชัดเจน

“คุณอาจเลือกพวกเรา” อาร์เดิร์นระบุถึงมือปืนผู้ก่อเหตุที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหลังก่อเหตุได้ไม่นาน ก่อนกล่าวต่อว่า “แต่เราขอปฏิเสธและประณามคุณอย่างที่สุด”

วันถัดมาหลังเกิดเหตุ อาร์เดิร์นปรากฏตัวที่มัสยิดเกิดเหตุ ในชุดผ้าคลุมผมแบบมุสลิมสีดำขลิบทอง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อแสดงความเสียใจกับครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตอย่างจริงใจ

ภาพของจาซินดา อาร์เดิร์น กอด จับมือ กระซิบปลอบโยนผู้ได้รับผลกระทบจากการกราดยิงถูกสื่อสารไปยังคนทั่วโลก

อาร์เดิร์นแสดงให้เห็นถึงการปลอบโยนอันอบอุ่น และยังแสดงอีกด้านที่เข้มแข็งในการปฏิเสธที่จะยอมอ่อนข้อให้กับความรุนแรง โดยเอ่ยถึงมือปืนอย่างเบรนตัน ทาร์แรนต์ ว่า ไม่ใช่ตัวแทนคุณค่า ความเชื่อของชาวนิวซีแลนด์ ผ่านถ้อยคำธรรมดาๆ ว่าเขา

“ไม่ใช่พวกเรา”

เจนนิเฟอร์ เคอร์ติน ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ระบุว่า การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์หลังเหตุการณ์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังหรือความเดือดดาลใดๆ แต่จะมีเพียงคำพูดอย่าง เราทำได้ เราลุกขึ้นใหม่ได้ เราผ่านไปได้ เป็นต้น

เคอร์ตินระบุว่า อาร์เดิร์นแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่มีความสุขุมและแข็งแกร่ง ผ่านการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่มือปืนนั้นถูกเอ่ยถึงน้อยมาก นอกจากนี้ อาร์เดิร์นยังเรียกร้องให้โลกออนไลน์ลบคลิปวิดีโอเหตุกราดยิงดังกล่าวออกทั้งหมด

อาร์เดิร์นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เริ่มต้นคำกล่าวไว้อาลัยด้วยภาษาอาราบิกว่า “อัซซาลามุอาลัยกุม” หรือ “ขอสันติจงเกิดแก่ท่าน” คำทักทายตามแบบชาวมุสลิม

“หนึ่งในบทบาทที่ฉันไม่เคยคาดหวังที่จะได้รับก็คือการแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจของคนทั้งชาติ” อาร์เดิร์นระบุ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังยืนยันที่จะไม่เอ่ยชื่อมือปืน และเรียกร้องให้กล่าวถึงเพียงชื่อของผู้เสียชีวิตเพื่อรำลึกถึงเท่านั้น

การตอบสนองกับวิกฤตเหตุร้ายของอาร์เดิร์น พร้อมด้วยนโยบายที่จะผลักดันกฎหมายการครอบครองปืนอย่างเร่งด่วน และการเสนองบประมาณช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างครอบคลุม ได้รับการยกย่องไม่เพียงแต่ในประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น แต่ยังถูกกล่าวขานไปทั่วโลก

โดยเฉพาะผู้นำชาวมุสลิมในนิวซีแลนด์ ที่ระบุว่า ความเป็นผู้นำของอาร์เดิร์นนั้น ได้หลอมรวมชุมชนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว และทำให้ชาวมุสลิมมีความรู้สึกว่านิวซีแลนด์เป็นบ้านอย่างแท้จริง