ฝาก “ลูกเสือ” ที่ได้รับความสนใจจากชาวลูกเสือโลกไม่น้อย กับรัฐมนตรีคนใหม่

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ลาออกจากตำแหน่งด้วยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี กระทรวงศึกษาธิการต้องมีรัฐมนตรีว่าการคนใหม่

เมื่อมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติต้องเปลี่ยนใหม่ ด้วยพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 กำหนดในมาตรา 15(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

ขณะที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ คือ นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคนเดิม เช่นเดียวกับคณะกรรมการบริหารทั้งโดยตำแหน่งและโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (เห็นว่ายังไม่ครบจำนวน 15 คน ขาดอยู่ 2 คน คือแต่งตั้งจำนวน 14 คน และลาออก 1 คน)

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิแต่เดิมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการลูกเสือ ยกเว้นผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งมีผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้โดยปริยาย

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เห็นว่าที่ประชุมมีรัฐมนตรีดาว์พงษ์เป็นประธานจะปรับเปลี่ยนการบริหารงานของคณะกรรมการจากรูปแบบให้ผู้ตรวจการแต่ละตำแหน่งมาเป็นระบบให้แต่ละผู้ตรวจการมีคณะอนุกรรมการมาดำเนินการพิจารณาก่อนส่งผ่านผู้ตรวจการฝ่ายไปยังคณะกรรมการบริหารอีกต่อหนึ่ง

หลังจากการประชุมครั้งนั้น ยังไม่มีข้อสรุป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการ เรื่องการบริหารของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติน่าจะรอฟังนโยบายจากรัฐมนตรีคนใหม่

 

การบริหารกิจการลูกเสือแห่งชาติในระยะหลายปีที่ผ่านมา อาจเนื่องมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารบ่อยครั้ง บางคนมาดำรงตำแหน่งเพียงไม่ครบปี บางคนเพียงปีเศษ ทั้งบางคนยังมาเป็นเพียงรักษาการ ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติแม้มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าจะต้องประชุมกันอย่างไร ที่ผ่านมาจึงแทบไม่มีการเรียกประชุมเป็นกำหนดกฎเกณฑ์

เรื่องการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ อาจารย์พะนอม แก้วกำเนิด เขียนบอกไว้ในเรื่อง ความมุ่งหวังต่อกิจการลูกเสือในอนาคต หนังสือ 100 ปี การลูกเสือไทย เกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารจัดการกิจการลูกเสือในอนาคต ข้อ 4 ว่า กำหนดและจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

ในกรณีที่ประธาน ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ ให้มอบหมายให้รองประธาน และกรรมการผู้อาวุโสสูงสุด ดำเนินการเป็นประธานในที่ประชุม แทนตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งอย่างแท้จริง ในการประชุมเปิดโอกาสให้กรรมการ ได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นและเรื่องที่จะร่วมกันปรึกษาหารือในที่ประชุม โดยทำหนังสือเวียนไปยังกรรมการทุกคน เพื่อให้เสนอเรื่องที่จะประชุมนำมาจัดเป็นวาระการประชุม

นอกจากนั้น อาจารย์พะนอมยังบอกไว้ในข้อ 3 ว่ากำหนดและจัดให้มีการประชุมสภาลูกเสือไทยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเป็นประจำทุกปี

 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการบริหารแทบว่านับครั้งได้ รัฐมนตรีบางคนมีโอกาสเรียกประชุมสักครั้งหรือสองครั้งเห็นจะได้ รัฐมนตรีที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งประชุมสองสามครั้ง ขณะที่การประชุมสภาลูกเสือไทยปีที่ผ่านมากำหนดวันเวลาการประชุมไว้แล้ว แต่ต้องเลื่อน และใกล้สิ้นสุดปี 2559 ยังไม่มีโอกาสเรียกประชุม ไม่ทราบว่าปีหน้า มีรัฐมนตรีคนใหม่เป็นประธานกรรมการบริหารจะมีโอกาสเรียกประชุมสภาลูกเสือไทยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นสภานายกสภาลูกเสือไทยหรือไม่

ภาระหน้าที่การจัดวาระประชุมขึ้นกับเลขานุการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อย่างน้อยในวาระเริ่มแรกของรัฐมนตรีคนใหม่ควรจะมีวาระสำคัญต่อเนื่องจากประธานคนเดิม คือเรื่องการจัดการเรื่องคณะอนุกรรมการของผู้ตรวจการฝ่ายว่าจะมีอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไร

กิจกรรมของผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายหลายฝ่ายเป็นเรื่องภายใน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างดำเนินการไปได้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะฝ่ายกิจการลูกเสือชาวบ้าน ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ แม้แต่ฝ่ายจัดผลประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติที่มีการจำหน่ายตราและสัญลักษณ์ลูกเสือซึ่งองค์การค้าคุรุสภานำไปดำเนินการตกลงผลประโยชน์ตามที่ประธานกรรมการคนเดิมได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

อีกฝ่ายที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือต่างประเทศ คือลูกเสือเอเชีย-แปซิฟิก และลูกเสือโลก ที่มีการดำเนินการต่อเนื่องมาทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการประชุมส่วนของคณะกรรมการที่กรรมการในส่วนผู้ตรวจการของไทยมีส่วนเข้าร่วม หรือการต้องเสนอตัวเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการลูกเสือเอเชีย-แปซิฟิก รวมไปถึงคณะกรรมการลูกเสือโลก

ต้องไม่ลืมว่ากิจการลูกเสือไทยได้รับความสนใจจากชาวลูกเสือโลกไม่น้อย ดังเช่นมีความพยายามที่จะให้มีการจัดประชุมระดับภูมิภาค ระดับโลกในประเทศไทยมาตลอด เช่น เมื่อต้นเดือนตุลาคม มีการประชุมคณะลูกเสือทั้งเอเชีย-แปซิฟิก และกรรมการย่อยของลูกเสือโลกไปแล้วถึง 4 ชุด

ขณะที่ยังมีการประชุมทั้งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ในแต่ละประเทศเป็นประจำ ซึ่งประเทศไทยมีอนุกรรมการคนหนึ่ง คือ ดร.สมบูรณ์ บุญศิริ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในนามประเทศไทยเป็นประจำ

 

เรื่องลูกเสือไทยกับลูกเสือโลกเกี่ยวพันกันมาตลอด เมื่อไม่นานมานี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการถวายเหรียญลูกเสือสดุดี “BRONZE WOLF” ขณะที่คนไทยคนแรกได้รับเหรียญนี้คือ นายอภัย จันทวิมล เมื่อ พ.ศ.2514 และเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นกรรมการลูกเสือโลก พ.ศ.2508-2514

การที่ลูกเสือไทยมีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมกับลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งทำให้ต่อเนื่องไปถึงการเข้าร่วมในกิจการลูกเสือโลก ไม่แต่เพียงทำให้ลูกเสือในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติได้เข้าไปเป็นกรรมการและเข้าร่วมในกิจกรรมของลูกเสือนั้น แม้แต่ในคณะลูกเสือแห่งชาติประเทศอื่น เช่น เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมลูกเสือแห่งชาติอินโดนีเซีย มีลูกเสือไทยเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง

ลูกเสือไทยยังมีโอกาสเข้าร่วมชุมนุมในคณะลูกเสือเหล่านั้น ทั้งการร่วมประชุมระดับชาติ การประชุมประเทศ หรือแม้แต่การเข้าไปมีส่วนเป็นคณะกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก คนต่อไปอีกด้วย