คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา การหักล้างตำนานของหมีขาว เกี่ยวกับคาบสมุทรไครเมีย (จบ)

“ผู้นำเผด็จการโยเซฟ สตาลิน กล่าวหาว่า ชาวตาตาร์ไครเมีย (Crimean Tatars) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของไครเมีย ให้ความร่วมมือกับนาซีซึ่งปกครองไครเมียระหว่างปี ค.ศ.1941-1944 ชาวตาตาร์ไครเมียกว่า 191,000 คนรวมทั้งเด็กทารก จึงถูกส่งตัวไปยังถิ่นทุรกันดารในฝั่งเอเชียที่เป็นเขตของรัสเซีย ปฏิบัติการครั้งนี้เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน โดยกล่าวหาว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นกบฏ ซึ่งเป็นข้ออ้าง เพราะในความจริง มีครอบครัวชาวตาตาร์กว่า 9,000 คน ทำงานในกองทัพแดงเพื่อต่อสู้กับนาซี ก็ยังไม่รอดจากการถูกเนรเทศด้วย”

นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำประเทศไทย เสนอบทความกรณีคาบสมุทรไครเมียโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครน นายพาฟโล คลิมคิน (H.E Mr. Pavlo Klimkin) ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วโลก ต่อจากตอนที่แล้ว

“ต่อมาบรรดานักรบทั้งหลายก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ต่างถูกเนรเทศแบบเดียวกับชาวตาตาร์ ได้แก่ ชาวกรีก บัลแกเรีย อาร์เมเนีย ที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรมานานหลายศตวรรษ เพียงแต่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ดังนั้น จะเหลือเพียงชาวสลาฟ ซึ่งก็คือชาวรัสเซียและยูเครนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น”

“หลังจากให้ชาวตาตาร์ออกนอกพื้นที่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์รัสเซียจำนวนกว่า 80,000 คน ได้เข้ามาแทนที่ในบริเวณอันว่างเปล่าซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมือง”

“เหตุการณ์ครั้งนี้ จึงคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการปล่อยให้อดอยากหิวโหยจนถึงแก่ความตาย (Holodomor) ในภาคกลางและภาคตะวันออกของยูเครน ปี ค.ศ.1932-1933 โดยส่วนใหญ่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองแล้วนำชาวรัสเซียเข้ามาอยู่แทน เพื่อสนับสนุนว่าไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย”

“จึงไม่ควรเรียกว่า เป็นการบังคับให้ชาวพื้นเมืองอพยพออกนอกพื้นที่ แต่ควรเรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากกว่า และในช่วง 4 ปีแรกของการอพยพ ชาวพื้นเมืองซึ่งก็คือชาวตาตาร์ได้เสียชีวิตไปกว่า 46.2% เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นยากลำบาก”

“โดยรัสเซียได้สร้างการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ Holodomor ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้น”

“ตราบใดที่สหภาพโซเวียต (USSR) ยังคงอยู่ ชาวตาตาร์ไครเมียก็ถูกห้ามไม่ให้กลับบ้านเกิดของพวกเขา แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อยูเครนได้รับเอกราช เป็นรัฐที่เพิ่งเกิดใหม่แต่ต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และการดูแลในการย้ายถิ่นฐานของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2013 ชาวตาตาร์ไครเมียกว่า 260,000 คน ก็ได้กลับบ้านเกิดของตนเอง หรือกว่า 13.7% ของจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรไครเมีย”

“สำหรับพวกเขา การยึดครองของรัสเซียครั้งล่าสุดกลายเป็นความหายนะที่แท้จริงของชาติ ผู้ที่สามารถเอาชีวิตรอดจากสตาลินมาได้ ในตอนนี้พบว่าตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในป่าช้าใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิบัติการของปูตินและในบ้านเกิดของตน ชาวตาตาร์ไครเมียสูงสุดถึง 25,000 คนถูกบังคับให้ออกจากไครเมียอีกครั้ง คราวนี้อพยพไปยังยูเครนแผ่นดินใหญ่”

“รัสเซียได้ยุติ Mejlis ซึ่งเป็นรัฐสภาแห่งชาติของชาวตาตาร์ไครเมีย รวมทั้งการระงับทางด้านสื่อ การศึกษา วัฒนธรรม และศาสนาของชาวตาตาร์ไครเมีย มีเอกสารมากมายเกี่ยวกับการทรมาน การจับกุมคุมขังโดยพลการ การถูกบังคับให้หายตัวไปโดยกองกำลังความมั่นคงและศาลของรัสเซีย”

“ตัวอย่างที่สะเทือนใจ คือกรณี อีเดน เบคิรอฟ (Eden Bekirova) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวตาตาร์ไครเมีย ได้ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2018 ขณะเดินทางเข้าไครเมียเพื่อพบมารดาอายุ 78 ปี”

“อีเดน เบคิรอฟ เป็นคนพิการชนิดรุนแรง นอกจากขากุดแล้ว ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคเบาหวาน และต้องรับการขยายหลอดเลือดแดงในหัวใจถึง 4 ครั้งหลังจากหัวใจหยุดเต้นเมื่อปีที่แล้ว การกักกันตัวโดยไม่มีการให้ยาหรือรักษาอาการ ก็เหมือนเป็นการประหารชีวิตอีกทางหนึ่ง”

“อย่างไรก็ตาม เบคิรอฟยังถูกกล่าวหาด้วยว่า พยายามที่จะลักลอบขนกระเป๋าขนาด 15 กิโลกรัม ที่เต็มไปด้วยวัตถุระเบิด แม้ว่าโดยสภาพร่างกายของเขาจะไม่สามารถยกแค่เพียงสองกิโลกรัม”

“แต่ชาวตาตาร์ไครเมียไม่ได้เป็นเพียงชนชาติเดียวที่ตกเป็นเหยื่อภายใต้การปราบปรามของรัสเซียเท่านั้น การจองจำนายโอเลก เซนต์ซอฟ (Oleg Sentsov) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวรัสเซีย-ยูเครนผู้รักชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพียงเพราะออกมาแสดงเจตนาต่อต้านรัสเซียในการผนวกไครเมียอย่างเปิดเผยนั้นเป็นที่รู้จักกันดี”

“อีกสัญลักษณ์หนึ่งของความกล้าหาญคือ นายโวโลดิเมียร์ บาลัค (Volodymyr Baluch) เชื้อสายยูเครน ถูกจับขังคุกเพียงเพราะชักธงชาติยูเครนในบ้านส่วนตัวของเขา การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิระดับชาติของรัสเซียในคาบสมุทรไครเมียได้รับการประณามซ้ำจากสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งยังต้องทำให้มากกว่านี้”

“ผมขอชักจูงให้สมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศซึ่งใส่ใจในสิทธิมนุษยชน ควรเพิ่มความพยายามเป็นสามเท่าเพื่อช่วยให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย Magnitsky ที่เกี่ยวข้องให้หนักแน่นยิ่งขึ้น”

“ความพยายามในการกำจัดชาวตาตาร์ไครเมียในปัจจุบันนั้น นับเป็นการต่อยอดอาชญากรรมที่สตาลินได้ริเริ่มไว้เมื่อปี ค.ศ.1944 ดังนั้น รัสเซียจึงทำการโฆษณาชวนเชื่อต่อ ในแง่ที่ว่า ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาโดยตลอด เพื่อเป็นการอธิบายถึงการกระทำและรักษาผลประโยชน์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

“ดังนั้น แม้ว่าการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซียจะถูกประณามในด้านกฎหมายและการเมืองแล้ว ก็ยังคงมีประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีผู้กระทำผิดใดควรจะได้รับผลประโยชน์จากการก่ออาชญากรรมดังกล่าวนี้ ไครเมียจะต้องได้รับการปลดปล่อยและชาวพื้นเมืองของไครเมียควรได้รับการคุ้มครองให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ ถึงแม้จะต้องใช้เวลาหลายสิบปีก็ตาม”

ปัจจุบันทางการยูเครนยังคงเรียกไครเมียว่า “ดินแดนไครเมียที่ถูกยึดครองชั่วคราว” และไม่เรียกพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนว่า “พรมแดน” แต่เรียกว่า “จุดควบคุมการเข้าออก” แสดงถึงการยืนยันความเป็นเจ้าของคาบสมุทรไครเมียอย่างไม่เปลี่ยนแปลง