วรศักดิ์ มหัทธโนบล : บริบทไทยต่อจีนศึกษา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ภูมิหลัง (ต่อ)

การเรียนภาษาจีนที่แตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันดังกล่าว แม้จะเห็นได้ว่าผู้เรียนในอดีตจะมีคุณภาพดีกว่าก็จริง แต่ก็ดีบนพื้นฐานที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวและใช้ตำราที่ดูยากกว่า เช่นนี้แล้วจึงมิได้หมายความว่าผู้เรียนในปัจจุบันคุณภาพด้อยกว่า

แต่ด้วยเหตุเดียวกันนี้เช่นกันที่ทำให้เห็นว่า ผู้เรียนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนจากอดีตถึงปัจจุบันมีคุณภาพดีกว่าผู้เรียนในไทย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเพื่อนบ้านเราไม่เคยสะดุดด้วยนโยบายกีดกันการเรียนภาษาจีน

ที่สำคัญ คนเชื้อสายจีนที่นั่นยังรักษาวัฒนธรรมจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมากกว่าในไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การเรียนภาษาจีนได้ดียิ่งขึ้น

จากเหตุดังกล่าวเคยมีผู้ถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วประเทศเพื่อนบ้านย่อมได้เปรียบไทยเมื่อต้องติดต่อค้าขายกับจีน เพราะภาษาจีนของเขาดีกว่าของเรา ใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาของเพื่อนบ้านก็คือ เขามีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติดำรงอยู่

คือความขัดแย้งระหว่างคนเชื้อจีนกับคนพื้นเมือง แม้ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

 

ในขณะที่ของไทยเราทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวได้หมดไปแล้ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนที่ด้อยกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งกว่าที่การกีดกันการเรียนภาษาจีนจะถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุนนั้น เวลาก็ล่วงสู่ต้นทศวรรษ 1990 ไปแล้ว

เมื่อภาษาจีนได้รับการปลดปล่อยแล้ว ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาจีนจึงต้องเริ่มต้นตั้งหลักกันใหม่ เช่นนี้แล้วย่อมต้องส่งผลต่อคุณภาพของภาษาจีนไปด้วยดังที่เห็นในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากจบชั้นประถม 4 แล้ว ทางบ้านจึงหาที่เรียนภาษาจีนให้ใหม่ ซึ่งกว่าจะหาได้อย่างมั่นคงลงตัวเวลาก็ผ่านไปเป็นปี การเรียนครั้งนี้เป็นการเรียนหลังจากโรงเรียนเลิกเรียนแล้วในตอนเย็น จากนั้นก็จะเดินทางไปยังบ้านของครูเพื่อเรียนภาษาจีน

การเรียนแบบนี้จึงเรียกว่า “เรียนพิเศษ” โดยเรียนวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวัน หยุดวันเดียวคือวันอาทิตย์ โดยวันเสาร์จะเรียนวิชาลูกคิดกับวิชาจดหมายและเรียงความสลับกันไปในแต่ละเสาร์ การเรียนพิเศษนี้ดำเนินไปจนการเรียนภาคปกติในโรงเรียนขึ้นไปถึงชั้นมัธยม 2 จึงยุติลงด้วยเหตุสุดวิสัยบางประการ

แม้จะเรียนเพียงเท่านั้นก็ยังนับว่าความรู้ภาษาจีนของตนเองไม่เลวนัก หากจะเทียบกับเด็กนักเรียนที่เรียนภาษาจีนในปัจจุบันก็นับว่าดีกว่ามาก แต่ก็ดีในเงื่อนไขดังที่กล่าวมาข้างต้นที่ว่า ตำราที่เรียนนั้นเหมาะแก่ลูกหลานจีนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัว

กล่าวอีกอย่าง หากมิใช่เพราะพื้นฐานครอบครัวเป็นดังที่ว่าก็คงไม่มีปัญญาเรียนผ่านตำราที่ว่าได้เช่นกัน

ควรกล่าวด้วยว่า หลังจากที่หยุดเรียนภาษาจีนไปแล้วก็แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับภาษาจีนอีกเลย ยิ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยด้วยแล้วก็ยิ่งห่างไกล ความรู้ภาษาจีนที่มีอยู่จึงค่อยๆ คืนครูไปทีละน้อย เหลือไว้แต่ภาษาจีนพื้นๆ ง่ายๆ

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ได้เลือกเรียนวิชาภาษาจีนถึงสี่เล่มด้วยกัน โดยสามเล่มแรกไม่เคยเข้าเรียนเลยแต่ก็สอบผ่าน จนเล่มที่สี่จึงเข้าเรียนด้วยเห็นว่าตำราที่ใช้เรียนนั้นคล้ายกับเมื่อเรียนพิเศษ หากไม่เข้าเรียนก็คงยากที่จะสอบผ่าน ยกตัวอย่างเช่น มีบทหนึ่งเป็นเรื่องสามก๊ก ที่ตัดเอาตอนขงเบ้งแล่นเรือหลอกฝ่ายโจโฉให้ยิงธนูใส่เพื่อเอาลูกธนูให้ได้สิบหมื่นดอก ที่มีเนื้อหาภาษาที่ยากพอควร เป็นต้น

ซึ่งก็สอบผ่านมาได้ในที่สุด

การห่างไกลจากการใช้ภาษาจีนเช่นนี้ดำรงอยู่นานนับสิบปี ตราบจนเรียนจบได้ปริญญาทางรัฐศาสตร์แล้วมาทำงานวิจัยที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นแล้วจึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง รื้อฟื้นแล้วได้ผลเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า

 

ความคิดความอ่าน

โดยทั่วไปแล้วการทำงานวิชาการมักมีทฤษฎีมารองรับงานที่ทำ ไม่ว่างานวิชาการนั้นจะอยู่ในสายวิทยาศาสตร์หรือสายสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ เรื่องนี้เป็นที่รู้กันในวงวิชาการจนถือเป็นเรื่องปกติ

แน่นอนว่าเรื่องปกติเช่นนี้ย่อมไม่ปกติสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในอาชีพนี้ ด้วยอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและน่าเบื่อ เพราะฉะนั้นแล้วใครที่สมัครใจมาเป็นนักวิชาการในด้านหนึ่งย่อมมาจากใจรักด้วย หาไม่แล้วก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าในอาชีพนี้ อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะใช้คำว่า “หลักคิด” แทนคำว่า “ทฤษฎี” หรือ “ปรัชญา”

ก่อนที่จะมาทำงานวิจัยที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นั้น หลักคิดที่ได้เรียนเมื่อครั้งที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นเป็นเพียงแค่พื้นฐาน และถ้าเทียบกับความลึกซึ้งแล้วก็เรียกได้ว่าอยู่ในระดับงูๆ ปลาๆ เท่านั้น โดยหลักคิดที่ว่านี้จะหนักไปทางสังคมศาสตร์เสียมากกว่า คือหนักไปในทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มีบ้างเล็กน้อยคือเศรษฐศาสตร์

ส่วนในทางมนุษยศาสตร์ที่ว่าน้อยกว่านั้นมักจะไปทางประวัติศาสตร์

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปดังที่ว่าไปแล้วว่าเป็นไปอย่างงูๆ ปลาๆ

แต่กระนั้นก็มีอยู่หลักคิดหนึ่งที่สัมผัสค่อนข้างมากในสมัยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยคือหลักคิดที่เรียกว่าลัทธิมาร์กซ์ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการฝ่ายซ้ายได้มีบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยและโดดเด่น

ตอนที่สัมผัสกับหลักคิดนี้ใหม่ๆ เป็นการสัมผัสผ่านการอ่านหนังสือในแนวนี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมามากมาย ตอนแรกๆ มักเลือกที่เป็นหนังสือที่แปลจากงานเขียนของเจ้าลัทธิทางยุโรปโดยตรง แต่ในชั้นหลังต่อมาได้รับคำแนะนำให้อ่านหนังสือชุด สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (1) เป็นหลัก ด้วยไปหลงเชื่อด้วยความไร้เดียงสาว่าเป็นงานเขียนลัทธิมาร์กซ์ที่ดีแท้

แต่ถึงจะศึกษาด้วยความไร้เดียงสาก็ใช่ว่างานเขียนชุดนี้จะไม่มีประโยชน์เสียเลยทีเดียว ประโยชน์ที่ว่าคือ ความรู้เรื่องจีนที่อยู่ในระหว่างบรรทัดของแต่ละบท ไม่เว้นแม้แต่เชิงอรรถท้ายบทที่เป็นการอธิบายขยายความซึ่งบางครั้งก็ให้ความรู้เรื่องจีนเช่นกัน

ในที่นี้จะยกความรู้เรื่องหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเล่มที่ 5 (ตอนต้น) ของหนังสือชุดดังกล่าวในบทที่ว่าด้วย “วิพากษ์ลัทธิคลั่งชาติฮั่น” มาให้เห็นเป็นตัวอย่าง

 

เนื้อหาในบทนี้ทำให้เรารู้ว่าหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ.1949 แล้วก็ได้ส่งสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานพรรคจำนวนหนึ่งไปทำงานในพื้นที่ที่มีชนชาติที่มิใช่ฮั่นอาศัยอยู่ แต่กลับปรากฏว่า ในบรรดานี้มีไม่น้อยที่มีท่าทีดูถูกดูแคลนชนชาติเหล่านี้

เหมาเจ๋อตุงซึ่งเป็นผู้นำในขณะนั้นจึงวิจารณ์สมาชิกและผู้ปฏิบัติงานพรรคเหล่านี้ว่า ยังมีความคิดลัทธิคลั่งชาติฮั่นอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้บุคคลเหล่านี้แก้ไขความผิดพลาดนี้โดยเร็ว หาไม่แล้วก็จะเป็นอันตรายอย่างมาก

งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นในราวต้นปี ค.ศ.1953 แสดงว่าเหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ด้วยเรื่องนี้เองที่ทำให้รู้ว่าลัทธิคลั่งชาติฮั่นมีอยู่จริง และที่แทบไม่น่าเชื่อเลยก็คือ บุคลากรพรรคที่เชิดชูความเสมอภาคของมนุษย์ก็ยังมีความคิดในลัทธินี้ด้วย

อนึ่ง ลัทธิคลั่งชาติฮั่น (Han chauvinism) หมายถึง ลัทธิที่ชนชาติฮั่น (จีน) เชื่อว่าตนมีความเหนือกว่าชนชาติอื่น ความเชื่อนี้นำไปสู่การดูถูกดูแคลนชนชาติอื่นว่าต่ำต้อยกว่าตน

ฐานคิดนี้มีมาตั้งแต่อดีตหลังจากที่จีนได้สร้างอารยธรรมของตนจนตั้งมั่นได้แล้ว จากฐานคิดนี้ทำให้จีนดูแคลนชาติอื่นว่าเป็นชนชาติป่าเถื่อน ต่อมาฐานคิดนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นความเชื่อว่าชาติตนยิ่งใหญ่กว่าชาติอื่นใด จนกลายมาเป็นลัทธิคลั่งชาติฮั่นไปในที่สุด

จะเห็นได้ว่าลัทธิคลั่งชาติเช่นนี้มักจะเกิดกับชาติที่มีความเจริญสูง ดังจะเห็นได้จากชนผิวขาวมักดูแคลนชนผิวสีแม้ในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ยกเอาเรื่องนี้มาเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความรู้เรื่องจีนนั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่ปัจจุบันนี้เริ่มมีการอภิปรายและสงสัยกันว่า ฤๅลัทธิคลั่งชาติฮั่นกำลังจะหวนกลับมาในยุคสีจิ้นผิงนี้

ซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

————————————————————————————————————————–
(1) หมายถึง สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (ปักกิ่ง : สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ). งานชุดนี้แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย โดยในชุดนี้ในภาษาจีนมีอยู่ห้าเล่ม แต่ฉบับภาษาไทยจะแบ่งแต่ละเล่ม (จากห้าเล่ม) เป็นสองเล่มย่อยแล้วเรียกเล่มแรกว่าตอนต้น เรียกเล่มที่สองว่าตอนปลาย ดังนั้น ฉบับภาษาไทยจึงมีสิบเล่ม