คำ ผกา : คนไม่เชื่อ(ง)

คำ ผกา

จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายอะไรนักที่ผลการสอบ PISA1 ของนักเรียนไทยจะอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างแย่

นั่นคือได้อันดับที่ 54 จาก 70 ประเทศ คะแนนเฉลี่ยที่ 421 คะแนน ในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ส่วนการอ่าน อันดับที่ 57 ต่ำกว่าวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยซ้ำไป

คนไทยหลายคนก็ช็อกและกรี๊ดหนักมากเมื่อเห็นว่าเวียดนามคะแนนสูงลิ่ว โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ได้คะแนนเป็นอันดับ 8

ไม่ต้องพูดถึง สิงคโปร์ ที่ได้อันดับ 1 ทั้งสามด้าน

เหตุที่ช็อก และมักพูดว่า “ดูสิ เวียดนามแซงไทยไปแล้ว”

อาจเป็นเพราะสำนึกของคนไทยเราไม่ค่อยให้ความเคารพนับถือประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนสักเท่าไหร่ มีแนวโน้มจะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เขมร พม่า เวียดนาม ต่ำกว่าตัวเองเสมอ บางทียังไปดูถูกเรียกเขาเป็นญวน เป็นแกว เป็นคอมมิวนิสต์เสียอีก

แต่เผลอแป๊บเดียว ประเทศอย่างเวียดนามก็เดินไปข้างหน้าลิ่วๆ ไม่สนไม่แคร์ประเทศสวยๆ หยิ่งๆ อย่างไทยเลย

sekil1

ธนาคารโลกบอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมการศึกษาของเวียดนาม นอกจากสัดส่วนของงบประมาณการศึกษาต่อจีดีพีจะสูงมากแล้ว นักเรียนเวียดนามมีความขยันและมีวินัยบวกกับความคาดหวังและแรงผลักดันจากพ่อแม่มีสูงมาก

เรื่องการลงทุนทางการศึกษา และงบประมาณจากรัฐนั้น ของไทยก็สูงมากเช่นกัน นั่นคือเท่ากับประเทศญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นคะแนน PISA ยกเว้นการอ่าน สูงเป็นอันดับสองของโลก

นอกจากนี้ ธนาคารโลกก็ไม่ได้บอกว่า นักเรียนเวียดนามไปกินอะไรมาถึงขยันกว่าคนอื่น และก็ควรจะบอกด้วย เราจะได้เอาสิ่งนั้นไปให้นักเรียนชาติอื่นได้กินบ้าง

คำอธิบายว่า จากนักเรียนเวียดนามขยันอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะมันต้องอธิบายได้ว่า ปัจจัยผลักดันให้เขาขยัน มีวินัยคืออะไร เช่น แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ความกดดันจากพ่อแม่ จากรัฐบาล เป็นต้น

เพราะความขยันคงไม่ได้มาจากสายเลือดว่าเพราะเป็นคนเวียดนามไง อะไรทำนองนั้น

แต่ช่างเถอะ เอาเป็นว่า อย่างน้อยเราไม่ควรช็อก ที่เวียดนามแซงไทย เพราะเขาแซงเราในหลายเรื่อง แซงมานานแล้ว

และเราไม่ควรลืมว่า เวียดนามเป็นสังคม “ตัวอักษร” มาก่อนใครในเหล่าประเทศอุษาคเนย์ เนื่องจากอิทธิพลของจีน มีระบบสอบจอหงวน มีหอสมุด และมีความเป็นขงจื๊อ ที่เน้นคุณค่าความขยัน กตัญญู เหมือนจีน เกาหลี และจีนในสิงคโปร์

และนั่นอาจเป็นมิติทางวัฒนธรรมของเวียดนามที่ต่างไปจากประเทศอุษาคเนย์อื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย ที่ดูเหมือนจะไม่เคยออกจากวัฒนธรรมมุขปาฐะ และมักอยู่กับความเชื่อความศรัทธามากกว่าเหตุผลและความจริง

 

ส่วนญี่ปุ่นนั้นแม้จะได้คะแนนสูงเป็นลำดับที่ 2 ในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ได้รับคำท้วงติงจากจาก ผอ.ด้านการศึกษาและทักษะของ OECD อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาพิเศษทางนโยบายด้านการศึกษาแสดงความกังวลว่าเด็กญี่ปุ่นแม้จะทำคะแนนได้ดีในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่เด็กมีความสนใจที่จะทำงานในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน มีแรงบันดาลใจที่จะทำงานในสายนี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนทำคะแนนให้ดี แต่ต้องทำให้นักเรียนเห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น ถ้ามีแล้ว และทำได้ดีแล้ว มันจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้อย่างไร

โอว ฟังแล้วรู้เลยว่า งาน PISA นี่เขาเก็บงานเนี้ยบ เก็บงานละเอียด และไม่ใช่การสอบเพื่อวัด “ความเก่ง” ของนักเรียนอย่างเดียว

แต่วัด “ศักยภาพ” วัดกึ๋น วัดวิสัยทัศน์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศ ไม่ใช่สักแต่เรียนๆ สอบๆ ให้ได้คะแนนสูงๆ แต่ต้อง “อิน” กับสิ่งที่เรียนเพื่อเอาไปใช้ เอาไปทำงาน

 

ส่วนที่รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลคือ คะแนนด้านการอ่านที่ตกลงมาจากอันดับสี่ของโลกในปี 2012 เป็นอันดับแปดของโลก

โดยที่ทางกระทรวงศึกษาฯ ของญี่ปุ่นบอกว่า ทักษะการอ่านที่อ่อนลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกตัวอักษรและความรู้แบบดิจิตอล ที่ตอนนี้นักเรียนญี่ปุ่นแทบจะเลิกอ่าน “หนังสือ” จากกระดาษ แต่หันไปอ่านออนไลน์จากสมาร์ตโฟนกันหมด

ผลการสำรวจพบว่ามีแต่หนังสือเรียนเท่านั้นที่นักเรียนญี่ปุ่นอ่านจาก “หนังสือ” ที่เป็นหนังสือจริงๆ และการอ่านหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้อาจหนักถึงขั้นที่มีนักเรียนอ่านหนังสือเรียนไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะไม่รู้คำศัพท์ ซึ่งต้องการแก้ไขในเรื่องนี้ (ขนาดอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องยังได้อันดับแปด)

ในปี 2003 ญี่ปุ่นมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า PISA shock เพราะอันดับความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนญี่ปุ่นจากอันดับท็อปตกลงเป็นอันดับ 6 และการอ่านตกจากอันดับ 8 ไปเป็นอันดับที่ 14

ทำให้กระทรวงศึกษาฯ ญี่ปุ่นต้องมาปรับปรุง ผ่าตัด รื้อระบบการศึกษากันยกใหญ่

และนั่นทำให้เกิดนโยบาย “การศึกษาอย่างผ่อนคลาย” หรือ Relax Education ในปี 2008

จนกระทั่ง อันดับความสามารถของนักเรียนญี่ปุ่นดีขึ้นมาอีกในปี 2012 และปี 2016

จะเห็นว่า ผลการสอบ PISA มีผลต่อนโยบายการศึกษาของแต่ละประเทศ เพราะนี่ไม่ใช่การวัดความสามารถของนักเรียน แต่วัดความสำเร็จของแต่ละประเทศว่าสามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้หรือไม่

การได้ลำดับต่ำของ PISA ไม่ใช่ความล้มเหลวของนักเรียน แต่เป็นการประกาศความล้มเหลวของระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ

และหากดูโมเดลของญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือเวียดนาม เราจะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีผลสอบออกมา จะมีการคอมเมนต์ และการให้คำแนะนำจากฝ่ายพัฒนาการศึกษาและทักษะของ OECD – ซึ่งประเทศที่ใส่ใจเรื่องคุณภาพพลเมืองจะนำคำแนะนำเหล่านั้นมาศึกษาเพิ่มและวางแนวทางนโยบายเพื่อปรับปรุงให้มันดีขึ้น

การปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ไม่ใช่ว่าผลออกมาวันนี้ อีกสามเดือนกระทรวงศึกษาฯ ประกาศเปลี่ยนหลักสูตรหรือยกเครื่องการศึกษาได้ทันที

นับจากปรากฏการณ์ PISA shock ปี 2003 รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เวลาอีกถึง 5 ปีกว่าจะเปิดตัวการศึกษาแนวใหม่ที่เรียกว่า relax education ได้

นั่นแปลว่า 5 ปีนั้น กระทรวงศึกษาฯ ต้องทั้งทำวิจัย วางแผน วางยุทธศาสตร์ วางแนวทางการฏิบัติ พูดง่ายๆ คือ ต้องใช้เวลาในการคิดสะระตะ ให้ทุกอย่างออกมาโดยมีความผิดพลาดน้อย มีความสัมฤทธิผลที่แท้จริง โรงเรียนและครูนำไปปฏิบัติได้จริง สื่อการเรียนการสอนพร้อมรองรับไม่ขาดตกบกพร่อง

รวมไปถึงการพัฒนาครู

 

ห้วงระยะเวลา 3 ปีที่ PISA จัดสอบครั้งหนึ่ง ก็เท่ากับว่าแต่ละประเทศมีเวลาอย่างน้อย 3 ปี ที่จะปรับปรุงการศึกษาในประเทศของตนเองก่อนจะรู้ผลลัพธ์ของมันอีกครั้ง และใครๆ ก็รู้ว่าการวางนโยบายและแผนงานการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้ยาว ทำกันให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่มีผลสอบอะไรออกมาทีก็ตื่นตระหนกที เปลี่ยนหลักสูตรที เปลี่ยนกิจกรรมกันที โดยไม่เคยมีแผนงานพิมพ์เขียวยาวๆ ไว้ให้เป็นกรอบของการทำงานเลย (เอ่อ แต่เราก็กำลังจะมีพิมพ์เขียวของชาติที่ชื่อว่า แผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปีนะ)

แล้วไอ้แผนยาวๆ เพื่อสร้างระบบการศึกษาของชาติ ที่แปลว่ามันคือการสร้าง “คน” ของชาติ เราทุกคนก็รู้กันดีว่า มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องเทคนิค การวางหลักสูตร ทฤษฎีการศึกษา จะเป็น child center หรือจะเป็นควายเซ็นเตอร์ มันไม่ใช่เรื่องปลีกย่อยว่า จะให้ใครเขียนตำราเรียน จะพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอย่างไร จะแต่งเพลงอะไรมากระตุ้นจิตสำนึกนักเรียน ฯลฯ

แต่นโยบายการศึกษาสะท้อนอุดมการณ์ของ “รัฐ” นั้นๆ

เช่น ในสหรัฐอมเริกา นโยบายการศึกษาในยุคแรกที่ Thomas Jefferson วางเอาไว้คือ การศึกษาต้องมีขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เรียนรู้หน้าที่ของพลเมืองในประเทศระบอบประชาธิปไตย

และด้วยฐานคิดนี้ รัฐมองว่า การศึกษาคือความหวังสำหรับอนาคตที่เราฝากไว้ในมือของเยาวชน

ดังนั้น หน้าที่ของการศึกษาคือ ต้องเป็นการศึกษาที่ให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้ ได้สำรวจ หาความสนใจของตนเองและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ได้รับการฝึกฝนเพื่อพัฒนาไปเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศชาติและสังคม

อุดมการณ์ของรัฐแบบนี้มองการศึกษาว่าเป็น social hope หรือ ความหวังทางสังคม

คือเป็นทั้งพลเมืองที่จะเสริมความแข็งแร่งให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและพลเมืองที่มีศักยภาพในการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ (คล้ายๆ ที่ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยพูดในทำนองว่า ประชาธิปไตยมีเพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพของปัจเจกบุคคล) เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐจึงมีหน้าที่จัดบริการการศึกษาให้ประชาชนฟรี หรือในราคาที่ถูกที่สุด

ในกรณีที่เป็นมหาวิทยาลัย ต้องทำโรงเรียนอาชีวะให้คนมีอาชีพ และเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะถ้ารัฐไม่ลงทุนตรงนี้ ในอนาคต รัฐได้พลเมืองที่ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่มีใครทำงานมาจ่ายภาษี แถมคนยังหันหลังให้ประชาธิปไตย ไม่คิดว่าชาติบ้านเมืองเป็นของตัวเอง ชาติก็จะต้องล่มสลายลงไปอย่างแน่นอน

เพื่อบรรลุผลในการสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ (นี่คือสิ่งที่ทรัมป์นำกลับมาให้กับอเมริกันชนในแคมเปญการหาเสียงของเขาคือ make America Great Again) รัฐต้องอุดหนุนการศึกษาทั้งในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม รวมไปถึงสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์

เพราะทุกสาขามีส่วนในการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้กับสังคม

แต่เมื่อตลาดและทุนเปลี่ยนรูปแบบของมันไป แนวคิดประชาธิปไตยแบบเน้นหน้าที่พลเมืองเปลี่ยนเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่มาพร้อมกับการแข่งขันในตลาดเสรี

เริ่มมีการมองว่า เยาวชนไม่ใช่ “ชนชั้นพิเศษ” ที่รัฐต้องเข้าไปถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แต่ควรสนับสนุนให้เขาได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดมากกว่า โดยเฉพาะการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รัฐจึงอุดหนุนมหาวิทยาลัยน้อยลง ค่าเทอมแพงขึ้น มหาวิทยาลัยต้องพยายามทำกำไรจากการให้บริการทางการศึกษามากขึ้น และสิ่งที่รัฐจะให้คือ เงินกู้ยืมทางการศึกษา

พอการศึกษาเป็นเรื่องเงินกู้ และการอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแล้ว จากการที่เราเห็นว่าพลเมืองเรียนเพื่อ สร้างชาติ สร้างสังคม เยาวชนเลยต้องเรียนเพื่อตัวเอง และเงินกู้

คือ ต้องเรียนสาขาที่หางานทำง่าย สร้างรายได้สูง หาไม่แล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ค่าเล่าเรียน

การศึกษาจึงกลายเป็น “ทางเลือก” ของปัจเจกบุคคล เป็น personal choice ใน education market หรือตลาดการศึกษา

 

นี่คือการเปลี่ยนผ่านของนโยบายการศึกษาจาก social coperation มาสู่การเป็นตลาดหนึ่งในโลกเสรีที่ทุกคนล้วนมี “ทางเลือก” และ “ราคาที่ต้องจ่าย” สำหรับตัวเอง

ใครอ่อนแอก็แพ้ไปทั้งผู้สอนผู้เรียน

สาขาไหนไม่มีคนเรียน ไม่ทำเงินก็ต้องยุบ

นักเรียนนักศึกษาผู้ปกครองก็มองว่าการเรียนคือการ “ลงทุนส่วนบุคคล” โดยตัวเองหรือครอบครัว (ที่ตอนนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามันสร้างความเหลื่อมล้ำและเป็นเหตุแห่งความยากจนของคนอเมริกัน)

มองจากมุมของ PISA ดูเหมือนว่า PISA ยังเห็นว่าการศึกษา แม้จะไม่สุดขั้วจนเป็นสวัสดิการรัฐแบบหลายประเทศในยุโรป (เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย) แต่อย่างน้อยต้องเป็น social coperation

รัฐต้องเห็นการศึกษาว่าคือการสร้างคน สร้างชาติ ส่งเสริมศักยภาพคนมีค่าเท่ากับการสร้างความมั่นคง สร้างความวัฒนาถาวรให้กับประเทศหรือรัฐนั้นๆ

พูดภาษาเชยๆ ว่า การศึกษาสร้างคน ประชาชนสร้างชาติ (เชยกว่านี้มีอีกไหม)

แต่เดี๋ยว – นี่ก็เป็นปรัชญาการศึกษาของรัฐไทยมาโดยตลอดไม่ใช่หรือ?

การที่รัฐไทยให้งบฯ กระทรวงศึกษาฯ สูงลิ่วมาอย่างต่อเนื่องก็เพราะอยากสร้างคนสร้างชาติ ใช่หรือไม่?

แต่การสร้างคนสร้างชาติในระบบการศึกษาไทย มันดันไม่ใช่การสร้างคนให้เป็น “พลเมือง” ไม่ได้มองเห็นว่า ความมั่งคั่ง มั่นคงของชาติ มันต้องสร้างจากน้ำมือ น้ำพักน้ำแรงของพลเมืองในรัฐ

ถ้าพลเมืองของรัฐไม่มี literacy (ปัญญาญาณ) ในด้านใดเลย ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นจะไม่เติบโต ไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา เพราะเต็มไปด้วยพลเมืองที่ “คิดไม่เป็น” ต่อยอดการเรียนรู้ไม่ได้ ง่ายต่อการถูกหลอกลวง หรือแม้แต่จะเป็นทักษะแรงงานที่ “คิดเป็น” และทำอะไรได้มากก่าการทำตามคำสั่ง ก็ยังยาก

ถึงตรงนี้ ฉันไม่กังวลกับผลของ PISA เท่ากับการฉุกคิดว่า ท้ายที่สุดแล้วอุดมการณ์ของรัฐไทยตลอดหก-เจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา เป็นอุดมการณ์ที่แบบไหน จึงทำให้ต้องออกแบบระบบการศึกษามาแบบกลัวคนฉลาด กลัวคนคิดเป็น และมีกระบวนการทำลาย self esteem (ความภาคภูมิใจในตัวเอง) ของพลเมืองอย่างเป็นระบบ

แต่สร้างระบบการเอาคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ไปผูกไว้กับสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา ราวกับว่าปราศจากสิ่งนั้น สิ่งนี้ ชีวิตเราโดยลำพังตัวเองจะไม่มีความหมาย ไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ในนามของตนหรือในนามแห่งคุณค่าสากลแห่งโลกวิสัย

หวั่นใจเหลือเกินว่า คำตอบของมันจะเป็นอุดมการณ์ว่าด้วยการไม่เห็นคนเป็นคน หรือเห็นคนไม่เท่ากัน

 


1การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ซึ่งริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี เน้นประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ 15 ปี เกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง ปัจจุบันมีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ โดยไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 การประเมินมีขึ้นทุกๆ สามปี