ผิดตาเดียว ล้มทั้งกระดาน? ประชาธิปัตย์ พรรคต่ำร้อย บทอาลัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศทิ้งเก้าอี้ “กัปตันเรือ”

“เป็นที่แน่ชัดว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ผมตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันดับที่นั่ง หรือจำนวนที่นั่ง ผมต้องขอโทษผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน ที่ไม่สามารถผลักดันแนวคิดของเราให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้–

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าองค์กร ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่บัดนี้–”

คือคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม ทันทีหลังรับทราบผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่ทางการกว่าร้อยละ 90 ว่าประชาธิปัตย์น่าจะได้รับเลือกตั้งน้อยกว่า 100 ที่นั่ง

สืบเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกกำหนดให้เป็นสนามต่อสู้ระหว่างฝ่ายสืบทอดอำนาจ นำโดยพลังประชารัฐ กับฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยเพื่อไทย

สำหรับประชาธิปัตย์ การไม่แสดงจุดยืนการเมืองชัดเจน นอกจากถูกเรียกว่าฝ่าย “แทงกั๊ก” ยังทำให้กระแสความนิยมพรรคเจือจาง โอกาสพ่ายแพ้เลือกตั้งมีสูง

เป็นเหตุให้นายอภิสิทธิ์ต้องปลุกขวัญผู้สมัคร ส.ส.พรรค ประกาศนำเก้าอี้ของตัวเองเป็นเดิมพัน หากพรรคได้รับเลือกตั้งต่ำกว่า 100 ที่นั่ง จะลาออก

เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ถึงยังไม่เป็นทางการ แต่นายอภิสิทธิ์ก็รักษาสัจจะ

“ความตั้งใจของผมในการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนและพรรคไม่มีเสื่อมคลาย แต่ผมต้องรักษาคำพูด เพราะหนึ่งในเรื่องที่เราจะต้องสร้างให้ได้ ก็คือสัจจะของนักการเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนเปลี่ยนสถานะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคโดยสมบูรณ์

การที่ประชาธิปัตย์เป็น “พรรคต่ำร้อย” ไม่เพียงสร้างความบอบช้ำให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังส่งผลให้พรรคตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก

การเป็นพรรคต่ำร้อยนี้ ถึงจะไม่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์จากโพลหลายสำนัก หรือกระทั่งโพลที่จัดทำขึ้นเป็นการภายในของพรรคคู่แข่งอย่างพลังประชารัฐ และเพื่อไทย

แต่การต่ำร้อยมากกว่า 40 ที่นั่ง ส่งผลให้คนในแวดวงการเมือง “ช็อก” พอสมควร ก่อนตามมาด้วยคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับพรรคเก่าแก่ที่สุดในสนามการเมืองไทย

ทั้งนี้ ผลคะแนนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่เป็นทางการ ประชาธิปัตย์อยู่ที่ 56 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 33 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 ที่นั่ง คะแนนรวมทั่วประเทศ 3.7 ล้านเศษ

เมื่อเทียบกับเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขต 115 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44 ที่นั่ง รวม 159 ที่นั่ง คะแนนรวมกว่า 11.4 ล้านคะแนน

หรือในการเลือกตั้งปี 2548 ประชาธิปัตย์ในยุคนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ถึงจะต่ำร้อยแต่ก็ได้มาในระดับ 96 เสียง

จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้ง 2562 สื่อหลายสำนักพร้อมใจกันสรุปสถานการณ์ของประชาธิปัตย์ เป็นความพ่ายแพ้ชนิด “ยับเยิน” มากที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ฐานที่มั่นสำคัญถูกพรรคคู่แข่งเจาะทะลวงตีแตกหลายจุด

นักการเมืองอดีต ส.ส.คนดังสอบตกกันระนาว อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายศิริโชค โสภา ฯลฯ แม้แต่ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พื้นที่บ้านเกิดนายชวน หลีกภัย ก็ยังพ่ายให้กับพลังประชารัฐ

ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์เคยเป็นแชมป์เก่า เลือกตั้งปี 2554 ได้ ส.ส. 23 ที่นั่งจาก 33 เขต มาเลือกตั้งปี 2562 กรุงเทพฯ แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็น 30 เขต ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ถึงขั้น “สูญพันธุ์”

ไม่ได้รับเลือกแม้แต่เขตเดียว

ความพ่ายแพ้เละเทะของประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการเลือกตั้ง

ส่งผลให้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาทั้งจากคนนอกและคนในพรรค ถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปัตย์ต่ำร้อย เป็นพรรคอันดับ 4

ต่ำกว่าคู่ปรับเก่าอย่างเพื่อไทย คู่ปรับใหม่อย่างพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เพิ่งก่อตั้งไม่ถึงปี

เสียงวิพากษ์วิจารณ์มีตั้งแต่การที่อดีต ส.ส.ไม่อาจต้านทาน “พลังดูด” ตัดสินใจย้ายค่ายไปหลายคน

บางส่วนย้ายไปอยู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคและผู้นำ กปปส. เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

รอยปริแตกในพรรคยังเริ่มแสดงให้เห็นเด่นชัด ในการหยั่งเสียงไพรมารีโหวตเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค

ที่ถึงแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเอาชนะผู้ท้าชิงอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ไปได้ แต่ก็ด้วยคะแนน 67,505 ต่อ 57,689 ทิ้งห่างกันไม่มาก

ขณะที่ นพ.วรงค์ ซึ่งมีนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส.เป็นพี่เลี้ยง ถูกมองว่าเป็นตัวแทนจากสายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งลงแข่งเพื่อยึดพรรคไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประเด็น “ยึดพรรค” นี้ลุกลามไปถึงการจัดคนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ จนหวุดหวิดแตกหักกันตั้งแต่ตอนนั้น

ขณะที่แนวคิด “3 ก๊กการเมือง” ของนายอภิสิทธิ์ ในการชูประชาธิปัตย์เป็น “พรรคทางเลือกที่สาม” นอกเหนือจากเพื่อไทยและพลังประชารัฐ

จากผลเลือกตั้งที่ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็น

แนวคิดพรรคทางเลือกที่สามไม่เหมาะกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีแนวคิดเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ เลือกอยู่กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ หรือเลือกอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย

ไม่มีทางเลือกอื่น

หลังกลายเป็น ส.ส.สอบตก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กึ่งวิเคราะห์ กึ่งต่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหมือน “กัปตันเรือ” ที่ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่

นำพาเรือประชาธิปัตย์อับปางเกือบเหลือแต่ซาก

กำหนดทิศทางเรือผิดพลาด ไม่รบศัตรูเดิม เปิดศึกสร้างศัตรูใหม่ทั้งที่น่าจะเป็นแนวร่วม เล่นในเกมที่คนอื่นกำหนด ขณะที่กำลังรบไม่มาก ทำให้คนดูที่มีอำนาจลงคะแนนไม่พอใจ

สุดท้ายประชาชนก็ลงโทษ

“อย่ามองกันในแง่ร้ายว่าจะมายึดเรือลำนี้ เพราะพวกเราต้องอยู่ร่วมกัน ขอให้เพียงแต่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่เอาแต่พรรคพวก เปิดใจให้กว้างกับคนคิดต่าง เพราะการคิดเหมือนกัน ได้พิสูจน์ว่าล้มเหลว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ แล้ว”

ขณะที่คนนอกอย่างนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวถึงวิกฤตประชาธิปัตย์ เริ่มจากสำนวน “เดินหมากผิดตาเดียว ล้มทั้งกระดาน”

นายอภิสิทธิ์เหมือนพระเอกเรตติ้งตก เข็นไม่ขึ้น 3 ครั้งนำเลือกตั้งแล้วแพ้เพื่อไทย ทำให้คนหมดหวังกับนายอภิสิทธิ์ ประชาธิปัตย์กระแสหาย เหลือแค่พลังประชารัฐกับเพื่อไทย

นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจเดินหมากพลาดครั้งใหญ่หลวง ที่เอ่ยปากก่อนเลือกตั้งสองสัปดาห์สุดท้ายว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อหวังกระตุ้นกระแสพรรค ตอกย้ำว่าไม่สนับสนุนสืบทอดอำนาจ

สิ้นประโยคนี้ทำให้สะเทือนตั้งแต่กรุงเทพฯ ยันภาคใต้

“เขาต้องการเลือกพรรคไปคานอำนาจกับเพื่อไทย เพราะรู้ดีว่าแข่งกี่ครั้งเพื่อไทยก็ชนะ หากยังเลือกประชาธิปัตย์ไปก็เสียของ จึงเฮโลไปเลือกพลังประชารัฐ เพื่อให้ไปคานอำนาจกับเพื่อไทยแทนเสียดีกว่า”

นายอภิสิทธิ์ถูกตอกฝาโลงโดย “สุเทพ” ว่า “อยากถามอภิสิทธิ์ว่า ตกลงยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่ไหม” แถมยังตบท้าย “อยากเป็นนายกฯ จนไม่เห็นหัวกูแล้วใช่ไหม”

ทำให้คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ขวัญกระเจิง หันไปเทคะแนนให้พลังประชารัฐ

“เอาลุงตู่ไปชนกับทักษิณดีกว่า” นายชูวิทย์กล่าวสรุปสถานการณ์

ผลลัพธ์เลือกตั้ง 24 มีนาคม สำหรับประชาธิปัตย์ไม่อาจกลับไปแก้ไขใดๆ ได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงสปิริตแล้วด้วยการลาออกจาก “กัปตันเรือ”

ที่เหลือจากนี้ ภายใต้การช่วงชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาลระหว่างฟากฝั่งประชาธิปไตยกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ ซึ่งกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

อนาคตของประชาธิปัตย์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ ส.ส.อีกกว่า 50 คนที่สอบผ่านเลือกตั้งเข้ามาได้

หากบอกว่าจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคต่ำร้อย

แล้วจะอธิบายอย่างไรกับคะแนนกว่า 3.7 ล้านเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ เป็นคะแนน “แฟนพันธุ์แท้” ของพรรคที่เห็นด้วยกับจุดยืนของนายอภิสิทธิ์หรือไม่

การตัดสินใจของประชาธิปัตย์ว่าจะเลือกยืนข้างฝ่ายใด จำเป็นต้องคำนึงถึง 3.7 ล้านเสียงนี้หรือไม่ เพราะเป็นคะแนนที่เลือกประชาธิปัตย์แบบบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

ผลการตัดสินใจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ประชาธิปัตย์จะเยียวยาตัวเองเพื่อรอเวลาฟื้นคืนจากหลุม หรือจะขุดหลุมฝังตัวเองให้จมลึกลงไปยิ่งกว่าเดิม