สุจิตต์ วงษ์เทศ /สุโขทัย 2,000 ปี รัฐไทย จากความไม่ไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุโขทัย 2,000 ปี

รัฐไทย จากความไม่ไทย

 

สุโขทัย มีกำเนิดและเติบโตจากคนไม่ไทยหลายเผ่าพันธุ์ หรือร้อยพ่อพันแม่ พูดภาษาต่างๆ กัน ต่อมาการค้าทางไกลขยายกว้างขวางขึ้นจึงใช้ตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลาง ครั้นนานไปภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจสถาปนาเรียกตนเองว่าไทย

[เชื้อชาติไทย ชนชาติไทย ไม่มีในโลก แต่ถูกทำให้มีในไทยราว 100 ปีมานี้เอง]

ประวัติศาสตร์ไทยของทางการเป็นงานวรรณกรรมร่วมสมัย ที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองชาตินิยมของกลุ่มชนชั้นนำ โดยไม่พบหลักฐานวิชาการรองรับทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีเรื่องสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

ดังนั้น จำเป็นต้องร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏ

 

จากบ้าน เป็นเมือง เป็นรัฐ

 

รัฐสุโขทัยมีความเป็นมา (หรือพัฒนาการ) หลายพันปีแล้ว เริ่มตั้งแต่บ้าน (หมู่บ้าน) นานเข้าก็กลายเป็นเมือง กระทั่งเติบโตเป็นรัฐ จากการค้าแร่ธาตุและของป่าที่หาได้บนพื้นที่นั้น กับขนย้ายจากที่อื่น

ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่บริเวณชุมทางเส้นทางคมนาคมการค้าภายในภาคพื้นทวีป ตามแนวเหนือ-ใต้ (ตั้งแต่ทางใต้ของจีน ถึงอ่าวไทย) ตัดกับแนวตะวันตก-ตะวันออก (ตั้งแต่อ่าวเมาะตะมะ ถึงลุ่มน้ำโขง และอ่าวตังเกี๋ย)

[เรียบเรียงโดยสรุปสั้นๆ อ่านง่ายๆ จากงานวิจัยและจากบทความหลายเรื่องเกี่ยวกับกรุงสุโขทัย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม รวมถึงบทความในการประชุมวิชาการเกี่ยวกับเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2539 (ร่วมจัดโดย กรมศิลปากร, บางกอกแอร์เวย์ส, มติชน) แล้วพิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย (สำนักพิมพ์มติชน รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540)]

จากบ้าน เป็นเมือง แล้วเป็นรัฐสุโขทัย โดยสรุปกว้างๆ อย่างง่ายๆ มีดังนี้

  1. บ้าน 2,000 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.500]

ชุมชนหมู่บ้านสมัยเริ่มแรกในหุบเขา มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนค้าขายแร่ธาตุและของป่าซึ่งมีอุดมสมบูรณ์

พบหลักฐานจำนวนมากเกี่ยวกับเครื่องมือเหล็ก อายุ 2,000 ปีมาแล้ว ปัจจุบันอยู่บริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน เรียก บ้านวังหาด (ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย) และพบกล่องหินเกี่ยวกับพิธีศพบนพื้นที่บ้านวังประจบ (ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก)

กล่องหินบ้านวังประจบ เป็นวัฒนธรรมหินตั้ง 2,500 ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานสำคัญมากเกี่ยวกับความเป็นมาของรัฐสุโขทัย แต่ถูกละเลยจากสถาบันการศึกษาด้านนี้ และหน่วยงานเกี่ยวข้องในกระทรวงวัฒนธรรม น่ามหัศจรรย์ใจ

  1. เมือง 1,500 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.1000]

บ้านเมืองน้อย มีหลายแห่งกระจายบนเส้นทางคมนาคม ลุ่มน้ำปิง-ยม-น่าน มีขึ้นจากการค้าทางไกลสมัยการค้าโลกเริ่มแรก (ตรงกับสมัยทวารวดี) เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว (หรือราวหลัง พ.ศ.1000)

พบหลักฐานสำคัญ ได้แก่ หลุมฝังศพตระกูลคนชั้นนำของเมืองสมัยนั้นในวัดชมชื่น (เชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย), พระพุทธรูปหิน 2 องค์ ขนาดใหญ่ (แบบทวารวดี) บนเขาสะพานหิน (วัดสะพานหิน อ.เมือง จ.สุโขทัย)

ชุมชนเมืองบริเวณที่ราบเชิงเขา 1,500 ปีมาแล้ว (หรือราวหลัง พ.ศ.1000) ขยับขยายเติบโตขึ้นจากบ้านเมืองน้อย พบหลักฐาน ได้แก่ ปรางค์เขาปู่จา บนยอดเขาปู่จา (บ้านนาเชิงคีรี ต.นาสระ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย), วัดศรีสวาย กลางเมืองสุโขทัย (อ.เมือง จ.สุโขทัย), ศาลตาผาแดง กลางเมืองสุโขทัย (อ.เมือง จ.สุโขทัย)

  1. รัฐ 800 ปีมาแล้ว [ราวหลัง พ.ศ.1700]

รัฐสุโขทัย เติบโตกว้างใหญ่จากชุมชนเมืองหลายแห่งบริเวณที่ราบเชิงเขา (ที่มีมาก่อน ตั้งแต่ราว พ.ศ.1500)

ทั้งนี้เป็นผลจากการเข้ามาของสำเภาจีน ทำให้การค้าภายในคึกคักกว้างขวางแล้วมั่งคั่ง โดยใช้ภาษาตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า ครั้นนานไปภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจแล้วสถาปนารัฐพูดภาษาไทย เรียกตนเองว่าไทย (ตามคำอธิบายในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559)

มีศูนย์กลางคู่กัน 2 แห่ง บนลุ่มน้ำยม ได้แก่ เมืองสุโขทัย (ปัจจุบันคือบริเวณเมืองสุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย) กับ เมืองศรีสัชนาลัย (ปัจจุบันคือเมืองศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย)

 

กล่องหินในวัฒนธรรมหินตั้ง 2,500 ปีมาแล้ว บ้านวังประจบ ต. วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก (พื้นที่ต่อเนื่องบ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย)

“กล่องหิน” ที่ทำเลียนแบบโลงศพ ภายในไม่พบโครงกระดูกหรืออัฐิของมนุษย์ พบเพียงภาชนะดินเผา ลูกปัด และแวดินเผา แสดงว่าอาจใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย แต่จะเรียกว่า “โลงหิน” ก็ไม่ผิดอะไร

ขนาดของกล่องหินนี้ยาวราว 2 เมตร กว้าง 70 เซนติเมตร คนลงไปนอนได้สบาย

บริเวณด้านหลังของกล่องหิน 2 กล่องนี้ เป็นกลุ่มของหินตั้ง (standing stones) ซึ่งใช้เพื่อบอกตำแหน่งของกล่องหิน และเชื่อมโยงระหว่างโลกใต้ดินกับเหนือพื้นดิน

ทั้งกล่องหินและหินตั้งของวัฒนธรรมวังประจบนี้ จัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหม่ มีอายุระหว่าง 2,300-2,500 ปีมาแล้ว

วัฒนธรรมวังประจบนี้พบเพียงแห่งเดียวในไทย มี 2 แหล่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ ซึ่งพังเสียหายไปแล้ว ส่วนแหล่งโบราณคดีนายเสียน ยังมีโลงหินสมบูรณ์มากอยู่ใต้ดินอีกกว่า 60 กล่อง ควรเร่งศึกษาขุดค้นก่อนที่จะถูกทำลายจากการทำไร่

[ภาพและคำอธิบายโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

 

 

วัดตะพานหิน บนไหล่เขาทางตะวันตก นอกเมืองสุโขทัย ที่พบพระพุทธรูป (แบบทวารวดี) ขนาดใหญ่ 2 องค์

แผ่นหินธรรมชาติขนาดใหญ่ ก่อเรียงมีระเบียบแบบแผน ตามประเพณีสืบเนื่องจากวัฒนธรรมหินตั้ง ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 ทำทางขึ้น (คล้ายสะพานหิน) จากพื้นล่างถึงยอดเขา แหล่งสิงสู่ของผี (บรรพชน) ท้องถิ่นที่เฮี้ยนและมีพลังคุ้มครองชุมชน

เอกสารเก่าเรียกสถานที่แห่งหนึ่งเมืองสุโขทัยว่า “เขาหินตั้ง” (อยู่ในพงศาวดารเหนือ รวบรวมสมัยปลายอยุธยา แล้วชำระสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) จะหมายถึงเขาวัดสะพานหิน หรือบริเวณอื่นใดในสุโขทัย? ยังสรุปไม่ได้ขณะนี้

หลังรับศาสนาจากอินเดีย พื้นที่ถูกปรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ 2 องค์ สลักจากหิน (ฝีมือช่างแบบทวารวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000 (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ และสุโขทัย)

[ภาพและคำอธิบาย สรุปจากบทความเรื่อง “นครรัฐสุโขทัยในสยามประเทศ” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ใน เมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2560)]