บทวิเคราะห์ : วอน “อีซีซี” อย่าเดินซ้ำรอยก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เดินสายทัวร์การเมืองแถวๆ พื้นที่ภาคอีสาน โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกรอบ 8 ปี ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายที่ไม่ได้เห็นในสนามเลือกตั้งมานาน

อย่างแรกสุดคือ การตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่ ดูได้จากการเปิดปราศรัยหาเสียงของผู้สมัคร มีผู้เข้าฟังแน่นขนัดแทบทุกเวที

บางเวทีซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอห่างไกลจากตัวจังหวัดเกือบร้อยกิโลเมตร มีคนแห่เข้ามานั่งรอผู้สมัครปราศรัยตั้งแต่ 5 โมงเย็น ประเมินด้วยตาเปล่าไม่น้อยกว่า 5 พันคน

เกือบทั้งหมดตั้งใจเข้ามาฟังการปราศรัย

กว่าผู้สมัครจะขึ้นเวทีก็เกือบ 1 ทุ่ม เสียงปรบมือส่งเสียงร้องดังกระหึ่มในทุกครั้งที่ผู้สมัครพูดโดนใจ

การปราศรัยของผู้สมัครเกือบ 1 ชั่วโมง คนฟังยังนั่งอยู่กับที่ราวกับมีกาวติดเก้าอี้เอาไว้

นี่เป็นสีสันของประชาธิปไตย

 

อย่างที่สอง นักการเมืองทุกพรรคเน้นการหาเสียงในประเด็นเศรษฐกิจ เน้นช่วยเหลือเรื่องการกินดีอยู่ดี

แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาป่าไม้ หรือการสร้างเมืองให้น่าอยู่น่าอาศัย

ส่วนประเด็นโลกร้อน การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก ไม่เคยได้ยินจากนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้ไปฟังเลยแม้แต่คนเดียว

อาจสรุปเบื้องต้นว่า คนไทยยังถือปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว จับต้องไม่ได้

 

อย่างที่สาม พื้นที่หลายแห่งในภาคอีสานแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำมากพอทำให้พื้นที่เกษตรใช้สอยประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่ฟูเฟื่อง

จึงไม่แปลกใจเลยเมื่อไปถามผู้คนตรงไหนก็พูดถึงสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ การค้าการขายฝืดเคืองเพราะคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้น้อย การจับจ่ายใช้สอยก็น้อยตามสัดส่วน

หลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ เชื่อได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ยังคงวางนโยบายบริหารประเทศที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก

ส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญในลำดับท้ายๆ ดีไม่ดีอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลชุดใหม่ด้วยซ้ำไป

ทำนายล่วงหน้าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะย้อนกลับมาซ้ำรอยเหมือนรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา

 

ที่พูดไม่ใช่ดักทาง แต่มีตัวอย่างเกิดขึ้นซึ่งเห็นชัด เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด

คงจำกันได้ว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เวลานั้นต้องการผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับการขนส่งสินค้า

โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดขยายพื้นที่กว่า 8.3 ล้านไร่ครอบคลุม จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่สุดของประเทศมีการผลิตครบถ้วนทุกวงจร ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าชนิดต่างๆ

อีสเทิร์นซีบอร์ดทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตชนิดก้าวกระโดด

ประชาชนในพื้นที่โครงการมีรายได้พุ่งโลด

อย่างปี 2547รายได้ต่อหัวของประชากรจังหวัดระยองสูงสุดติดอันดับ 1 และทำสถิติครองแชมป์ติดต่อกัน

เมื่อปี 2558 ชาวระยองมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 1,008,615 บาท

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดระยองมีมูลค่า 874,547 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 1 ของภาคตะวันออก เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ

 

ดูตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้วน่าปลื้มใจ แต่ถามว่าในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืนจริงหรือ?

เพราะในความจริงแล้ว หลายพื้นที่ของประเทศไทย ประชาชนไม่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย

ตรงกันข้ามกลับมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

บางจังหวัดรายได้ต่อหัวแค่ปีละ 46,000 กว่าบาท หรือคิดเฉลี่ย 3,800 บาทต่อเดือน

ขณะที่การทุ่มเทกำลังเพื่อพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดโดยมองข้ามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ผลที่ตามมา โรงงานอุตสาหกรรมพากันปล่อยของเสียลงในพื้นที่สาธารณะ

แหล่งน้ำลำคลองเน่า ขยะอันตรายเกลื่อน เขม่าควันพิษลอยฟุ้ง

ระหว่างปี 2530-2552 เป็นช่วงอีสเทิร์นซีบอร์ดฟูเฟื่องมาก ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ เช่น ท่อส่งก๊าซรั่ว เรือบรรทุกแอมโมเนียไนเตรตล่ม รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ โรงงานผลิตพลาสติกไฟไหม้ โรงบรรจุก๊าซระเบิด

แถมยังเกิดเหตุลักลอบทิ้งขยะพิษในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมเป็นพิษทำให้ผู้คนที่อยู่ในโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงประสบปัญหาเจ็บป่วย

จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ป่วยเป็นเนื้องอกและโรคมะเร็งใน จ.ระยอง เมื่อปี 2548 มีจำนวน 9,268 คน มาปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 14,596 คน

โรคทางเดินหายใจ ปี 2548 มี 383,750 คน ปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 429,094 คน

การพัฒนาเศรษฐกิจเดินสวนทางกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

นั่นเป็นผลพวงนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าๆ ที่กำหนดเอาไว้

 

อีกไม่กี่วันข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ยังไม่รู้ว่าใครมาเป็นนายกฯ หรือพรรคไหนจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล

เป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลชุดใหม่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า จะต้องชูนโยบายเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลใหม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเอานโยบายเศรษฐกิจและโครงการที่ทำไว้แล้วในช่วง 5 ปีมาสานต่ออย่างแน่นอน

โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นโครงการเชื่อมโยงกับอีสเทิร์นซีบอร์ดรัฐบาลลุงตู่จะต้องเดินหน้า

เนื่องจากรัฐบาลภายใต้เงา “คสช.” ได้วางเป้าหมายเอาไว้แล้วว่าให้พื้นที่ใน จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรม การวิจัยและการผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้ระบบการขนส่งคมนาคมเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

นักสิ่งแวดล้อมหลายคนจับตาโครงการอีอีซี เนื่องจากรัฐบาลชุดที่กำลังหมดอายุไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบทางสุขภาพของผู้คนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในโครงการ

แนวโน้มคาดว่าถ้ารัฐบาลชุดใหม่เพิกเฉยกับการติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่อยู่อาศัยในอาณาบริเวณรอบโครงการ “อีอีซี” จะประสบความเดือดร้อนเป็นทุกข์และคุณภาพชีวิตตกต่ำลง ซ้ำรอย “อีสเทิร์นซีบอร์ด”