วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ เกิร์ด อานซ์ กับไอโซไทป์

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

เกิร์ด อานซ์ กับไอโซไทป์

 

รูปมนุษย์หัวกลมๆ มีแขนขาเป็นเส้นและมุมมน เรียกกันง่ายๆ ว่า “มนุษย์ห้องนํ้า” เพราะพบเห็นอยู่เสมอในระบบป้ายตามที่ชุมนุมชน เช่น สนามบิน สนามกีฬา ท้องถนน โรงแรม โรงพยาบาล และที่มากที่สุดคือบอกทางไปห้องน้ำ

แต่ที่จริงมันมีกำเนิดที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น โดยเฉพาะมาพร้อมกับวิชาการทางสถิติ อุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย และสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน” ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้เขียนเคยพูดถึงกำเนิดของมนุษย์ห้องนํ้าในบทความชื่อ Pictogram : มนุษย์ห้องน้ำ กับความหมายของ 14 ตุลา (มติชนสุดสัปดาห์ 2549) โดยอ้างอิง Reading Isotype ของเอลเลน ลุพตัน (Design Discourse 2532) ซึ่งสืบย้อนบรรพบุรุษของพิกโตแกรมนี้ไปถึงสถาบันไอโซไทป์ หรือ Isotype (International System of Typographic Picture Education) ซึ่งเกิดขึ้นตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 20

ผู้ให้กำเนิดสถาบันนี้คือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์/สังคมศาสตร์ชาวออสเตรียชื่อ ออตโต้ นอยราธ (Otto Neurath) ซึ่งเป็นปัญญาชนคนหนึ่งในกลุ่มเวียนนา (Vienna Circle) เพื่อนร่วมรุ่นของเขาคือคาร์ล โปลานยี, ออตโต้ บอยเยอร์ และเฟลิกซ์ เชฟเฟอร์

นับแต่ปี พ.ศ.2463 นอยราธซึ่งเป็นหัวหน้ามิวเซียมเศรษฐกิจและสังคม (Gesellschafts und Wirtschaftsmuseum) ได้เริ่มการทำกราฟ ตาราง และไดอะแกรมเพื่ออธิบายสภาพของสังคมให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้โดยง่าย

เขาเรียกระบบสัญลักษณ์แบบนี้ว่าไอโซไทป์ และผลิตผลงานด้านนี้ออกมาอีกมากมายในรูปของสิ่งพิมพ์ นิทรรศการ และข้อเขียนในเชิงทฤษฎี

หลักการออกแบบคือเน้นการลดทอนและความเป็นชุดเดียวกัน แม้จะมีเค้าจากรูปเหมือน แต่มีเพียงสองมิติหรือดูแบนๆ ไม่นิยมการใช้ตัวเลข เมื่อต้องแสดงรูปร่างที่มีความลึก และจะใช้การวาดเส้นแบบ isometric แทนที่จะเป็นแบบ perspective ส่วนความเป็นชุดเดียวกัน คือควบคุมสไตล์ให้เป็นเอกภาพ ด้วยการสร้างด้วยเส้นหรือรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีความหนาหรือขนาดเท่าๆ กัน

เป็นตำนานในวงการ เพราะมีอิทธิพลต่อระบบป้ายจราจรของกรมการขนส่งของสหรัฐ พ.ศ.2517 ซึ่งมีความสวยงามเป็นระเบียบเพราะใช้ขนาดของเส้นและรูปทรงเดียวกัน ทำเหลี่ยมมุมและมีปลายกลมมนเหมือนกัน

ไอคอนแบบไอโซไทป์ถูกใช้ในมิวนิกโอลิมปิก พ.ศ.2515 ซึ่งออกแบบโดยโอ๊ต ไอเชอร์ ไอคอนของมิวนิกโอลิมปิกจะประกอบด้วยหน่วยย่อยพื้นฐาน อันได้แก่ เส้นและวงกลม ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายพยัญชนะที่เราใช้เรียงกันเป็นคำ เมื่อวางตำแหน่งสลับสับเปลี่ยนกัน ก็จะแปรเปลี่ยนความหมายไปได้มากมาย

ต่อมากลายเป็นต้นแบบของ “มนุษย์ห้องนํ้า” และกลายเป็นภาษาที่แทบไม่ต้องอ่านก็เข้าใจ นอกจากนั้น ยังคล้ายดนตรีดิสโก้ กางเกงขาบาน และผมทรงแอฟโฟร คือเป็นตัวแทนของทศวรรษที่ 1970s และถูกเอามาใช้กัน ทั้งในแบบจริงจังและล้อเลียน

 

เมื่อประวัติศาสตร์การออกแบบเฟื่องฟูขึ้น ไอโซไทป์ก็กลับมา และหลังปี พ.ศ.2550 เมื่อระบบไอคอนเป็นเรื่องใหญ่ในยุคดิจิตอล เรื่องนี้ก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้มีบทความ หนังสือและนิทรรศการเกี่ยวกับสถาบันนี้ออกมามากมาย เช่น The Transformer : Principles of Making Isotype Charts โดย Marie Neurath และ Robin Kinross, Otto Neurath : The Language of the Global Polis โดย Nader Vossoughian และ Isotype : Design and Contexts 1925-1971 โดย Christopher Burke, Eric Kindel และ Sue Walker

ไม่นานมานี้ รวมงานและประวัติของเกิร์ด อานซ์ ชื่อ Gerd Artnz Graphic Designer : The Visual Legacy of 4,000 Symbols โดยเอ็ด แอนนิงก์ และแมกซ์ บรุนส์มา ก็ออกมา หนังสือเล่มนี้มีคนเขียนร่วมมากมาย เช่น เกิร์ด ดัมบาร์, ไนเจล โฮมส์, เอริก สปีกเกอร์มานน์ และเคยได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมของเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ.2553

เกิร์ด อานซ์ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ร่วมมือกับออตโต้ นอยราธ ในการตั้งสถาบันไอโซไทป์ เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ.1900 ที่โคโลญ เยอรมนี และเรียนศิลปะที่ดุสเซลดอร์ฟ ในวัยหนุ่ม ได้ร่วมกับศิลปินในกลุ่มโคโลญก้าวหน้า (Gruppe progressiver K?nstler K?ln) วาดภาพกรรมกรและการต่อสู้ทางชนชั้น

ที่สำคัญ งานของเขาเป็นแบบนามธรรมหรือไม่มีหน้าตา แต่ก็บอกบุคลิกได้มากมาย ตอนแรกอานซ์ใช้เทคนิคแกะไม้ ต่อมาจึงหันมาแกะยางหรือลิโนเลียม

ในดุสเซลดอร์ฟ นอยราธได้เห็นงานของเขาและชอบมาก จึงชวนอานซ์ไปทำงานที่มิวเซียมในเวียนนา นอยราธกำลังสร้าง ‘สถิติแบบเวียนนา’ หรือการสื่อสารด้วยรูปภาพเพื่อทำให้ข้อมูลตัวเลขทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเข้าถึงประชาชน และต้องการนักออกแบบที่วาดไอคอนหรือรูปที่เข้าใจได้ง่าย

เวียนนามีการปกครองแบบสังคมนิยมและสนใจปัญหาการเคหะของกรรมกร สถิติของนอยราธจึงเป็นเครื่องมือใน “การปลดปล่อย” คนจนด้วย การที่อานซ์เป็นฝ่ายซ้ายมาก่อนจึงเหมาะกับงานนี้มาก ในยุคนี้เขามีผลงานที่เป็นไอคอนมากกว่า 4,000 รูป รวมทั้งออกแบบสิ่งพิมพ์และนิทรรศการของมิวเซียมด้วย

‘Gesellschaft und Wirtschaft’ สถิติภาพที่พิมพ์ในปี พ.ศ.2473 และมีจำนวนกว่า 100 แผ่นประสบความสำเร็จมาก นอยราธและทีมงานได้รับเชิญจากโซเวียตให้ไปตั้งสถาบัน Isostat ที่มอสโก

ในปี พ.ศ.2477 รัฐสังคมนิยมของออสเตรียถูกโค่นและนาซีเข้ายึดอำนาจ ทั้งหมดจึงหนีไปเฮก เนเธอร์แลนด์ และทำงานต่อที่นั่น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น ออตโต้ นอยราธต้องหนีอีกครั้ง คราวนี้ไปลอนดอน ขณะที่เกิร์ด อานซ์ อยู่ในเฮก และทำงานให้กับสถาบันสถิติของเนเธอร์แลนด์ตราบจนสิ้นชีวิต