จรัญ พงษ์จีน : ผลลัพธ์ชวนกังขาหลังเลือกตั้ง จาก รธน.ปราบโกง

จรัญ พงษ์จีน

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 “ฉบับปราบโกง” ปราบได้กิ๊บเก๋อย่างมาก “ศึกเลือกตั้ง 62” แค่เปิดฉาก มีเสียงสะท้อนเถื่อนกระโจนออกมาว่า “โกง” กันสะเทือนเลื่อนลั่น มากกว่าการเลือกตั้งครั้งไหนๆ

ก่นด่ารัฐธรรมนูญกันเสียงขรม และพาลไปเจริญพร “ผู้ยกร่าง” ด้วยความเมามันในอารมณ์ บ้างก็เปรียบเปรยว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ห่วยแตก ขี้เหร่มากกว่าฉบับไหนๆ เท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา “อ้วน ต่ำ ดำ เหม็น” อยู่ในตัวพร้อมทุกสรรพสิ่ง

ยังนับคะแนนไม่ทันแล้วสะเด็ดน้ำ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” ถูกประชาชนลงชื่อถอดถอน กดปุ่มปลดรัวๆ แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ยอดยาวเป็นหางว่าว เกือบแตะหลักล้านคน

มีโอกาสเสียมวยไม่เป็นท่า และอาจจะโดนฟ้องติดคุกกันหัวโต แถมด้วยคดีอีกบานตะเกียง

เข้าสู่โหมดสีสันและบรรยากาศศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เหลือเชื่อมากๆ คือ จำนวนประชาชนพลเมืองผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ “นายอิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.แถลงว่าเพียง 65.96 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการที่ตั้งธงไว้ก่อนหน้านั้น วัดเรตติ้งจากสภาพกระแสแห่งความตื่นตัว

ไปๆ มาๆ ผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่าศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่มีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 75.03

“ผล” ของศึกเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.เขตและป๊อปปูลาร์โหวต “พรรคเพื่อไทย” ชนะเขตเลือกตั้ง กวาดที่นั่งมากที่สุด 137 เสียง ปาร์ตี้ลิสต์ 0 เนื่องจากฐานคะแนนพึงมีเต็มตุ่ม ยอด ส.ส.รวม 2 ระบบ 137 ป๊อปปูลาร์โหวต 7,920,561 เสียง

ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 19 เสียง รวม 116 ที่นั่ง แต่กลับชนะป๊อปปูลาร์โหวต 8,433,060 แต้ม

“พรรรคอนาคตใหม่” ของ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” น้องใหม่แห่งวงการ ทุบสถิติศึกเลือกตั้งกระเจิดกระเจิงหลายบริบท เบียดเข้าป้ายคว้าที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงจากเขตเลือกตั้ง 30 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์สูงที่สุด 50 เสียง รวม 2 ระบบ 80 ที่นั่ง ด้วยพื้นฐานคะแนนรวม 6,265,918 เสียง

ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ที่ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ถูกวางตัวให้เป็นกัปตัน หัวหน้าพรรค ไม่มีอะไรพลิกล็อก เสียงที่ได้รับเลือกเข้าสภาตรงตามจุดคาดการณ์คือ เขตเลือกตั้ง 39 เสียง ปาร์ตี้ลิสต์อีก 12 ที่นั่ง รวมเป็น 51 ที่นั่ง ป๊อปปูลาร์โหวต 3,732,940 คะแนน

 

ที่พลิกล็อกวินาศสันตะโร น่าน้ำตาไหลมากที่สุด สำหรับศึกเลือกตั้งคาบนี้คือ ซุป’ตาร์ขาประจำ ยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่มีโครงการเข้มแข็งดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็ก มีสมาชิกมากที่สุด เกิด “สลัมบอมเบย์” หมายถึง “ตกต่ำสุดขีด”

เข้าป้ายมาลำดับที่ 4 จากเขตเลือกตั้ง 33 ที่นั่ง กับบัญชีรายชื่ออีก 19 ที่นั่ง รวม 52 เสียง

ป๊อปปูลาร์โหวต 3,947,702 แต้ม ใจหายแว้บเลย เมื่อเทียบกับศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นอันดับ 2 ด้วยฐานคะแนนรวม 11 ล้านเสียง

บริหารกันแน่มาก ฐานคะแนนพรรคตีจากไปเกือบ 7 ล้านเสียง สนามเลือกตั้งเมืองหลวง “กทม.” ซึ่งครองแชมป์ตลอดกาล เป็นไปได้ไง ถูกถอนรากถอนโคน ไม่หลงเหลือเลยแม้แต่เก้าอี้เดียว

30 ที่นั่งกลายเป็นสมบัติผลัดกันชม ของ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-อนาคตใหม่” ไปซะงั้น

อย่าว่าแต่สนาม กทม. ที่เป็นใครก็ต้องตกใจเกือบเสียสติ แม้กระทั่ง “สนามปักษ์ใต้บ้านเรา” พรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดเก้าอี้มาตลอดเวลาอันยาวนานตั้งแต่ปี 2518 ย้อนยุคไปสมัย “เงินผัน” “พรรคกิจสังคม” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ก็เนิ่นนานมามากแล้ว

ประชาธิปัตย์ตีตราจอง ส.ส.ภาคใต้มาทุกยุคทุกสมัย เอาใครลงสมัครก็ได้รับชัยชนะ จนพรรคคู่แข่งเข็ดขยาด ถึงกับแอบประชดประชันว่า “ภาคใต้ประชาธิปัตย์เอาเสาไฟฟ้าลงก็ยังชนะ”

แต่ครั้งนี้หนังคนละม้วน “เสาไฟฟ้าปักษ์ใต้ล้มระเนระนาด” ถูกพรรคพลังประชารัฐบุกทะลวงลำไส้แย่งไป 13 ที่นั่ง หัวไม่วางหางไม่เว้น แม้กระทั่งจังหวัดตรัง ถิ่นของ “นายหัวชวน หลีกภัย” ยังไปหยิบชิ้นปลามันมา 1 ที่นั่ง

 

มองข้ามช็อตไปถึง “ศึกจัดตั้งรัฐบาล” ถึงตอนนี้ ยังไม่เที่ยงว่าขั้วไหนจะเข้าป้าย

ฝ่ายที่ประกาศตัวเองอย่างเท่ๆ ว่า “ซีกประชาธิปไตย” มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ แม้ชิงประกาศฟอร์มรัฐบาล พร้อมกับลงสัตยาบัน จับมือกัน 6 พรรค ซึ่งประกอบไปด้วย “เพื่อไทย” 137 เสียง อนาคตใหม่ 88 เสียง เสรีรวมไทย 11 เสียง ประชาชาติ 6 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียง

ขณะที่อีกฝ่าย ไม่รู้จะใช้สรรพนามเรียกขานตัวเองว่าอะไร แต่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย “พลังประชารัฐ” 120 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 56 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 53 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง และจับพรรคเล็กพรรคน้อยทั้งหมดมัดรวมเข่งเข้าด้วยกัน เสียงสนับสนุนก็ออกมาสูสีใกล้เคียงกัน

แต่ดูทุกองคาพยพแล้ว ไม่หมูทั้งสองฝ่าย “ขั้วประชาธิปไตย” รวมเสียงได้เกิน 250 เสียงก็จริง

แต่ขั้นตอนต่อไปคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เดินตามบทเฉพาะกาลแห่งมาตรา 272 ซึ่งกำหนดคำจำกัดความไว้ว่า ดำเนินการโดย “รัฐสภา” คือ 2 สภารวมกัน เท่ากับว่า วุฒิสมาชิก 250 คน เข้าร่วมวงไพบูลย์ได้ด้วย

เงื่อนไขดังกล่าว “ขั้วพลังประชารัฐ” ได้เปรียบเต็มประตู แต่พอเปิดสภา รัฐบาล “ตู่ภาค 2” แถลงนโยบายปั๊บ ก็ม้วนเสื่อปุ๊บ เพราะเสียงปริ่มๆ ยิ่งแกนนำพรรคทั้งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ต้องกระโดดค้ำถ่อไปเป็นรัฐมนตรี เท่ากับจอดป้ายตั้งแต่ยกแรกๆ

เหนือสิ่งอื่นใด มีข่าวคลุกวงในว่า “พรรคประชาธิปัตย์” อาจจะตีกรรเชียงลอยตัว ประกาศ “เป็นกลาง” ไม่จับขั้วฝ่ายค้าน และไม่ขอร่วมรัฐบาล จะยกมือสนับสนุนเป็นเรื่องๆ ไป มาตราไหนไม่เห็นด้วยก็คัดค้าน กฎหมายใดเห็นด้วยก็สนับสนุน

ใช้เวลาช่วงนี้ฟื้นฟูพรรค อันเป็นแนวคิดของ “นายหัวชวน หลีกภัย กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ข่าวนี้ถ้าจริง “ซีกพลังประชารัฐ” ก็ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่

มีข่าวอีกระแสว่า ระหว่างที่ กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งตามกำหนดภายใน 60 วัน ครบกำหนดต้นเดือนพฤษภาคม “ระหว่างนี้ ฟากไหนอยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น กกต.ประกาศสอยว่าที่ ส.ส.ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็ว่ากันไป จะเกิดรายการไล่ล่าซื้อ ส.ส.ข้ามขั้ว”

เห็นว่าราคาค่างวดทำท่าจะแพงหูดับ หัวละ 20 ล้าน ธง 20 คนต้องใช้กองทุน 400 ล้านบาท

“เป็นไงครับ รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”