ทำไมปัญหาทุกอย่างต้องรอ “หัวหน้างาน” ตัดสินใจ จนกลายเป็นอุปสรรค ?

“สวัสดีครับพี่สมหญิง

ผมโทร.จากแผนกนวัตกรรมนะครับ”

กรวิชญ์เอ่ยทักทาย

ที่ปลายสายอีกด้านคือ คุณสมหญิง

ผู้ดูแลระบบบริหารข้อมูลของบริษัท

“พูดสายค่ะ มีอะไรคะ” สมหญิงเอ่ยถาม

กรวิชญ์ฟังแล้วน้ำเสียงดูไม่ค่อยเป็นมิตร

แต่ก็กลั้นใจอธิบายต่อไป

“คือทีมงานผมมีความคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ครับ แต่เราคิดว่ายังมีข้อมูลไม่ครบ จึงอยากจะโทร.มาขออนุญาตพี่สมหญิงเพื่อเข้าไปดูข้อมูลในฐานข้อมูลครับ”

สมหญิงตอบกลับมาทันที

“รบกวนส่งอีเมลให้พี่ได้มั้ยคะ แล้วพี่จะส่งต่อให้หัวหน้าของพี่อีกทีหนึ่ง ถ้าหัวหน้าโอเค น้องก็โทร.ไปนัดประชุมกับทางพี่เขาได้”

“พี่ครับ ผมฝากพี่ปรึกษาหัวหน้าพี่ให้ได้มั้ยครับ เผอิญทางผมเคยส่งอีเมลไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมาเลย”

กรวิชญ์อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

สมหญิงตอกกลับมาทันที

“ที่นี่คนเขาก็ยุ่งกันทุกคนนะน้อง ถ้าไม่ตอบก็โทร.มาตามสิคะ”

ช่วงนี้ผมศึกษาเรื่อง Agile Organization ค่อนข้างเยอะครับ

มีหลายองค์กรในประเทศไทยเริ่มที่จะหันมาสนใจ

ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่อยากจะสร้าง “นวัตกรรม”

และเริ่มมีความเข้าใจพื้นฐานว่า

“ความเร็ว” เป็นเรื่องสำคัญ

ความเร็วในการตัดสินใจลงมือทำเรื่องต่างๆ

เพื่อทดลอง ล้มเหลว เรียนรู้

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่อีกต่อไป

หากแต่ว่า การทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในองค์กรจริงต่างหากเล่า

ที่ “ท้าทาย” ผู้บริหาร

แนวคิดของ “Agile Organization” จึงเริ่มได้รับความนิยม

ผมเองเคยเล่าหลักการของ agile นี้ไว้บ้าง ในแปดบรรทัดครึ่ง podcast ตอนที่ 34 ลองไปฟังกันได้นะครับ

วันก่อนที่น้องในทีมงานที่บริษัทส่งคลิปอันหนึ่งมาให้ดู

เป็นการบรรยายเรื่อง Agile ของ “มาร์ติน ฟาวเลอร์”

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแนวคิดของ Agile เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เขาเล่าว่า ตอนนี้มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงในองค์กรที่อยากทำ “Agile Organization” อยู่หลายเรื่อง

หนึ่งในนั้น เขาใช้คำว่า “Agile Industrial Complex”

หรือแปลเป็นไทยว่า “การใช้ Agile แบบเป็นโรงงานอุตสาหกรรม”

เขาเล่าถึงบุคคลคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “เฟรดเดอริก เทย์เลอร์”

ผมลองไปกูเกิลดู เขาคือคนที่เป็นเทพเรื่อง “ประสิทธิภาพของโรงงาน”

โดยเน้นหลักการที่ว่า “คนงาน” เป็นเพียงหมากตัวหนึ่ง

ไม่ควรต้องคิดอะไร แค่ทำตามสั่ง

ทำตามวิธีการที่ “วิศวกร” ได้คิดมาแล้ว

ห้ามทำผิดพลาด แตกแถว

ไม่ต่างกับกองทัพ

การทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานเหมือนกันหมด

เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ “คนงาน” สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกคนเหมือนกัน ทำตามสั่ง

มาทำงานตรงเวลา เลิกงานตรงเวลา

ห้ามเบี้ยว ห้ามขี้เกียจ

เวลาที่ทำงาน เท่ากับผลลัพธ์ของการทำงาน

งานจะออกมาดีและมีประสิทธิภาพ

หากทุกคนฟังคำสั่ง ทำเหมือนๆ กัน ในรูปแบบที่กำหนดไว้

ไม่ต้องคิดอะไรเอง อย่าแตกแถว

และนี่คือ “โรงงาน” ที่ดี ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

หากแต่ว่า “กระบวนการเป๊ะๆ” นี่แหละ

ที่เป็นศัตรูของการทำงานแบบ “Agile”

องค์กรใหญ่ๆ ที่มีระบบการบริหารที่ดี

ก็มักจะมีกระบวนการอะไรมากมายที่ทำให้ทุกอย่างอยู่กะร่องกะรอย

เข้าใจได้ ควบคุมง่าย ทำให้ผู้บริหารที่ควบคุมงานสบายใจ

ช่วงนี้ก็จะมีที่ปรึกษาที่พยายามจะนำการทำงานแบบ “Agile” มาสอนในองค์กร

ว่าต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น แบบโน้น

ทำให้หลงคิดว่าเป็น “กระบวนการ” ที่จะทำให้องค์กรเคลื่อนที่ได้รวดเร็วขึ้น สมดังชื่อ

“มาร์ติน ฟาวเลอร์” บอกว่า นี่แหละที่เขาเรียกว่า “การใช้ Agile เป็นโรงงานอุตสาหกรรม”

พยายามทำ “Agile” ให้เป็นกระบวนการจับต้องได้เป๊ะๆ

แล้วก็เอาไปสอน เอาไป top-down ให้พนักงานต้องเปลี่ยน ต้องทำตาม

ซึ่งแท้ที่จริง หลักการแรกๆ ของ Agile คือ “การให้ทีมงานเป็นคนคิดเองว่าจะทำงานอย่างไร”

หัวใจคือ “คนทำงานที่ใช่ ได้รับอิสระ ได้รับความไว้วางใจ ให้คิดวิธีการทำงานเอง”

โดยเป้าหมายคือ “ตัดสินใจได้เร็ว ปล่อยของออกสู่ตลาดได้เร็ว แก้ไขได้เร็ว”

ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการทำงานที่คล้ายๆ กัน

เน้นพูดคุยกันตัวต่อตัว ไม่เน้น “กระบวนการ”

มีอะไรเดินไปคุยกัน ไม่ต้องเสียเวลานัดประชุม

จะทำสิ่งนี้ได้ ทีมงานที่ตัดสินใจได้ ควรจะมานั่งรวมทำงานที่เดียวกัน

ไม่ต้องมีลำดับขั้นในการตัดสินใจมาก เชื่อใจคนทำงานให้ตัดสินใจได้เลย

เน้นการสร้าง “ของ” มากกว่า “เอกสาร สไลด์อธิบาย ว่าจะสร้างของอะไร”

เน้นการลงมือทำ มากกว่าการวางแผน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะย้อนแย้งกับวิธีการทำงานขององค์กรใหญ่ๆ

เช่น การตอกบัตรเข้าทำงาน การตัดสินใจจากคนหัวโต๊ะ การทำอะไรที่เป็นระบบระเบียบ

ที่มีรากเหง้ามาจากการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ทั้งสิ้น

Agile ที่แท้จริงเป็นเพียงหลักการที่ใช้ได้สำหรับ “คนที่พร้อม” รับมือกับการ “เปลี่ยนแปลง”

ไม่ฟูมฟายกับอะไรที่ไม่เป็นไปตามที่คิด

พร้อมเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่จากลูกค้า

ใครที่ชอบพูด Agile แต่เวลามีอะไรเปลี่ยนจากที่คิดก็ “อารมณ์เสีย”

คงจะต้อง “ปรับทัศนคติ” กันยกใหญ่ ก่อนคิดการใหญ่

สมชายโทรศัพท์ไปคุยกับเลขาฯ ของหัวหน้าสมหญิงอย่างเสียมิได้

“สวัสดีครับ ผมอยากขอเวลาคุยกับพี่หัวหน้าคุณสมหญิงสักสิบห้านาที พอจะมีเวลามั้ยครับ”

เลขาฯ ตอบกลับมา

“หัวหน้าคุณสมหญิงไปดูงานต่างประเทศสามอาทิตย์ค่ะ กลับมาแล้วค่อยติดต่อมานะคะ”

นี่แหละ คอขวดของ Agile โดยแท้ทรู