รู้จักประวัติศาสตร์ “ไทยอง” ที่กว่า 80% ของคนลำพูนล้วนสืบเชื้อสายมา


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไตยอง”

“ไทยอง” เป็นชาติพันธุ์หนึ่งในดินแดนล้านนา

นับเป็นระยะเวลากว่า 200 ปี ที่คนยองได้ย้ายจากแผ่นดินเมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย ฯลฯ ในสิบสองปันนามาอยู่ในล้านนา

ยุคที่พระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ต่อสู้ขับไล่พม่าจนชนะ และเพื่อเป็นการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่บ้านเมืองได้รับความเสียหายจากการทำสงครามกับพม่า จึงกวาดต้อนคนยองมาอยู่ที่นี่ นับเป็นบรรพบุรุษของคนลำพูนก็ว่าได้

เนื่องจากทุกวันนี้กว่า 80% ของคนลำพูนล้วนสืบเชื้อสายมาจากไทยอง

ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พ.ศ.2348 เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา พี่น้อง พร้อมคนยองจำนวนหนึ่ง จาก “มหิยังคนคร” (ชื่อเมืองยองในภาษาบาลี) มาตั้งถิ่นฐานบนที่ราบลุ่มแม่น้ำกวง ฝั่งด้านทิศตะวันออกของเมืองลำพูน แม่น้ำทาและแม่น้ำลี้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนยองเมืองลำพูนถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองสยาม

แต่กลุ่มคนยองซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองลำพูน ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมด้านสังคมและวัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น

บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งลักษณะของบ้านคนยองนั้น จะนิยมสร้างบ้านไม้ ใต้ถุนโล่ง

หลังคาจะไม่มีกาแล แต่จะมีรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่คนยองเคารพนับถือประดับอยู่แทน

สามารถไปชมบ้านเก่าแก่ดังกล่าว ที่มีอายุราว 80-100 ปี มากกว่าร้อยหลัง

แสดงให้เห็นฝีมือช่างที่ดีเยี่ยม ตลอดจนศิลปะการฟ้อนรำ เช่น ฟ้อนยอง ฟ้อนดาบ การทำกลองหลวง การอุทิศบูชาพระธาตุ และประเพณีสลากย้อม

คําว่า “ยอง” อันเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์นั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่า เป็นชื่อของหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง กาลนานมาแล้วมีนายพรานจากเมืองอาฬวีมาจุดไฟเผาป่า ทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เช่นเดียวกับชาติพันธุ์ไทยองที่อยู่กระจัดกระจายทั่วไป

สิ่งที่สำคัญ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งคือภาษาพูดที่เรียกว่า “ภาษายอง” ซึ่งสามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจระหว่างคนยองในทุกถิ่นฐาน

ไทยองที่อาศัยอยู่ในลำพูนได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้าง “วัดหัวข่วงนางเหลียว” ภายหลังได้เรียกมาเป็น “วัดหัวขัว” อันเปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของคนยอง

ดังจะเห็นได้จากมีเจ้านายเชื้อสายเมืองยองได้มาบรรพชาอุปสมบทที่วัดแห่งนี้ รวมถึงเมื่อมีเจ้านายเชื้อสายยองได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ได้มีการนำเอาอัฐิมาบรรจุไว้ที่นี่

สำหรับวัดสำคัญของคนยองอีกวัดหนึ่งคือวัดต้นแก้ว ซึ่งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคนยอง ภายในบริเวณวัดมีการเก็บรวบรวมของโบราณหาชมยากกว่า 1,000 ชิ้น

จัดแสดงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ คุตีข้าว ล้อเกวียน

อีกทั้งมีหีบพระธรรม พระเครื่องเก่าแก่ของลำพูน ถ้วยชาม รวมถึงผ้าทอโบราณของชาวยอง ที่ขึ้นชื่อได้แก่ผ้าซิ่นอายุ 106 ปี ของเจ้าแม่ฟองคำ ณ ลำพูน และผ้าซิ่นของแม่บัวเขียว

เป็นสถานที่ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอดีตกาลแห่งชาติพันธุ์คนยองที่ถือว่าทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันความเจริญได้มาเข้าสู่วิถีชีวิตชุมชน ผสมวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ แต่ทว่าคนไทยองในลำพูนยังอยู่แบบดั้งเดิมแทบไม่ผิดเพี้ยน คงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมมาได้อย่างยาวนาน