วิเคราะห์ผล-ปัจจัยผลการเลือกตั้งที่ชายแดนใต้ และอนาคตจะฝากความหวังพวกเขาอย่างไร ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ผลการเลือกตั้ง (ที่ไม่เป็นทางการ เวลา 11.00 น. ของวันที่ 25/3/62) ที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ 13 เขตเลือกตั้ง (ว่าที่ ส.ส.ระบบเขต) จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 2 เขตเลือกตั้งจากจังหวัดสงขลา

ประชาชาติ คว้ามา 6 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ (แชมป์เก่า) กับภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

จ.นราธิวาส

เขต 1 : วัชระ ยาวอหะซัน พรรคพลังประชารัฐ

เขต 2 : สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ พรรคพลังประชารัฐ

เขต 3 : กูเฮง ยาวอหะซัน พรรคประชาชาติ

เขต 4 : กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ พรรคประชาชาติ

จ.ปัตตานี

เขต 1 : อันวาร์ สาและ พรรคประชาธิปัตย์

เขต 2 : อับดุลบาซิม อาบู พรรคภูมิใจไทย

เขต 3 : อนุมัติ ซูสารอ พรรคประชาชาติ

เขต 4 : สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาชาติ

จ.ยะลา

เขต 1 : อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ พรรคพลังประชารัฐ

เขต 2 : ซูการ์โน มะทา พรรคประชาชาติ

เขต 3 : อับดุลอายี สาแม็ง พรรคประชาชาติ

จ.สงขลา

เขต 7 : ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ พรรคภูมิใจไทย

เขต 8 : สุรินทร์ ปาลาเร่ พรรคประชาธิปัตย์

ผลคะแนนดังกล่าวหากพิจารณารายพรรค รายบุคคลมีดังนี้

1. 6 ที่นั่งจากประชาชาติพบว่า ได้คะแนนจากกระแสอาจารย์วันนอร์เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นมลายูมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองในพื้นที่และเป็นมุสลิมคนเดียวทั้งประเทศไทยที่ถูกเสนอชื่อ ทำให้ยุทธศาสตร์การหาเสียง คือเลือกแบนอร์ (อาจารย์วันนอร์) เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเลือกพรรคประชาชาติ โดยไม่สนผู้สมัครว่าเป็นใคร

ปัจจัยที่สอง นโยบายพรรคประชาชาติน่าจะเป็นพรรคเดียวที่เสนอการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (โดยเฉพาะการยกเลิกกฎหมายพิเศษ) รวมทั้งการกระจายอำนาจตามความเหมาะสมในสังคมพหุวัฒนธรรม

ในขณะที่ปัจจัยสุดท้าย ว่าที่ ส.ส.ทั้ง 6 คนเป็นผู้ลงพื้นที่ตลอดในการพัฒนาชายแดนใต้ ในขณะที่เขตที่ไม่ได้ ส.ส. ก็มีคะแนนต่อสู้กับคนที่ได้จากพรรคอื่นๆ ทุกเขต (เกินหมื่นคะแนนทั้งนั้น ยกเว้นเขต 7-8 สงขลา)

2. พลังประชารัฐคว้า 3 ที่นั่งที่ชายแดนใต้

นอกจากผลงานเชิงประจักษ์ของว่าที่ ส.ส.ทั้งสามโดยเฉพาะทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านตลอดเหตุการณ์ไฟใต้ จนถูกมองว่าเป็นทนายเข้าข้างโจร จากรัฐไทย หรือคนพุทธส่วนมากในพื้นที่, ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลของอำนาจ คสช.ที่เป็นกลไกอำนาจอย่างครบครันทั้งให้คุณ ให้โทษทุกคนในพื้นที่และต้องยอมรับ

สำหรับสองที่นั่งจากพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย มีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลงานส่วนตัวล้วนๆ ของผู้สมัคร

ไม่ว่าท่านสุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีผลงานเด่นชัดด้านพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะกับผู้นำศาสนาอิสลามทุกมัสยิด

นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ที่ลงพื้นที่ตลอด

นายอับดุลบาซิม อาบู พรรคภูมิใจไทย ก็เช่นกัน

โดยเฉพาะนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ จากพรรคภูมิใจไทย (ผู้ล้มวอลล์เปเปอร์นายศิริโชค โสภา) ที่ได้คะแนนจากทั้งวัยรุ่น คนเฒ่าคนแก่เพราะทำงานเป็นอดีต ส.จ.ในพื้นที่โดยที่หลายครั้งท่านออกสื่อ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อรัฐบาลทหารมากมายโดยเฉพาะเรื่องราคายาง

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทุนสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทยลงให้ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ อย่างเต็มที่

อนาคตที่ประชาชนฝากความหวังต่อบุคคลเหล่านี้

ทั้งสี่พรรคจะได้เป็นทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน อย่างแน่นอน

หากพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาล ก็จะเห็นมิติใหม่ๆ ของการแก้ปัญหาและพัฒนาชายแดนใต้ซึ่งน่าจะสอดคล้องข้อเสนอของทุกเวที ภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสันติภาพ การพัฒนาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะการศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจที่เหมาะสมเพราะมี ส.ส.เข้าสภามากที่สุดไม่ต่ำ 6 คน

ในส่วนพรรคอื่นๆ อาจจะยากเพราะมีเสียงเข้ามาน้อย แต่ก็หวังลึกๆ ว่าทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากพรรคพลังประชารัฐจะช่วยสะท้อนนโยบาย ทหารนำการเมือง ที่กระทบเรื่องสิทธิมนุษยชนและเป็นปัจจัยเอื้อของความรุนแรงหรือไฟใต้ตลอด 15 ปี แม้กระทั่งก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน ที่ผู้ต้องหาตายในค่ายทหารอีก

ในส่วนภาคประชาชนต้องสร้างกลไก ตรวจสอบ ถ่วงดุล ติดตาม นโยบายของแต่ละคนที่ได้หาเสียงไว้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน