หนุ่มเมืองจันท์ : “โนบิตะ” ธิปไตย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

การเลือกตั้งปี 2550 และ 2562 มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน

นั่นคือ เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร

เลือกตั้งปี 2550 คือ การเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในขณะที่การเลือกตั้งปี 2554 ที่คนมาใช้สิทธิแค่ 59% เป็นการเลือกตั้งปกติธรรมดาหลังการยุบสภา

“ความเหมือน” ในเรื่องนี้น่ากลัวครับ

เพราะแสดงให้เห็นว่าคนไทยต้องการแสดงอะไรบางอย่างหลังการรัฐประหาร

แค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องแลกกับการยืนตากแดดรอคิว 2-3 ชั่วโมง

ถามว่าคุณจะรอไหม

มีคนบอกว่า พลังที่มีพลานุภาพที่สุดไม่ใช่พลังแห่ง “ความรัก”

แต่เป็นพลังแห่ง “ความแค้น”

“แค้น” อะไร คงต้องตีความกันเอง

ปี 2554 ในวันเลือกตั้งจริง ภาพที่ผมจำติดตา คือ ภาพของผู้ชายคนหนึ่งอุ้ม “คุณยาย” ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดสกลนคร

ไม่ใช่ “หลาน” บังคับ “ยาย”

แต่ “ยาย” เป็นคนบังคับ “หลาน” ให้อุ้มไปเลือกตั้ง

คุณยายแค้น…

ผลการเลือกตั้งปี 2554 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ได้ ส.ส. 233 คนจาก 500 คน

อย่าแปลกใจที่หลังวันที่ 17 มีนาคม ที่คนแห่มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างถล่มทลาย

นักการเมืองหลายคนเริ่มหนาว

เพราะเขากระสา “กลิ่น” อะไรบางอย่าง

เป็น “กลิ่น” จากอดีตกาล

แต่ก็ไม่แน่ครับ บางทีกงล้อประวัติศาสตร์ก็อาจเปลี่ยนทางได้

อาจไม่ย่ำรอยอดีต

เป็นประโยคให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครับ

เราต้องถือหลัก “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”

แค่ลมพัดแรง

อาจไม่มี “พายุ” ก็ได้

โธ่…เป็นรัฐบาลมาตั้ง 5 ปีกว่า เศรษฐกิจดีขนาดนี้

ผลงานตั้งเยอะแยะ

นับนิ้ว-กดเครื่องคิดเลข เท่าไรก็ไม่หมด

ยิ่งตอนหลัง พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนชุดใหม่

ทำท่าน่ารัก

คะแนนนิยมต้องพุ่งกระฉูด

รับรองลอยลำแน่นอน

จุดยืนของผมชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

และเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยต้องแก้ไขด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

ไม่ใช่การรัฐประหาร

คนไทยทุกคนมีสิทธิในประเทศนี้เท่าเทียมกัน

ไม่ว่าจะมียศตำแหน่งอะไร

อายุเท่าไร

และกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด คือ การเลือกตั้ง

คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิเท่าเทียมกัน

1 คน 1 เสียง

ไม่มีใครมีสิทธิมากกว่าใคร

เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ก็ต้องยอมรับ

ไม่ตรงกับใจเราก็ไม่เป็นไร

เพราะ 4 ปีเรามีสิทธิเลือกใหม่

ถ้าเราอยากเป็นเสียงส่วนใหญ่ก็ให้ใช้พลังของเราโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกับเราให้ได้

ถ้าไม่ได้

ครั้งหน้าก็เอาใหม่

แค่นั้นเอง

การอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนการปลูก “ต้นไม้ใหญ่”

ต้องอดทนและรอคอยให้เป็น

จะเอาแต่ใจเหมือน “เด็กทารก” ไม่ได้

พอไม่ได้ดั่งใจก็ร้องงอแง จะเอาให้ได้

เขาถึงกำหนดให้เด็กที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป

เพราะคิดว่าอายุเกิน 18 แล้วจะไม่ร้องงอแง

เอาแต่ใจตัวเอง

ครับ การเลือกตั้งครั้งนี้คือ ช่วงเวลาประวัติศาสตร์

เรากำลังจะสลัดพันธนาการจาก “อำนาจนอกระบบ”

ใช้สิทธิของเรากำหนดอนาคตของประเทศ

แต่ทุกคนก็รู้ว่าหลังการเลือกตั้ง ปัญหาก็ยังคงไม่จบสิ้น

เส้นทางนับจากนี้ไปไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน

ล้วนแต่มี “ปัญหา”

แต่ “ปัญหา” คือส่วนหนึ่งของชีวิต

ค่อยๆ แก้ไขไปอย่างอดทน

ผมนึกถึงคำพูดของ “โนบิตะ” ในการ์ตูน “โดราเอมอน”

“โนบิตะ” ย้อนกลับไปหาตัวเองในวัยเด็ก

มีประโยคหนึ่งที่เขาบอกกับเด็กตัวเล็กๆ คนนั้น

“นับจากนี้ไปนายจะต้องล้มลุกคลุกคลานอีกหลายหน แต่ทุกครั้งนายจะสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้พร้อมกับความเข้มแข็งอย่างแน่นอน”

การเมืองไทยก็เช่นกัน

คงล้มลุกคลุกคลานเหมือน “โนบิตะ” อีกหลายหน

แต่สุดท้ายก็จะหยัดยืนขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็ง

ขอเพียงแค่ทุกครั้งที่ล้มลง

ให้ล้มลงในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นเอง