การศึกษา / จับตา ‘รถตู้ปริศนา’ ร.ร.เตรียมอุดมฯ แค่เข้าใจผิดหรือซ้ำรอย ‘สามเสนฯ’??

การศึกษา

 

จับตา ‘รถตู้ปริศนา’ ร.ร.เตรียมอุดมฯ

แค่เข้าใจผิดหรือซ้ำรอย ‘สามเสนฯ’??

 

กรณีเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เพิ่งจะปิดฉากรูดม่านไปเมื่อเมษายน 2561 โดยนายวิโรฒ สำรวล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ ถูกไล่ออกจากราชการ เซ่นคลิปฉาวเรียกรับเงิน 4 แสนบาทแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2560

ล่าสุดปีนี้ปรากฏรถตู้ปริศนา 2 คันจอดทิ้งไว้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยจอดทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2560 แต่เรื่องเพิ่งมาแดง

เรื่องเริ่มจากนายธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กทม. ได้ประสานขอยืมรถตู้ที่จอดทิ้งไว้ที่โรงจอดรถของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ มาใช้ในกิจการราชการของ สพม.เขต 1 กทม.

แต่โรงเรียนแจ้งว่านำไปใช้ไม่ได้ เพราะรถไม่มีทะเบียน ได้รับบริจาคมาจากผู้ปกครองตั้งแต่ปี 2560 คาดว่าอาจจะมีการบริจาคในช่วงที่มีการรับนักเรียน

ทางโรงเรียนจึงไม่กล้านำไปใช้

 

เบื้องต้นพบว่ารถตู้ทั้ง 2 คันเกิดขึ้นในสมัยที่นายปรเมษฐ์ โมลี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ถูกนำมาจอดตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งรับเด็กเสร็จ

ขณะที่นายปรเมษฐ์เพิ่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 นายธนารัชต์จึงสั่งการให้ทางโรงเรียนสืบสวนข้อเท็จจริงว่ารถตู้ทั้ง 2 คันโรงเรียนได้มาอย่างไร

ของมีมูลค่าสูง บริจาคอย่างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่

รวมถึงมีเอกสารหลักฐานการรับรถอย่างถูกต้องหรือไม่

ถ้าไม่มีก็เหมือนเป็นการรับของเถื่อน ซึ่งนายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง โดยมีรองผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นประธานแล้ว

นายธนารัชต์ระบุว่า คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงได้รายงานว่า มีรถตู้ 1 คันยี่ห้อโตโยต้า ป้ายแดง ร-3909 อาจเข้าข่ายเป็นรถที่รับมาจากการแลกที่นั่งเข้าเรียน โดยมีผู้ปกครองรายหนึ่งมอบเงินให้โรงเรียนไปซื้อรถตู้ ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่สมาคมผู้ปกครองมอบรถตู้ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนคนก่อนในช่วงวันที่ 6 มิถุนายน 2560 สืบทราบว่าผู้ปกครองได้มอบเงินเเละรับใบเสร็จรับเงินจากทางโรงเรียนในช่วงที่มีการรับสมัครนักเรียน ม.4 เมื่อโรงเรียนไปซื้อรถ จึงทำพิธีมอบรถ โดยให้สมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษาเป็นตัวแทน

รถคันดังกล่าวนำไปขอจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกไม่ได้ เพราะไม่มีใบซื้อขายซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญ กรมการขนส่งฯ จึงไม่จดทะเบียนให้ จึงเป็นรถตู้เถื่อน ขณะที่รถตู้อีกคันที่ไม่มีทะเบียน ทราบว่ามีคนขับรถตู้มาจอดทิ้งไว้ ถอดทะเบียนออกและนำกุญแจมาทิ้งไว้ที่ รปภ.แล้วรีบออกไป

“รถตู้ทั้ง 2 คัน จอดทิ้งไว้ที่โรงเรียนตั้งแต่ 2 ปีก่อน รถได้มาไม่ถูกกฎหมาย ไม่อยู่ในทะเบียนครุภัณฑ์ นำไปใช้ไม่ได้ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน รายงานผลการสืบข้อเท็จจริงว่าเป็นรถที่ผู้ปกครองบริจาคผ่านสมาคม แต่จะเกี่ยวข้องกับการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะหรือไม่ ยังไม่ฟันธง แต่รับมาในช่วงรับนักเรียน คือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560”

นายธนารัชต์ระบุ

 

ขณะที่ในส่วนของนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับรายงานจากนายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ว่า รถตู้ทั้งสองคันจัดซื้อก่อนวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 มีผู้บริจาคที่มีตัวตนชัดเจน

โดยคันที่ 1 รับบริจาคเป็นรถยนต์ คันที่ 2 รับบริจาคเป็นเงินสดแล้วจัดซื้อเอง จากนั้นโรงเรียนได้ขอความอนุเคราะห์ให้สมาคมรับบริจาคแทนและให้จดทะเบียนในนามสมาคม แล้วมอบให้โรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 เวลา 13.00 น.

โดยมีรายละเอียดดังนี้ วันที่ 30 มีนาคม 2561 หัวหน้างานยานพาหนะของโรงเรียน ได้รายงานการจดทะเบียนรถตู้ทั้ง 2 คันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเอกสารไม่ครบ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 สมาคมทำหนังสือบริจาครถตู้ทั้ง 2 คันให้โรงเรียน และโรงเรียนได้ทำหนังสือขอบคุณวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 และได้ติดตามการจดทะเบียนรถทั้ง 2 คัน

ในวันที่ 3 มกราคม 2562 โดยหัวหน้างานยานพาหนะแจ้งว่า ไม่สามารถจดทะเบียนได้เนื่องจากขาดเอกสารสำคัญ หากนำมาใช้อาจเกิดปัญหาในการขับขี่และผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เห็นสมควรให้งดใช้รถตู้ทั้ง 2 คัน จนกว่าจะจดทะเบียนถูกต้อง

ซึ่งในวันดังกล่าวทางโรงเรียนได้ส่งคืนรถตู้ทั้ง 2 คันให้กับสมาคม พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2562

นายบุญรักษ์ระบุด้วยว่า ตัวแทนสมาคมได้เข้าชี้แจง โดยยืนยันว่าการรับรถทั้ง 2 คันมีกระบวนการถูกต้อง และสมาคมอยู่ระหว่างขอจดทะเบียนเพื่อเตรียมมอบให้โรงเรียน ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ตรงกับข้อมูลที่ สพม.เขต 1 กทม.รายงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือว่าสมาคมทำเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ส่วนที่ว่าทำไมสมาคมไม่เร่งจดทะเบียนให้ถูกต้อง ทิ้งไว้ถึง 2 ปีนั้น เรื่องนี้ไม่ทราบรายละเอียด

“ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพียงแต่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ส่วนตัวไม่ได้หนักใจ เพราะสมาคมเป็นนิติบุคคล มีสิทธิรับบริจาค และในวัตถุประสงค์ก็เขียนที่มาของการบริจาคทรัพย์สินไว้ชัดเจน ผู้ที่เป็นเจ้าของรถตู้ทั้ง 2 คัน คือสมาคม การมอบให้โรงเรียนยังไม่มีความสมบูรณ์ตามกฎหมาย อีกทั้งเท่าที่ดูรายชื่อผู้บริจาคก็ค่อนข้างมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม ไม่จำเป็นต้องมาฝากเด็ก ผมได้อ่านรายงานทั้งจากเขตพื้นที่ฯ สมาคม และโรงเรียน ก็ยังไม่เห็นประเด็นการทำผิดกรณีการรับบริจาค แต่เบื้องหลังว่า ทำไมบริจาค ก็ไม่อาจทราบได้ หากพูดไปอาจเป็นการหมิ่นประมาท”

นายบุญรักษ์ระบุ

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ป.ป.ช.ก็ได้มาติดตามการรับนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ว่าเป็นไปตามมาตรการ ป.ป.ช.หรือไม่

โดยนายสุทินันท์ สาริมาน ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ป.ป.ช. ระบุว่า ป.ป.ช.มาสังเกตการณ์และติดตามการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ จะนำเกณฑ์การรับนักเรียนของโรงเรียนไปพิจารณาและเสนอให้บอร์ด ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อพัฒนาและปรับปรุงเกณฑ์ในอนาคต

ด้านนายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เผยว่า รถตู้ทั้ง 2 คันไม่ใช่รถโรงเรียน รถไม่มีเอกสาร ไม่มีทะเบียน ไม่มีใบเสียภาษี เบื้องต้นทราบว่า 1 ใน 2 คันได้รับมาในวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงหลังรับนักเรียนแล้ว ส่วนอีกคันไม่รู้ว่ารับมาในวันใด ทั้งนี้ ตนเพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียง 5 เดือน

ขณะที่ นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ ประธานคณะกรรมการรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะหารือเรื่องรถตู้ในที่ประชุมคณะกรรมการรับนักเรียน นัดหน้า

ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ตลอดจนกระทรวงศึกษาธิการ พยายามหามาตรการสกัดการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน มีการปรับเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นช่องโหว่ ฉะนั้น ถือเป็นอีกเคสที่ต้องจับตามองว่าที่สุดแล้วจะจบแฮปปี้เอนดิ้งอย่างที่เลขาธิการ กพฐ.ระบุ

   หรือจะลงเอยเหมือนดั่งกรณีของโรงเรียนสามเสนฯ ก็ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด