เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง…เหนื่อย เจอ 2 เด้ง ตั้ง รบ.ใหม่ยังอลวน ปัจจัยลบใน-นอกประเทศรุมเร้า

เศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง…เหนื่อย

เจอ 2 เด้ง ตั้ง รบ.ใหม่ยังอลวน

ปัจจัยลบใน-นอกประเทศรุมเร้า

 

หลังเฝ้ารอมานานหลายปี ในที่สุดประเทศไทยสามารถจัดเลือกตั้งพาคนดีเข้ามาทำงานในสภา

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับความเป็นธรรม ความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะพบข้อผิดพลาดหลายประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องแก้ปัญหาเอง

แต่ที่เกี่ยวเนื่องในความสนใจของประชาชน ณ ขณะนี้ คือโฉมหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังว่างเว้นไป 5 ปี ที่ล่าสุดค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เหลือเพียง 2 ขั้วที่จะฟอร์มรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงข้างมากที่ก้ำกึ่งกัน

ขั้วหนึ่งคือ พรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. และอีกขั้วคือ พรรคเพื่อไทย แต่เพราะเสียงไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้แต่ละฝ่ายจะดึงพรรคพันธมิตรและพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมคะแนนแล้วก็ตาม

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันที คือดัชนีตลาดหุ้นชี้วัดความหวั่นไหว ไม่มั่นใจของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เปิดตลาดวันแรกหลังประชาชนคนไทยไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรลงคะแนนที่หน้าคูหา จนผลโหวตอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ดัชนีหุ้นร่วงทันทีจนปิดตลาดในเวลาเย็น ลดลงไป 20.38 จุด ด้วยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างประเทศ ช่วยกันเทขายหุ้น

มีเพียงนักลงทุนทั่วไปในประเทศที่ยังซื้อหุ้น

 

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเชิงบวก เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนจะดีขึ้นหลังเลือกตั้งเพราะคาดหมายว่านายกรัฐมนตรีจะยังเป็นคนปัจจุบัน นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากพรรค พปชร.จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ นโยบายเศรษฐกิจที่วางไว้ก็สามารถดำเนินการต่อได้ตามแผน และเสถียรภาพทางการเมืองไทยจะดีขึ้นในสายตาชาวโลก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลเข้ามาไทยมากขึ้น ดัชนีหุ้นไทยปีนี้จะสามารถไต่ระดับได้สูงสุดถึง 1,900 จุดทีเดียว

แต่หากกลับด้าน เป็นพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล นายชัยยศมองว่าจะส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุน เพราะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส.เขตมากเป็นอันดับ 1 มากกว่าพรรค พปชร.

แต่กฎกติกาจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ต้องใช้เสียง ส.ว. 250 เสียงเข้ามาร่วมโหวตด้วย และมีความสุ่มเสี่ยงสูงยิ่งที่จะไม่ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว. การเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ ก็จะยากลำบากมาก รวมไปถึงการทำงานด้านนโยบายที่ต้องร่างกฎหมายใหม่ๆ อาจจะผลักดันผ่านสภาได้ยากเช่นกัน

“หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศกลัวที่สุด ไม่อยากเห็นภาพจำความรุนแรงทางการเมืองในอดีตตามมาหลอกหลอนอีก สิ่งที่จะตามมาคือเม็ดเงินลงทุนไหลออกอีกครั้ง และประเทศไทยก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ อีก อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงมากๆ แต่อาจเห็นการประท้วงเล็กๆ น้อยๆ บ้างประปราย”

 

แต่มาถึงชั่วโมงนี้ ดูเหมือนตุ๊กตารัฐบาลจะไม่ได้มีเพียงพรรค พปชร.ที่จองเก้าอี้นายกฯ ให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคเพื่อไทยที่บรรดาแกนนำ-ดาวเด่นทั้งหมดไม่ได้เข้าป้ายเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว จนอาจต้องยกเก้าอี้นายกฯ ให้พรรคพันธมิตร อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พรรคน้องใหม่ที่มาแรงสุดๆ ให้ทำหน้าที่แทน

หรืออาจจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือเสี่ยหนู หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกพรรคเพื่อไทยจีบให้ย้ายขั้วมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยยกเก้าอี้นายกฯ ให้เช่นกัน

โฉมหน้ารัฐบาลใหม่จะเป็นยังไง ขั้วใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนหน้าหรือเป็นหน้าเดิม ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอกันต่อไป เพราะนอกจากเสียงของ 2 ขั้วยังก้ำกึ่งกันแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศออกมาแล้วว่ายังมีเวลาที่จะประกาศผลรับรองการเลือกตั้งไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า กกต.จะประกาศในวินาทีสุดท้าย

นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่รักษาการไปก่อน อย่างน้อยอีกเดือนกว่าๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามคาดที่ภาคเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่าเวลาที่เหมาะสม ต้องไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการฟอร์มทีมรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศสานต่อโครงการต่างๆ หรือเดินหน้าโครงการใหม่ๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ต่อไป ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ก่อตัวตั้งเค้าให้เห็นแล้วจากดัชนีหุ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ร่วงหนักกว่า 20 จุด

หลายคนอาจมองว่าเป็นผลจากการเมืองไทยหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งแล้วก็ยังอึมครึม ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยเสริมตัวหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักคือทั่วโลกกำลังเป็นกังวลว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดเมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐแย่กว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงทุกกระดาน

และแน่นอนว่าย่อมกระทบถึงภาคการส่งออกของไทยที่กำลังกระเตื้องขึ้นอาจจะซวนเซได้ และจะทำให้อัตราการเติบโตช้ากว่าประเทศในแถบเพื่อนบ้านของไทย เพราะแม้ในช่วงที่ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทยเริ่มเติบโตดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

แต่เราเสียโอกาสไปก่อนหน้านี้จนปัจจุบันเราเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

 

อีกปัจจัยที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือหากการฟอร์มรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในช่วงรอยต่อก่อนมีรัฐบาลใหม่ลุยงาน หน่วยงานภาครัฐจะเกียร์ว่างหรือไม่ เหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคและปัญหาที่รอให้มีใครเข้ามาจัดการ

แต่ปัญหาจะไม่จบตรงที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เพราะไม่ว่าขั้วไหนจะมา หรือตาอยู่จะมา การบริหารราชการหลังจากนี้ไม่มีอะไรง่าย เมื่อเสียงของสองขั้วไม่ชนะแบบขาดลอย การจะออกกฎหมายสำคัญๆ หรือแม้แต่การบริหารราชการตามปกติก็ไม่มีทางราบรื่น เมื่อจำนวนมือที่ยกสนับสนุนรัฐบาลกับมือที่ยกไม่สนับสนุนใกล้เคียงกันมาก

  รัฐบาลต้องใช้พละกำลังอย่างหนัก หรืออาจต้องใช้มือที่มองไม่เห็นช่วย แล้วอย่างนี้ช่วยปากท้องประชาชนให้กินอิ่ม เข็นเศรษฐกิจฝ่ามรสุมทั้งในและนอกประเทศได้อย่างไร วัดฝีมือรัฐบาลใหม่ ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศจะฝากผีฝากไข้ได้หรือไม่…รู้กัน