ราชสีห์ กับ หนู : อนุทิน กับการจับ “สัญญาณพิเศษ”

ราชสีห์กับหนู

การชื่นชอบ “การบิน” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยนั้น

นอกจากให้ความรู้สึกว่าชีวิตมีความเป็นอิสระแล้ว

ยังทำให้เขาเป็นหนึ่งใน “จิตอาสา” ที่มีส่วนช่วยเหลือชีวิตมนุษย์

ด้วยการช่วยลำเลียง “อวัยวะมนุษย์” ไปใช้ในการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจ

ซึ่งต้องแข่งกับเวลา โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง

เครื่องบินจึงเป็นพาหนะที่ตอบโจทย์มากที่สุด และเขาได้อาสาที่จะทำงานตรงนี้ด้วยความสมัครใจ

“การช่วยต่ออายุคนมันก็เป็นความปีติ เป็นความสุขที่ได้ทำ ซึ่งจริงๆ แล้วเราทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้รับส่ง เราไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องทางการแพทย์เลย

แต่เป็นสิ่งที่ผมมีความภาคภูมิใจว่าชีวิตหนึ่งเมื่อได้เกิดมาแล้ว เมื่อมีโชคดีกว่าคนอื่นเพราะมีสิ่งที่เราสามารถอำนวยความสะดวกได้ ถ้าได้ช่วยต่อชีวิตให้กับเพื่อนมนุษย์ ผมก็พร้อมที่จะทำต่อไปจนกว่าจะบินไม่ไหว”

คือความในใจของนายอนุทิน

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องถือเป็นบุคคลที่โดดเด่นอย่างมากในตอนนี้

ทั้งที่เป็นเพียงหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้คะแนนและจำนวนที่นั่ง ส.ส. มากเป็นอันดับ 4 เท่านั้น

แต่เป็นลำดับที่ 4 ที่ถูกวางยุทธศาสตร์ไว้ตั้งแต่แรกว่าจะเป็นตัวแปรชี้ขาดว่า ขั้วการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล

นายอนุทินจึงเป็นเสมือนผู้ช่วย “ต่อชีวิต” ทางการเมืองให้กับปีกการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ดั่งการทำจิตอาสาในการบินส่ง “อวัยวะ” เพื่อใช้ในการเปลี่ยนถ่าย

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมนายอนุทิน หรือ “หนู” จึงโดดเด่น

เด่น เพราะใช้ความเป็น “หนู” ช่วยราชสีห์พ้นจากบ่วง ดังนิทานอีสปได้นั่นเอง

แต่คำถามอันแหลมคมก็คือ

หนู จะช่วย ราชสีห์ ฝ่ายใด

เมื่อย้อนไปในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

พรรคภูมิใจไทยถูกมองว่า มีสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับ คสช.

พล.อ.ประยุทธ์เคยไปเยือนถิ่นบุรีรัมย์ของนายเนวิน ชิดชอบ คนเบื้องหลังนายอนุทิน อย่างอบอุ่น

ประกอบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีสัมพันธ์อันดีกับนายเนวินและนายอนุทิน

จนพรรคภูมิใจไทยถูกจัดเป็น “แนวร่วม” คสช.และพรรคพลังประชารัฐ อย่างไม่ปิดบัง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรณรงค์หาเสียง มีเหตุสะดุด ระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องนโยบายกัญชาเสรี ที่พรรคภูมิใจไทยมุ่งมั่นอย่างยิ่งกับนโยบายนี้อย่างสูง

แต่ท่าทีของผู้นำต่อเรื่องนี้ก็คือ “เลอะเทอะ”

สร้างความไม่พอใจให้กับนายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยไม่น้อย

และนำไปสู่การประกาศจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยในเรื่องนายกรัฐมนตรี ว่า จะต้องเป็นการดำเนินการของ ส.ส.ในสภาเป็นหลัก

มิใช่ขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิก

จุดนี้จึงมีการตีความว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ยอมไหลไปกับกระแสหนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเซื่องๆ และมีเงื่อนไข

จึงเป็นความคาดหวังของฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ ว่า หากมีเงื่อนไขดีๆ อาจทำให้พรรคภูมิใจไทย ซึ่งพยายามโชว์ความเป็นกลางกับทุกฝ่าย อาจเปลี่ยนแปลง “จุดยืน” ได้

นี่จึงนำไปสู่กระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ด้วยการยื่นเงื่อนไข พร้อมเสียสละให้นายอนุทินก้าวขึ้นสู่ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อแลกกับการที่พรรคภูมิใจไทยมาร่วมกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย

ที่ประกอบด้วย เพื่อไทย 135 เสียง, อนาคตใหม่ 80, เสรีรวมไทย 10, ประชาชาติ 6, เศรษฐกิจใหม่ 6, เพื่อชาติ 5 และพลังปวงชนไทย 1

ซึ่งจะมีคะแนนเสียงเหนือขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีพรรคหนุน 8 พรรค จำนวน ส.ส.รวม 242 เสียง

ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 117 เสียง, ประชาธิปัตย์ 53, ภูมิใจไทย 51, ชาติไทยพัฒนา 11, รวมพลังประชาชาติไทย 5, ชาติพัฒนา 3, รักษ์ผืนป่า 1, พลังท้องถิ่นไท 1 ซึ่งล่าสุดก็ยังมีโอกาสที่พรรคเล็กๆย่อยๆอีกจำนวนหนึ่งได้เสียงอย่างละ1ที่หลายพรรค โดยเกลี่ยใหม่

ต่อกระแสข่าวนี้ ดูเหมือนจะไม่มีเสียงปฏิเสธจากนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ซึ่งต่างจาก 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นายภูมิธรรมประกาศว่าจะไม่พูดคุยเพราะจุดยืนต่างกันชัดเจน

ส่วนพรรคอื่น ซึ่งรวมถึงพรรคภูมิใจไทย นายภูมิธรรมใช้คำกว้างๆ ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกับทุกพรรค

และจำเพาะถึงพรรคภูมิใจไทย ว่า

“การเสนอสูตรให้นายอนุทินเป็นนายกฯ นั้น พรรคเพื่อไทยไม่ยึดติดและไม่มีเงื่อนไข ขอเพียงให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีตามที่ได้หาเสียงไว้”

ซึ่งก็เหมือนการเปิดไฟเขียวไว้รอนั่นเอง

 

และระหว่างที่รอ “สัญญาณ” การตอบรับจากพรรคภูมิใจไทย

พรรคเพื่อไทยก็รีบชิงผูกมัดพรรคในขั้วตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไว้ก่อน ด้วยการประกาศเดินหน้าตั้งรัฐบาล ด้วยเสียงเกินครึ่งของสภาล่างคือมากกว่า 250 เสียง

ด้วยเหตุผลตามที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม

โดยนายชูศักดิ์กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการขณะนับคะแนนได้ประมาณ 95% ปรากฏว่าพรรค พท.ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดประมาณ 137 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.ประมาณ 118 คน จึงต้องถือว่าพรรคเพื่อไทยได้รับฉันทามติจากประชาชนเพื่อให้เข้ามาบริหารประเทศ

“แต่พรรคพลังประชารัฐกลับอ้างคะแนนเสียงรวมของประชาชน ทั้งที่คะแนนดังกล่าวได้แปลงมาเป็นจำนวน ส.ส.แล้ว นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ประกาศชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ว่าคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ก็มีจำนวน ส.ส.มากกว่า 250 คน และมีจำนวนคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงของพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจกว่า 6 ล้านเสียง โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่าผลการเลือกตั้งเบื้องต้นสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาอีก การที่พรรคการเมืองบางพรรคจะร่วมตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปนั้น น่าจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐบาลเช่นนี้จะไม่ได้ความยอมรับจากประชาชนและจะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ของประชาชนได้เลย” นายชูศักดิ์ระบุ

แน่นอน สัญญาณนี้นอกจากจะส่งไปถึงประชาชนโดยรวมแล้ว

ยังเป็นการส่งสัญญาณ “ซ้ำ” ไปถึง “พรรคภูมิใจไทย” ด้วยว่าจะสนใจเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ที่เสนอหรือไม่

 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยทราบดีว่า พรรคพลังประชารัฐไม่อาจเสนอเงื่อนไขพิเศษเช่นนี้ได้

เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกตีตราจองไว้ให้ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

สถานะของพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นพรรคร่วมธรรมดา และอาจมีพลังต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐไม่มาก เนื่องจากเสียงน้อยกว่า

จุดด้อยตรงนี้เอง ที่อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องคิด

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องรีบออกมาแก้เกม

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคกล่าวว่า พรรคมั่นใจในการตั้งรัฐบาล และไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังมีเวลาอยู่ และต้องรอดูอีกหลายอย่าง

“เอาเป็นว่าภาพรวมภาพใหญ่ เป็นภาพที่เป็นทิศทางบวก ขอยืนยันว่าพรรคมั่นใจที่สามารถดำเนินการได้ตามที่ประสานงานกันไว้ เพียงแต่ว่าหลักการของพรรคเวลาจะไปเจรจากับใคร จะไม่เอาตำแหน่งนายกฯ ไปล่อพรรคการเมืองอื่นให้มาร่วมรัฐบาล เพราะไม่สามารถรวมรัฐบาลและเอาตำแหน่งนายกฯ ไปแลกเปลี่ยน เราไม่ทำแบบนั้น”

นั่นเป็นความพยายามที่จะย้อนเกล็ดพรรคเพื่อไทย

และเชื่อว่าภายใต้ออปชั่น การได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์

พรรคภูมิใจไทยจะได้ความมั่นใจเรื่องเสถียรภาพ ดำรงอยู่ในเซฟโซน เพราะมีทั้งวุฒิสภา และรวมถึงกองทัพ เป็นกองหนุนอันแข็งแกร่งให้

นอกจากนี้ นายอนุทินเองก็อยู่ในท่ามกลางกระแสข่าวว่า จะต้องจับ “สัญญาณพิเศษ” บางประการ

และสัญญาณพิเศษนี้ อาจจะชี้ทิศทางว่าพรรคภูมิใจไทยจะขับเคลื่อนไปในทางใดด้วย

ในภาวะที่ 2 ขั้วใหญ่ทางการเมือง ต่างต้องการช่วงชิงให้พรรคภูมิใจไทยเข้าไปร่วมในขั้วของตนเอง

ทำให้พรรคลำดับที่ 4 กลายเป็นพรรคที่อยู่ใน “จุดสำคัญ”

มีการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า “เสี่ยหนู” จะกัดบ่วงให้กับราชสีห์ตัวใด

และการตัดสินใจนั้น จะเป็นผลดีและตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้งครั้งนี้เพียงใด

ต้องไม่ลืมว่า มีการประเมินแล้วว่า รัฐบาลใหม่อาจจะมีอายุไม่ยืนยาวเท่าใดนัก อาจจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่อีกครั้ง

ซึ่งนั่นก็น่าสนใจว่า พรรคภูมิใจไทยจะอยู่ในความทรงจำของประชาชนอย่างไร

จะอยู่ในบทบาทที่มีแต่ได้อย่างเดียว–อาจไม่ใช่ก็ได้