กรองกระแส / เลือกตั้ง 2562 การต่อสู้ของ 2 อำนาจนำ เก่า และ ใหม่

กรองกระแส

 

เลือกตั้ง 2562

การต่อสู้ของ 2 อำนาจนำ

เก่า และ ใหม่

 

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกเข้ามาผ่านระบบเขตมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 137 ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 97

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐยังได้คะแนนรวมหรือที่เรียกว่าป๊อปปูลาร์โหวตมากถึง 7.9 ล้าน

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนคะแนนรวมหรือที่เรียกว่าป๊อปปูลาร์โหวตที่พรรคเพื่อไทยได้มา 7.4 ล้านเสียง ก็ถือว่าพรรคพลังประชารัฐมีจำนวนมากกว่า

คล้ายกับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้การันตีอำนาจให้กับ คสช.ผ่านพรรคพลังประชารัฐ

คล้ายกับว่ากระบวนการของการเลือกตั้งมิได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ สถานการณ์ใหม่อย่างที่คาดหวัง เพราะว่าทุกอย่างดำเนินไปตามที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยเสนอบทสรุปอันแหลมคมยิ่งว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

อย่างน้อยด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีเพียง 119 เสียง แต่ถ้าสามารถหาพันธมิตรได้กว่า 250 เสียงเมื่อไปผนวกรวมกับ 250 ส.ว. แผนการสืบทอดอำนาจผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประสบความสำเร็จ

ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในวาระ 4 ปีข้างหน้า หากมีความเป็นไปได้ที่จะฝังรากแห่งอำนาจยาวนานไปกว่า 2 ทศวรรษ

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

 

ปรากฏการณ์ใหม่

จากการเลือกตั้ง

 

หากดูแต่ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐโดยมองข้ามความพ่ายแพ้ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือการไม่สามารถโงหัวขึ้นมา ได้ของพรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ อันล้วนอยู่ในเครือข่ายของ คสช. ก็อาจจะมองเห็นแต่ด้านที่รุ่งโรจน์

ยิ่งกว่านั้น สังคมจะมองข้ามความเสื่อมทรุดของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีส่วนสัมพันธ์กับรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไปได้อย่างไร

โดยเฉพาะการไม่ได้รับเลือกเลยในพื้นที่ กทม. อันเคยยึดครองมาอย่างยาวนาน

ขณะเดียวกันจำนวน 137 ส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยได้มาสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยยึดกุมอันดับ 1 เอาไว้ได้เหนือกว่าทุกพรรคการเมืองก็เป็นชัยชนะท่ามกลางกฎกติกาของ คสช.ที่ต้องการบดขยี้ทำลายล้างพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มเรี่ยวแรง กระนั้น ก็ยังไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยแหลกละเอียดลงได้

ยิ่งกว่านั้น การทะยานขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่โดยมีหลักการทางการเมืองที่เข้มข้นมากยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันว่า แม้ไม่ว่า คมช. ไม่ว่า คสช.จะต้องการบดขยี้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยมิได้แหลกละเอียด หากแต่ยังมีพรรคอนาคตใหม่ปรากฏขึ้นอย่างทระนงองอาจอีก

 

อำนาจการเมือง

ภายหลังเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีผลสะเทือนอย่างแน่นอน แม้ไม่สามารถบั่นทอนอำนาจทางการเมืองในมือของ คสช.ได้อย่างเด่นชัด แต่ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจทางการเมืองในมือของ คสช.ก็ได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

หากไม่นำไปเทียบกับอำนาจที่ คสช.เคยมีภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะมองได้อย่างไม่เด่นชัด

อย่างน้อยหลังการจัดตั้งรัฐบาล อำนาจโดยมาตรา 44 ก็จะต้องหมดไป

อย่างน้อยสถานะของ คสช.อย่างเป็นทางการก็จะต้องหมดและหรือเปลี่ยนบทบาทไปอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์

แต่คำถามก็คือ อำนาจที่ว่านี้ยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

บรรยากาศการต่อสู้ภายหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะผ่านบทสรุปต่อการทำงานของ กกต. ไม่ว่าจะผ่านการแย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาล เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าดำเนินไปอย่างมีลักษณะท้าทายและพุ่งเป้าไปยังอำนาจของ คสช.โดยตรง

สถานะของ กกต.แทบไม่แตกต่างไปจากสถานะและเกียรติภูมิของ ป.ป.ช. และเมื่อมีการวิพากษ์โจมตี กกต. หรือ ป.ป.ช. ในที่สุดก็ไปลงเอยที่ คสช.

 

อำนาจนำ การเมือง

อำนาจเก่า อำนาจใหม่

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม สะท้อนภาพการปะทะระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ให้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดผ่านพันธมิตรทางการเมือง 2 ขั้ว 2 ฝ่าย

ฝ่ายอำนาจเก่า ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ฝ่ายอำนาจใหม่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และรวมถึงพรรคอนาคตใหม่

ความหมายหมายความว่า อำนาจเก่าต่อสู้เพื่อรักษา “อำนาจนำ” ในแบบเก่า

ความหมายหมายความว่า อำนาจใหม่ต่อสู้เพื่อนำเสนอและทำให้สถานะแห่ง “อำนาจนำ” ในแบบใหม่ได้รับการสถาปนา

ผลก็คือแม้อำนาจนำเก่าจะเป็นฝ่ายกำชัย แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจนำใหม่จะไม่มีที่ยืน