2559 หืดขึ้นคอ “สื่อไทย” เร่งปรับขบวน มุ่งหน้าสู่ปี 2560

สถานการณ์วงการสื่อยังเป็นประเด็นที่ผู้สนใจเกาะติดว่า ทิศทางของสื่อไทยจะไปทางไหน เพราะผลประกอบการในปีนี้ ชัดเจนว่า ขาดทุนกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอล ทีวี นิตยสารดังๆ ที่ขายเนื้อหาแฟชั่นและเรื่องราวของคนดัง โฆษณาสินค้าระดับบน ทยอยปิดตัวฉบับแล้วฉบับเล่า

หนังสือพิมพ์รายวันอยู่ในอาการหืดขึ้น แม้ว่าความเชื่อถือของผู้ติดตามอ่านข่าว ยังอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ขณะที่ข่าวทางออนไลน์แม้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีตัวเลขการเข้าถึงอย่างก้าวกระโดด แต่ในทางธุรกิจ ยังจะต้องมีการปรับตัวอีกมาก

รายวันฉบับแรกที่ปิดตัวไปได้แก่ “บ้านเมือง” ซึ่งแจ้งไว้ล่วงหน้าว่าจะยุติการออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปีใหม่ 2560 เป็นต้นไป

ที่น่าสนใจก็คือ “ฉลามเขียว” คอลัมนิสต์ในหน้า 3 ของบ้านเมือง ได้เขียนระบุว่า สาเหตุหนึ่งของการล่มสลายของสื่อ ก็เพราะการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่นำมาสู่การรัฐประหาร สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

และส่งผลต่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องพึ่งพาการโฆษณาจากบริษัทห้างร้านต่างๆ เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องรัดเข็มขัด ทำให้กิจการหนังสือพิมพ์ไม่มีรายได้จากการโฆษณาหล่อเลี้ยง

“ฉลามเขียว” ยังทิ้งท้ายคอลัมน์ถึงบรรดาคนหนังสือพิมพ์ว่า อย่าฝักใฝ่เผด็จการ

เป็นคำเตือนที่น่าจะทำให้คนหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่รุ่นเก่าสะดุ้งไปตามๆ กัน เพราะรู้ดีอยู่แก่ใจว่า เป็นสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

การที่สื่อต่างๆ หมดบทบาทไปภายใต้สถานการณ์พิเศษนั้น

แยกไม่ออกจากบทบาทของสื่อกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557

 

แนวโน้มของวงการสื่อไทย ผลการสำรวจของบริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ซึ่งได้เสนอรายงาน “มีเดียโปรไฟล์ 2016” เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ระบุบางตอนว่า ในปี 2559 โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักที่กำหนดตลาด และเป็นช่องทางสื่อที่คนเข้าถึงมากที่สุด เติบโตจาก 97% ในปี 2558 มาเป็น 98% ในปีนี้

ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์ ตกลงจาก 60% ไปอยู่ที่ 53% ส่วนนิตยสาร ตกลงจาก 38% ไปอยู่ที่ 32%

ตรงกันข้ามกับสื่ออินเตอร์เน็ตที่โตอย่างก้าวกระโดด จาก 2558 อยู่ที่ 46% เพิ่มขึ้นเป็น 59% ในปีนี้

กันตาร์ระบุด้วยว่า วิทยุยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงในกลุ่มต่างจังหวัดได้ดี กลุ่มผู้บริโภคหลักของวิทยุคือ กลุ่มผู้สูงอายุ

ส่วนหนังสือพิมพ์และแม็กกาซีนแม้เติบโตลดลง แต่ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แม้สื่อทีวีจะยังคงความเป็นสื่อที่คนเข้าถึงมากที่สุด แต่พฤติกรรมการเสพสื่อ พบว่า ผู้บริโภคใช้เวลาดูสื่อทีวีลดลงจาก 3.8 ชั่วโมงต่อวันเมื่อปีที่แล้ว ลดลงอยู่ที่ 3.4 ชั่วโมงต่อวัน

เช่นเดียวกับสื่อวิทยุ ที่ผู้บริโภคใช้เวลาลดลงจาก 2.5 ชั่วโมงต่อวันเมื่อปีที่แล้ว เหลืออยู่ที่ 1.7 ชั่วโมงต่อวัน

สวนทางกับสื่อดิจิตอล ผู้บริโภคใช้เวลามากขึ้น การใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้านเพิ่มขึ้นจาก 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 2.2 ชั่วโมง ส่วนการใช้อินเตอร์เน็ตนอกบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 1.6 ชั่วโมงต่อวัน

การใช้เวลากับโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก สั้นลง จาก 29.9 นาทีต่อการเข้าใช้งานในแต่ละครั้ง ลดลงเหลือ 23.5 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่มีความคงที่ สะท้อนว่าผู้บริโภคเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์หลากหลายขึ้น และใช้เวลาไปกับกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ

กิจกรรมหลัก 5 อันดับสูงสุดของการบริโภคสื่อดิจิตอล ผ่านทางสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และ พีซี-แล็บท็อป เหมือนกันในทุกอุปกรณ์ คือ ใช้เพื่อแชต ออนไลน์, ถ่ายรูปและอัพโหลดรูป, Chat online, ใช้เสิร์ช เอนจิ้น, ดูวิดีโอ และอ่านข่าว

พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊ก ในปี 2559 พบว่าผู้บริโภคเยี่ยมชมแฟนเพจแบรนด์สินค้าต่างๆ มากยิ่งขึ้น จากเมื่อปี 2558 อยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นเป็น 68% รวมทั้งดูโฆษณาของแบรนด์สินค้า คลิกโฆษณาแบรนด์สินค้า และสนใจคลิก อี-คอมเมิร์ซ -ร้านค้าออนไลน์ของสินค้า เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นเข้าโฮมเพจและนิวส์ฟีด ดูภาพ ดูโปรไฟล์และไทม์ไลน์ตัวเอง แชต ดูวิดีโอ ดูและติดตามไทม์ไลน์ของคนอื่นๆ

ตัวเลขและข้อมูลจากรายงานการวิจัย ตอกย้ำทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นของสื่อออนไลน์ ที่นับวันยิ่งเติบโต ขณะที่สื่อเก่าถดถอยไปเรื่อยๆ

 

สํารวจการปรับตัวของสื่อต่างๆ เป็นไปตามสูตรของการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย

ทั้งค่าใช้จ่ายในสำนักงาน, งดจ่ายโบนัส ไม่รับพนักงานเพิ่ม, ลดจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ ฯลฯ มาจนถึงนโยบายให้ลาออกโดยสมัครใจ

ที่ชัดเจนอย่างมากได้แก่ การมุ่งไปทำสื่อออนไลน์

ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และเอเอสทีวี ชัดเจนมาระยะหนึ่ง เนื่องจากเว็บไซต์ข่าวของกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มนำในกลุ่มเว็บข่าวสาร

อันดับ 1 ได้แก่ ข่าวสด ตามมาด้วยไทยรัฐ เอเอสทีวีหรือผู้จัดการ จากนั้นคือ มติชน เดลินิวส์

นอกจากเว็บไซต์ข่าว ยังมีความคึกคักในการใช้เฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

อย่างเฟซบุ๊กของข่าวสด มีจำนวนผู้กดไลก์กว่า 10 ล้านในขณะนี้

สำหรับเนชั่น ซึ่งปี 2559 ที่ผ่านมา ประสบปัญหาหลายด้าน จนเกิดคดีความหลังการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงลดต้นทุนให้ลาออกโดยสมัครใจ ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ลดหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ, งดจ่ายค่าที่จอดรถให้พนักงาน ฯลฯ ได้มีการตั้งองค์กรเตรียมพัฒนางานข่าว โดยมี สุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้นำ

ค่ายโพสต์ สำนักเก่าแก่ที่ระยะหลังอาการไม่ค่อยดี ไม่รับนักข่าวเพิ่ม, ทำหนังสือพิมพ์แจกฟรีหรือฟรีก๊อบปี้ โดยตั้งเป้ายอดพิมพ์ 1 ล้านฉบับ สร้างฐานผู้อ่านเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้

ขณะที่สื่อทีวี มีการปรับขบวนคึกคักไม่แพ้กัน ที่ถอดใจไปแล้วก็มี บ้างประคองตัวรอจังหวะเวลา กลุ่มที่สายป่านยาวอย่าง พีพีทีวี ของเครือ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ พยายามหาคอนเทนต์ใหม่ๆ มาเรียกผู้ชมตลอดเวลา

ที่เคลื่อนไหวคึกคัก คือ “สปริงนิวส์” ที่ได้ ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น มารับตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกาศเป็นสื่อครบวงจรที่ประกอบด้วย สถานีข่าวสปริงนิวส์ วิทยุสปริงเรดิโอ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือนี้

และยังเตรียมทำหนังสือพิมพ์แจก หรือฟรีก๊อบปี้ ยอดพิมพ์ 500,000 ฉบับต่อสัปดาห์

ต้องถือว่า วงการสื่อยังคึกคักและหาหนทางอยู่รอด เพื่อหน้าที่ของตนเอง

แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน เงื่อนไขทางการเมืองมีส่วนกำหนดอย่างมาก