คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ประเพณี “เทวประสาท” ของฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ไม่นานนี้ผมเพิ่งไปสักการะวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขกสีลม เผอิญไปฟังบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนแถวนั้น แล้วนึกถึงวัดซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

ขณะกำลังจะเดินเข้าในพระวิมานของเจ้าแม่มาริอัมมา ก็พบกับคุณสุรพงษ์ สิริธรกุล ประธานกรรมการมูลนิธิของวัดพอดี ผมก็ยกมือไหว้ท่านเพราะจำได้จากสื่อ แม้จะไม่เคยพบกันมาก่อน ท่านก็จำผมได้เหมือนกัน เลยได้โอภาปราศรัยเป็นนานสองนาน

อย่างแรก ผมขอบพระคุณที่ตอนนั้น “มติชน” จัดทัวร์เทวสถานในกรุงเทพฯ เรามากันที่วัดแขกสีลม แม้ท่านไม่ว่างแต่ก็จัดแจงให้พราหมณ์ประกอบพิธีให้เราอย่างเต็มที่

คุณสุรพงษ์เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขชาวอินเดียใต้ในสีลม เล่าให้ผมฟังว่า ท่านมีข้อมูลที่ต่างจากบางแหล่งในเรื่องที่ตั้งเดิมของวัด ท่านว่าวัดแขกสีลมนั้นไม่เคยย้ายมาจากหัวลำโพง แต่ตั้งอยู่ที่สีลมตั้งแต่แรก เพราะคุณแม่และคุณยายของท่านก็ยืนยันว่าเคยเห็นวัดมานานแล้ว

อีกทั้งท่านว่าคนอินเดียแต่เดิมเป็นคนในบังคับอังกฤษ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้ามาก็ให้อยู่อาศัยที่สีลมมาแต่แรกร่วมกับคนจีนโดยเฉพาะพวก “บ่าบ๋า” เพราะพวกนี้เป็นคนในบังคับอังกฤษเหมือนกัน

คนจีนกับอินเดียในย่านสีลมจึงคุ้นเคยเป็นญาติมิตรพี่น้องกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนจีนจึงมีบทบาทหลายอย่างในเทวสถานของชาวอินเดียแห่งนี้

 

คุยกันสักพัก ท่านก็บอกให้ผมไปรับ “เทวประสาท” หลังบูชาประจำวันในส่วนของท่านแทน ผมก็รู้สึกเขินๆ เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะได้รับเกียรติมากขนาดนี้

เมื่อพราหมณ์กระทำบูชาแล้วก็นำน้ำ “ปาโททกะ” มาให้เราดื่ม ยกเอาพวงมาลัยจากเทวรูปมาคล้องคอให้ เจิมด้วยแป้งจันทน์และผง “กุงกุม” ซึ่งเพิ่งนำเข้าไปถวาย ยกถาดผลไม้ หมาก-พลู ข้าวหุงอย่างแขกและขนมของทางอินเดียภาคใต้มาให้อย่างมากมาย พลางสวดให้พรไปด้วย

“ปาโททกะ” หากอธิบายให้ง่ายหมายถึงน้ำสรงเทวรูป ซึ่งเขาจะกระทำเป็นการบูชาทุกวัน บางครั้งก็เป็นน้ำเปล่า น้ำหอม น้ำหวานหรือนมก็ได้ คำนี้มาจากคำว่า “ปาท” แปลว่าเท้า บวกกับคำว่า “อุทก” แปลว่าน้ำ ปาโททกะ จึงแปลว่า “น้ำสรงพระบาท”

เรารับมาด้วยอุ้งมือขวา ดื่มกินแล้วอาจลูบบนศีรษะ ที่วัดเทพมณเฑียร ฮินดูสมาชจะใช้เป็นน้ำหวานหรือนมหวานแล้วมีใบกะเพราผสมอยู่ ครูท่านบอกว่าเนื่องจากวัดเรามีพระวิษณุเป็นประธาน ซึ่งต้องกระทำบูชาด้วยใบกะเพรา นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ใบกะเพราช่วยชำระบาปมลทินโทษได้ จึงมีผสมอยู่ในปาโททกะ

แต่โดยทั่วไป เมื่อจะมอบปาโททกะให้ผู้ศรัทธา พราหมณ์ในวัดท่านก็จะบอกคนไทยแค่ว่า “รับน้ำมนต์ๆ” เพราะกลัวเกิดความเข้าใจผิด กลัวคนไทยจะคิดว่า เอ๊ะ นี่น้ำล้างเท้าล้างบาทอะไร จะไม่กล้ารับไปดื่ม

 

ธรรมเนียมฮินดูนั้น ถือว่าเมื่อเข้าวัดแล้วจะไม่กลับออกมามือเปล่า นอกเหนือจากความสบายใจ พรและบุญกุศลที่ได้รับ ผู้ศรัทธาจะได้รับวัตถุสิ่งของกลับมาด้วย

ของถวายเทพเจ้าทุกอย่าง เมื่อเทพรับแล้วก็ส่งคืนให้เราเสมอ ของนั้นชาวฮินดูเรียกว่า “เทวประสาท” หมายถึงสิ่งที่เทพมอบให้ บางครั้งก็เรียกง่ายๆ ว่า “ประสาท”

คำเดียวกับที่เราใช้ “ประสิทธิ์ประสาท” นั่นแหละครับ

นอกจากเทพแล้ว สิ่งที่ครูบาอาจารย์หรือนักบวชนักบุญท่านให้หรือของแจกในงานมงคลต่างๆ ก็มักนิยมเรียกว่า “ประสาท” เหมือนกัน

เทวประสาทจะเป็นอะไรก็ได้ น้ำสรง ผงเจิมทุกอย่าง พวงมาลัย ดอกไม้ ผลไม้ ผ้าทรง อาหาร ขนม วัตถุมงคล ฯลฯ

ประสาทที่นิยมที่สุดคืออาหารครับ โดยเฉพาะขนม บางแห่งเทวประสาทมีชื่อเสียงมากด้วยความอร่อยและเอกลักษณ์ เช่น ที่ติรุปติหรือเทวสถานของพระศรีนิวาส ขนมลัฑฑูที่นั่นมีชื่อเสียงมากจนต้องมีโรงงานผลิตวันละเป็นแสนลูก จนกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของที่นั่น

เทวประสาทที่เป็นอาหารส่วนมากมักเป็นขนมแห้งๆ เช่น ข้าวตอก น้ำตาลกรวด ถั่วตัดงาตัด หรือขนมที่มีรสหวานมากๆ ผมถามผู้ใหญ่ ท่านบอกว่า

ที่เป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลสองอย่าง

 

อย่างแรก เพราะในสมัยก่อน ผู้เดินแสวงบุญส่วนมากจะเดินทางมาจากที่ไกลๆ และเดินเท้ามา เทวประสาทจึงควรเป็นของที่ให้พลังงานสูงและรสหวานช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

ประการที่สอง คนที่จะเดินทางไปแสวงบุญได้มักมีความพร้อมทั้งทางเวลา สุขภาพและทรัพย์ ในขณะที่คนอีกมาก เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงไม่อาจมาร่วมเดินทางได้อย่างเดียวกัน ดังนั้น เทวประสาทเหล่านี้จะถูกนำกลับไปแจกจ่ายยังคนทางบ้าน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับพรจากเทพเจ้าด้วย จึงนิยมทำเป็นของแห้ง

แต่ในหลายเทวสถาน เทวประสาทเป็นอาหารสดใหม่ร้อนๆ ก็มี เช่น ที่วัดแขกสีลมของเรา นอกจากการให้ในเชิงพิธีกรรมแล้ว อาหารในโรงครัวของวัดต่างๆ ที่แจกจ่ายผู้คนก็ถือเป็นเทวประสาทด้วย

ทุกวันอาทิตย์ที่เทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เทวสถานของชาวอินเดียเหนือในกรุงเทพฯ กิจกรรมสุดท้ายหลังการบูชา คือ “ปรีตีโภชัน” หรือมื้ออาหารแห่งความปรีดี มื้ออาหารเลี้ยงทุกคนที่มาวัดในฐานะเทวประสาทและความยินดีหลังการถือพรตจบสิ้น นี่ก็เป็นเทวประสาทอย่างหนึ่ง

ผมได้ดูสารคดีต่างประเทศ มีชายชาวจีนคนหนึ่งอาศัยในเมืองกัลกัตตาของอินเดีย มีศรัทธาในเจ้าแม่กาลีมากจึงตั้งเทวสถานของตนเอง ที่น่ารักคือวัดนั้นแจกประสาทเป็น “บะหมี่” ครับ

 

ในวัฒนธรรมอินเดีย เทวประสาทได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างสูง ต้องรับด้วยมือขวาหรือมือทั้งสอง บางครั้งก็อาจมีผ้ารองรับอีกชั้น จบขึ้นหน้าผากหรือเหนือศีรษะ ไม่ข้ามกรายหรือทิ้งขว้าง เว้นแต่เป็นของที่มีอายุขัย เช่น ดอกไม้มาลัย และที่สำคัญ ถือกันว่าเทวประสาทควรถูกแจกจ่ายให้กับผู้อื่น เพื่อจะได้รับพรด้วยกัน

ไมเคิล ไรท์ ผู้ล่วงลับเคยเขียนไว้ว่า หรือคำ “รับประทาน” ที่แปลว่ากินของเราจะเอาคติอินเดียมาใช้ กล่าวคือ ข้าวปลาที่กินนี้ เราได้รับมาจากเทพหรือพระราชาในฐานะเทพ จึงต้องรับ “ประทาน” (มอบให้)

บางครั้งก็มีบางคนหาผลประโยชน์กับเทวประสาทก็มี มีคนเล่าให้ผมฟังว่า จะมีหมอดูแขกไปดักรอคนอยู่หน้าวัดแขกสีลม ครั้นพอพราหมณ์ท่านมอบเทวประสาทให้ต่างๆ กันไป เช่น บางคนก็ได้ผลไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ก็ไปทำนายทายทักอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจะให้คนสะดุดใจแล้วก็สบช่องหากินต่อไป

ที่จริงพราหมณ์ท่านจะให้อะไรก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของท่านในเวลานั้นนะครับ ไม่ได้มีนัยยะอะไรพิเศษ ขึ้นกับว่าท่านหยิบฉวยอะไรได้ตอนนั้น ภายหลังผมเข้าใจว่า ทางวัดจึงแก้ปัญหาด้วยการให้พราหมณ์ท่านมอบขวดน้ำดื่มของทางวัดกลับไปให้เหมือนกันทุกคน

 

เทวประสาทเป็นประเพณีที่สูงส่งของอินเดีย ด้วยเหตุว่าเป็นคติที่เชื่อมมนุษย์เข้ากับเทพเจ้า และที่สำคัญ คือการแสดงความเอื้ออาทรระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อความหิวโหยในจิตใจและในท้องของผู้แสวงหาถูกเติมเต็มด้วยความเมตตา

เมื่อนั้น คำว่า “ความกรุณาของเทพและเพื่อนมนุษย์” จึงมีความหมายชัดแจ้ง