สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูแท้แพ้ไม่เป็น ครูเรฟ-ครูไทย จากครูใหญ่นายแพทย์วิจารณ์

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เรื่องราวและเรื่องเล่าจากของจริงในห้องเรียนที่ 56 แห่งโรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ต ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ของ ครูเรฟ เอสควิท ผู้จุดกระแสการปฏิรูปการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ในเวทีเสวนาวิชาการของ สสค. ตอนแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่จบ มีประเด็นชวนคิดและติดตามต่อ

ครูเรฟเล่าถึงนักเรียนชายคนหนึ่งไว้ผมยาวสีทองรูปหล่อ เขาไม่ใช่คนเรียนเก่งที่สุดของชั้น แต่ก็ไม่ใช่เรียนแย่ เขาเลื่อนชั้นไปแล้ว วันหนึ่งเขากลับมาเยี่ยมผม พอเข้ามาในชั้นเรียนทุกคนตกใจ เพราะเขาโกนผมหมดหัว

ครูพยายามถามเหตุผลจึงรู้ว่าเขาไปพบเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งกำลังรับเคมีบำบัดจนผมร่วงหมด เด็กหญิงนั้นต้องโพกผ้าใส่หมวกมาโรงเรียน แต่ยังถูกกลุ่มเด็กเกเรรังแก เขาจึงโกนผมตัวเองเอาไปทำวิกให้เด็กหญิงนั้น

“He is my best student.” ครูเรพเน้นเสียงก่อนคุยต่อ

 

ผมเชื่อว่าการอ่านคือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ หากจะสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กในระยะยาว การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ปัญหาสำคัญคือเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ เมื่อครูมอบหมายให้เด็กอ่านหนังสือ เด็กมักจะหาทางลัดจากอินเตอร์เน็ตเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาและเตรียมพร้อมเพื่อเข้าห้องสอบเท่านั้น

อีกทั้งรอบตัวเด็กยังมีสิ่งดึงดูดความสนใจมากมาย ทั้งเกมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัว

ครูจึงต้องเป็นตัวอย่างและสร้างแรงจูงใจด้วยการอ่านหนังสือร่วมกับเด็กๆ โดยอ่านหนังสือร่วมกันทุกหน้า ทุกบรรทัด ทุกคำ เมื่อเด็กรักการอ่าน ประตูสู่โอกาสที่ดีต่างๆ ในชีวิตก็จะเปิดกว้างตามมา

ลูกศิษย์ของครูเรฟรู้ดีว่าการเรียนรู้เนื้อหาในวิชาต่างๆ นั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างทักษะชีวิต ซึ่งเด็กจะสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า

เด็กๆ รู้ดีว่าการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ การเขียนเรียงความ หรือแม้แต่การเล่นกีฬานั้นไม่ใช่การทำเพื่อครู เพื่อพ่อแม่ เพื่อคะแนนสอบ หรือทำไปเพียงเพราะถูกสั่งให้ทำ แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทักษะที่จะทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นในอนาคต

ครูจึงต้องเชื่อมโยงเนื้อหาวิชาเรียนเข้ากับทักษะชีวิตจริงให้ได้

ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เด็กรู้ถึงเป้าหมายนี้ด้วย จึงจะถือว่าครูประสบความสำเร็จในการสอน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การสอนของครูที่แท้จริงไม่ใช่การสอน “วิชา” แต่เป็นการสอน “นักเรียน” เอง

 

ครูเรฟยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับเชิญและเดินทางไปประเทศจีนในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแกนนำ รวมถึงการสาธิตการสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียน มีผู้ปกครองเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยมีบทเรียนการทำงานจากประเทศจีนแก่ครูไทยใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ครูจีนเป็นครูที่มีการศึกษาดี เป็นมืออาชีพและมีความรู้เชิงลึกในวิชาที่สอน

2. การจัดการศึกษาที่ดีต้องพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

3. การทดสอบเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การวัดประเมินผลนักเรียนที่ควรจะเป็นคือ การติดตามดูเด็กในระยะ 10 ปีหลังจากนั้นว่าเกิดอะไรกับพวกเขา

และ 4. สิ่งที่ขาดไปจากห้องเรียนทั้งในไทย ในจีน และในสหรัฐอเมริกา คือ การสอนให้นักเรียนทำดีเพราะเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เพราะคิดว่าดี หรือเพราะครูบอก (integrity) รวมถึงการหล่อหลอมให้นักเรียนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy)

 

หลังจากรับฟังครูเรฟถ่ายทอดประสบการณ์จบลง เสวนาสมาชิกเปิดวงให้นักคิด นักการศึกษาไทย แลกเปลี่ยนเรียนรู้

คุณครูใหญ่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งและประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ที่ปรึกษา สสค. เปิดมุมมองสะท้อนบทเรียนการทำงานของครูเรฟสู่ระบบการศึกษาไทยใน 5 ประเด็น

1. ระบบการศึกษาที่แท้จริงหมายถึงระบบการศึกษาที่สามารถดึงเอาพลังความดีงามของลูกศิษย์ออกมาได้เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม การจะสร้างระบบการศึกษาที่แท้จริงนั้นต้องอาศัยเวลาและไม่มีทางลัด

“หัวใจของการสอนลูกศิษย์ คือการเรียนไปเพื่ออนาคต ไม่ใช่การสอบ”

2. เป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ที่ดีคือ การทำโดยไม่หวังผลตอบแทน

3. ครูต้องเฟ้นหาวิธีการดึงศักยภาพเด็กเพื่อช่วยให้เขานำมาช่วยเหลือผู้อื่น มิใช่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง

4. ครูจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและหาทางออกแบบกระบวนการสอนร่วมกัน ทุกวิชาที่เรียนสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นมนุษย์ที่ดีได้

และ 5. หัวใจสำคัญของครู คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และนักเรียนเป็นครูที่ดีที่สุดในการเรียนรู้

“ครูแท้จึงเป็นครูที่มุ่งมั่นต่อการทำหน้าที่ช่วยเหลือศิษย์ในการเรียนรู้เพื่อปูทาง หรือวางรากฐานชีวิตที่ดีของศิษย์ ซึ่งมากกว่าการสอนวิชา แต่เป็นการเชื่อมโยงวิชากับชีวิตจริง การเรียนการสอนทุกวิชานั้นสามารถเชื่อมโยงกับการสร้างทักษะชีวิตของเด็กและนำเด็กไปสู่การเป็นผู้มีจริยธรรมระดับ 6 ได้ทั้งสิ้น ครูจากแต่ละสาขาวิชาควรร่วมกันออกแบบวิธีการสอนแบบบูรณาการและทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้ทุกวิชามีความสอดคล้องกันและเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และช่วยให้การเรียนของศิษย์เป็นการเตรียมพื้นฐานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการสร้างคุณลักษณะและปลูกฝังคุณธรรมที่ดีของศิษย์ (Moral development and building character in students) และทักษะการดำเนินชีวิตให้แก่เด็กผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ ศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม”

“มีเด็กจำนวนมากที่แท้จริงแล้วมีความสามารถมากกว่าที่ครูเห็นมาก หากได้รับการท้าทายความคิดและเปิดโอกาสให้แสดงออก เด็กจะแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมาได้ การสร้างบุคลากรครูจากรั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังมีทักษะอีกมากมายที่ครูจำเป็นต้องเรียนรู้ ควรปฏิรูปหลักสูตรศึกษาศาสตร์ให้ครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างครูที่ดีมากขึ้น”

ฟังครูใหญ่สะท้อนคิดในเวทีแล้ว ถ้ายังไม่จุใจ ผมเสนอให้ตามไปอ่านคำนิยม บทตีความของครูวิจารณ์ ในหนังสือ “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” ประกอบ จะครบเครื่อง ก่อนฟังครูใหญ่คนถัดไปสะท้อนคิดต่อ เป็นใคร ไว้เปิดตัวตอนจบ