รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ปีทอง ของเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

https://www.matichonweekly.com/matichonweekly-special

ปีทอง

ของเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์

ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว

การใช้เทคโนโลยีเอดจ์ คอมพิวติ้ง ทุกประเทศในภูมิภาคขับเคลื่อนตนเองเข้าสู่ยุคดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด เครือข่ายเอดจ์ยังคงเดินหน้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริษัทชั้นนำระดับโลกพัฒนาในการให้บริการผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อการใช้งานในศูนย์ข้อมูล เครือข่ายการสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานทางพาณิชย์และอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์กำลังจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการที่ผู้ใช้งานต้องเตรียมหรือติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตอบสนองการทำงานไว้ที่สำนักงานด้วยตัวเอง ไปเป็นการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ Cloud Computing

Cloud Computing เป็นเสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่เราใช้งานกันอยู่คือมีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผลและเก็บข้อมูล

แต่ Cloud Computing เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่มากๆ รองรับการใช้งาน การประมวลผล ตลอดจนการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมหาศาล ระบบคอมพิวเตอร์ที่พร้อมรองรับการทำงานของผู้ใช้งานในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล การทดสอบระบบหรือติดตั้งฐานข้อมูล หรือการใช้งานซอฟต์แวร์เฉพาะด้านในธุรกิจต่างๆ

โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องติดตั้งระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไว้ที่สำนักงานให้ยุ่งยาก แต่สามารถใช้งานในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Computing ผ่านอินเตอร์เน็ตได้เลย

 

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนา Edge Computing ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายคนมองว่าจะเข้ามาแทนที่สถาปัตยกรรมบนคลาวด์แบบเดิม แต่ต่างจากโครงสร้างคลาวด์แบบเดิมที่รวมการประมวลผลทุกอย่างอยู่บนคลาวด์ และเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในดาต้าเซ็นเตอร์แห่งเดียว

เพราะ Edge Computing จะผลักภาระการประมวลผลข้อมูลไปยังอุปกรณ์ขอบนอกของเครือข่ายด้วย ซึ่งช่วยลดปริมาณข้อมูลที่ต้องส่งรับจาก Edge กับคลาวด์ได้อย่างมาก

ถ้าอุปกรณ์ทำหน้าที่เป็น Edge Computing สามารถประมวลผลข้อมูลที่รับมาจากอุปกรณ์หลายๆ ตัว แล้วทำให้ข้อมูลที่จะถูกส่งต่อออกไปมีขนาดเล็กลง ปริมาณข้อมูลก็จะน้อยลง ไม่เปลืองแบนด์วิดท์ การประมวลผลในคลาวด์ก็อาจลดลงด้วย

ส่วนของ IoT คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล การเชื่อมโยงนี้ง่ายจนทำให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ไปจนถึงการเชื่อมโยงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ากับการใช้งานอื่นๆ จนเกิดเป็นบรรดา Smart ต่างๆ ได้แก่ Smart Device, Smart Grid, Smart Home, Smart Network, Smart Intelligent Transportation

การพัฒนาด้าน Edge Computing ทำให้ผู้ใช้ในองค์กรและผู้บริโภคจะเริ่มสัมผัสเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ คือผู้บริโภคที่ไม่ต้องอดทนกับเรื่องความล่าช้า หรือ latency

ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การตัดสินใจสำคัญหลายอย่างในธุรกิจและการตัดสินใจของผู้บริโภค ล้วนขึ้นอยู่กับความคล่องตัวในการเรียกใช้ข้อมูลได้ทันใจในแบบเรียลไทม์

ถ้าเรามองที่เศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซ หากโมบายเว็บไซต์ไม่สามารถโหลดเสร็จภายใน 3 วินาที ก็จะทำให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมไม่สนใจไซต์นั้นไปเลย

และหากการทำธุรกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเสี้ยววินาที เงินก็จะไม่มีการเปลี่ยนมือ และผู้ขายเองก็เสี่ยงที่จะเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งได้

 

ความต้องการด้านการบริการต่างๆ ที่ต้องอาศัยเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น โมบาย มันนี่ แอพพ์ ที่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานได้ ณ สถานที่นั้นๆ ลูกค้าก็ได้รับประสบการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น หรือการทำวิดีโอสตรีมมิ่ง

การใช้ประโยชน์ของ smart mirror AR ที่เลือกเปลี่ยนแบบชุดได้จากหน้าจอ ยานยนต์แบบไร้คนขับ เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเอดจ์ คอมพิวติ้ง ประสิทธิภาพสูง

ซึ่งแน่นอนว่าการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ ดังนั้น การส่งข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์จากรถยนต์ไปยังเอดจ์ ไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาค ไปที่คลาวด์ และส่งกลับมาอีกครั้งที่รถยนต์เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งการ จะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการใช้ระบบโครงสร้างเอดจ์อย่างมหาศาลซึ่งสามารถแคช (cache) ข้อมูลขนาดใหญ่พักไว้ในระบบ

พร้อมทั้งนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว

 

นายโรมาริก เอินส์ต รองประธานธุรกิจไอทีสำหรับองค์กร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เผยว่า ในปี 2019 เป็นปีที่ธุรกิจไอทีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะมีอยู่ 3 เทรนด์หลักที่มีแนวโน้มในการเกิดขึ้นทั่วโลก

โดยเอดจ์ คอมพิวติ้งจะเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจในทุกวัน

ในตอนนี้เรากำลังมาถึงจุดที่เอดจ์ คอมพิวติ้งเข้าสู่ช่วงของการสร้างผลิตผลและกลายเป็น “จริง”

ทั้งนี้ ผู้ใช้ในองค์กรและผู้บริโภคจะเริ่มสัมผัสเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ได้จากบริการที่นำเสนอในรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Global Market Insights คาดการณ์ว่าตลาดเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์จะทะลุ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2024

โดยมีการลงทุนระบบโครงสร้างเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์แล้วในเกือบทุกภาคส่วน เช่น ธุรกิจค้าปลีก การเงิน ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ฯลฯ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยการประมวลผลมากขึ้น

รวมถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายและการจัดเก็บข้อมูลในจุดที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้ปลายทาง

ในการสร้างสมดุลให้กับงานและการใช้ชีวิต ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีส่วนช่วยในแวดวงธุรกิจหรือกระทั่งที่บ้าน ทั้งเวิร์กโหลดและแอพพ์ที่ต้องใช้ข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งให้ศักยภาพการทำงานผ่านเครือข่ายเอดจ์ใหม่ ล้วนต้องอาศัย AI เช่นกัน

โดย AI จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์และแปลข้อมูลจากแอพพ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้คน (และในบางกรณียังรวมถึงจักรกลอื่นๆ) สามารถตัดสินใจและตอบรับกับสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ ปี 2019 ยังเป็นปีแห่งการเฟ้นหาผู้มีความสามารถพิเศษเพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการใช้งานจริง

ซึ่งจะต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา AI จะช่วยเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

AI และเอดจ์ คอมพิวติ้ง จะเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลนับตั้งแต่สำหรับปี 2019 เป็นต้นไป โดยจะช่วยจัดสมดุลให้กับชีวิตเราได้ทั้งเรื่องความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมความสมดุลในการใช้ชีวิตกับการทำงานที่ดีขึ้น

 

ที่มา

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เผยเทรนด์ปี 2019 ปีทองของเอดจ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว