วิรัตน์ แสงทองคำ ว่าด้วย ซีพี-ทีซีซี กับ ยุทธศาสตร์ภูมิภาค (บทสรุป)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย กับยุทธศาสตร์ธุรกิจภูมิภาค กรณีซีพี-ทีซีซี ไม่เพียงเป็นภาพกว้างๆ อย่างน่าตื่นเต้นเท่านั้น

“”ไม่ควรวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” คือแนวคิดของผมในช่วงหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียผ่านพ้นไปแล้ว ผมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของเครือ เราได้เพิ่มความสำคัญของการขยายธุรกิจ เช่น โรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูปไปยังประเทศแถบอาเซียน” ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำซีพี กล่าวถึงบริบทและแรงจูงใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภูมิภาค (อ้างจาก “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ตีพิมพ์ และเผยแพร่โดยเครือข่ายสื่อยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น–Nikkei)

เชื่อว่ายุทธศาสตร์ธุรกิจเครือซีพีข้างต้น เป็นทั้งภาพสะท้อนบริบทสังคมธุรกิจไทย และบทบาท “ผู้อยู่รอด” จากวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญในปี 2540 ซึ่งสามารถตั้งหลักได้อย่างมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง ตามมาด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจหลักดั้งเดิม-ซีพีเอฟ เช่นเดียวกับกรณีไทยเจริญหรือทีซีซี มุ่งปรับโครงสร้างธุรกิจไทยเบฟฯ (รายละเอียดกรณีซีพีเอฟ-ไทบเบฟฯ กล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ)

ความจริง แผนการเชิงรุกในภูมิภาค กรณีซีพีเอฟของซีพี และไทยเบฟฯ ของทีซีซี เป็นภาพ “ตัวแทน” โดยรวม ยุทธศาสตร์ดูคล้ายๆ กัน สร้างเครือข่ายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในสังคมไทย เป็นฐานสำคัญเพื่อสนับสนุนแผนการและความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจออกสู่ภูมิภาค

ว่าไปแล้ว ทั้งซีพีและทีซีซี มีความสามารถในการปรับตัว สร้างฐานอย่างมั่นคงและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในสังคมไทยเสมอมา

“ซีพีวางรากฐานธุรกิจในประเทศไทยย่างจริงจังในช่วงสงครามเวียดนาม ส่วนทีซีซีไล่หลังตามมา ทั้งนี้ ทั้งสองมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น ยุครัฐบาลทหารช่วงต่อเนื่องยาวนาน และสัมพันธ์กับผู้บริโภคขยายฐานกว้างมากขึ้น ด้วยแรงกระตุ้นจากสงครามเวียดนาม เนื่องด้วยเศรษฐกิจเกษตรกรรมขยายตัว ซีพีต้องเผชิญแรงเสียดทานเป็นช่วงๆ แต่ทีซีซีอยู่ภายใต้เกราะอันแข็งแรง” (อ้างจากซีรี่ส์นี้ตอนแรก)

ซีพียุคใหม่

กรณีซีพี เคยเสนอไว้ว่า “ยุทธศาสตร์เครือซีพี มักเดินไปตามแผนการบุกเบิก (Green field) อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งด้วยประสบการณ์และความชำนาญของตนเอง รวมทั้ง การร่วมทุน (Joint venture) ใหม่ๆ กับเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลก” (ตอนที่ 4) จากปรากฏการณ์ระยะใกล้ที่ผานมา เชื่อว่าซีพีมาอยู่ยืนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง ด้วยการปรับแผนและพัฒนายุทธศาสตร์ให้ยืดหยุ่น แสวงหาโอกาสธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น สะสมและพัฒนาประสบการณ์โดยเฉพาะการร่วมทุน ไม่เพียงแสวงหาโนว์ฮาว ยังก้าวไปสู่การแสวงหาทุนและเครือข่ายตลาด

จากบทเรียนสำคัญไม่ว่ากรณีกับ Arber Acer ในการบุกเบิกธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจร เป็นฐานธุรกิจหลักในปัจจุบัน และกรณีกับ Continental grain บุกเบิกธุรกิจสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ในปัจจุบันมีหลายกรณี ตามช่วงเวลาซึ่งควรอ้างอิงถึง

บุกเบิกใหม่

–ปี 2543 ซีพี โดยเจียไต๋ ประเทศจีน ยังได้ก้าวไปสู่ ธุรกิจเวชภัณฑ์ ก่อตั้ง Sino Biopharmaceutical และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สำหรับกิจการที่เติบโตหรือ GEM (Growth Enterprise Market) ในปีเดียวกัน และเริ่มซื้อขายในเดือนธันวาคมปี 2546 มีเป้าหมายที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครือข่ายการกระจายสินค้าเวชภัณฑ์

–ปี 2553 Zhengxin Bank (เดิมคือ Chia Tai International Finance) ก่อตั้งขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ (2535) ได้รับอนุมัติจากทางการจีน (People”s Bank of China) ได้ยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัว

–ปี 2556 ซีพี หุ้น 15.6% ของ Ping An Insurance บริษัทด้านประกันภัยแห่งแรกและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน “เพื่อมุ่งขยายและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้านการเงินของเครือ” (ธนินท์ เจียรวนนท์ “บันทึกความทรงจำ”)


พันธมิตร (1)

ปี2557 “ในอดีตเครือเจริญโภคภัณฑ์จะเป็นฝ่ายขยายการลงทุนในจีนเป็นหลัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ชักชวนให้บริษัทจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยบ้าง เช่น บริษัทไชน่าโมบาย (China Mobile) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ระดับโลกได้เข้ามาถือหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SAIC) บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในจีนได้ร่วมลงทุนกับเครือ ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ “เอ็มจี” ขึ้นในประเทศไทย”

(ธนินท์ เจียรวนนท์ “บันทึกความทรงจำ”) แผนการใหม่ กรณีทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกัน เป็นไปตามกระแสจีนที่วกกลับ


พันธมิตร (2)

มีกรณีสำคัญที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งยังต้องติดตามและศึกษารายละเอียดกันต่อไป เชื่อว่าเป็นแผนการอันแยบยลมุ่งมองผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะต่อไป

–ปี 2557 พันธมิตร ซีพีกับ ITOCHU แห่งญี่ปุ่น “ร่วมกันพัฒนาและหาโอกาสในการขยายธุรกิจด้านอาหาร เคมีภัณฑ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน และอุตสาหกรรมครบวงจรอีกหลากหลายประเภท รวมทั้งจะส่งเสริมธุรกิจด้านอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดซื้อ การขนส่ง การขาย และการพัฒนาตลาดใหม่” (http://cpgroupglobal.com/)

–ปี 2558 ซีพี ITOCHU แห่งญี่ปุ่น และ CITIC ประเทศจีน ประกาศการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

–ล่าสุดปี 2559 กิจการในเครือซีพีร่วมมือกับ ALIBABA GROUP ของ JACK MA ในแผนการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTec) ระหว่าง Ant Financial กับ Ascend Money

ทีซีซี กับ สายสัมพันธ์ใหม่

แผนการกลุ่มทีซีซี มาจากการ “ปะติดปะต่อ” ด้วยการเข้าซื้อกิจการ (Merger & acquisition) ซึ่งกลายเป็นยุทธศาสตร์ เป็นแผนการหลักในการขยายเครือข่ายธุรกิจ ขณะเดียวกัน พยายามประยุกต์จากประสบการณ์ว่าด้วยธุรกิจสัมปทาน และ “สายสัมพันธ์” ด้วยมุมมองกว้างกว่ารัฐไทย

“ในปี 2558 เป็นปีที่เริ่มก้าวสู่การควบรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสะท้อนถึงหลักชัยอันยิ่งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาค และนับเป็นอีกหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย…” ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทบเบฟฯ กิจการหลักของกลุ่มทีซีซี (ปรากฏใน http://www.thaibev.com/ ระบุด้วยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558) กล่าวไว้ สอดคล้องกับสาระบางตอนของสารจากประธานกรรมการบริษัทไทบเบฟเวอเรจฯ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ซึ่งกล่าวถึงยุทธศาสตร์ธุรกิจภูมิภาค “ปี 2558 นับเป็นปีแรกที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ”) ได้เริ่มดำเนินธุรกิจภายใต้ “วิสัยทัศน์ 2020″ ที่มีจุดหมายเพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในระดับภูมิภาค…”

พร้อมกันนั้นทั้งสองกล่าวอย่างเจาะจงถึงแผนการทางธุรกิจ

“ไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) มากขึ้นเพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ 2020 ไปด้วยกัน” (เจริญ) “นับตั้งแต่กลุ่มบริษัทไทยเบฟ และเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของเรา ได้ประกาศใช้วิสัยทัศน์ 2020 ร่วมกันเมื่อปลายปี 2557 เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทไทยเบฟ F&N ได้เน้นการทำงานผ่านการสื่อสารและความร่วมมือ (Communication & Collaboration)” (ฐาปน)

ซื้อกิจการ

กรณีซื้อ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์ เป็นแผนการสำคัญของแผนการธุรกิจภูมิภาค

“กุมภาพันธ์ 2556 การเข้าซื้อหุ้นใน F&N เสร็จสิ้น โดยไทยเบฟถือหุ้นประมาณร้อยละ 28.6 นับเป็นการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มระดับภูมิภาค” (http://www.thaibev.com/)

นับเป็นแผนการใหม่ หลังจากกว้านซื้อกิจการในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องครึกโครม

ในช่วงเดียวกันนั้นมีแผนการซื้อกิจการอื่นๆ ในระดับภูมิภาคตามมาอีก (กรณีที่เกี่ยวกับ F&N ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว) รวมทั้งการสร้างเครือข่ายค้าปลีกในเวียดนาม ด้วยการซื้อ METRO Cash & Carry (แห่งเยอรมนี) เพิ่งบรรลุเมื่อต้นปีนี้

ตามมาด้วยเครือข่าย Big C (ฝรั่งเศส) ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นดีลใหญ่ระดับภูมิภาค

สัมปทาน-กิจการรัฐ

เชื่อว่า กรณีจะกล่าวต่อไปนี้ มีความสัมพันธ์และพัฒนามาจากประสบการณ์กับธุรกิจสัมปทานดั้งเดิม

–กัมพูชา

กลุ่มทีซีซีสร้างพันธมิตรธุรกิจ กับ MRT Group กลุ่มธุรกิจรายใหญ่แห่งหนึ่งที่สุดในกัมพูชา ก่อตั้งโดย Mong Reththy ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิก เชื่อกันว่ามีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งสองกิจการได้ร่วมมือกันสร้างอาณาจักรธุรกิจ ภายใต้ระบบสัมปทานรัฐ มี 2 กรณีสำคัญ หนึ่ง–ท่าเรือน้ำลึกของเอกชนแห่งแรกที่เกาะกง (เริ่มต้นปี 2546) สอง-ธุรกิจปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของอาเชียน ด้วยพื้นที่สัมปทานกว่า 150,000ไร่ (ปี 2550)

–ลาว

ปี 2551 กลุ่มทีซีซี บุกเบิกธุรกิจกาแฟในประเทศลาว ด้วยการก่อตั้ง Paksong Highland Company Limited โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว มีพื้นที่ปลูกกว่า 15,000 ไร่ บริเวณที่ราบสูงบอละเวน (Bolaven Plateau) แขวงจำปาสัก ว่ากันว่า ดร.อนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ปรึกษาคนสำคัญของทีซีซี เป็นผู้บุกเบิก

–เวียดนาม

กรณีนี้เป็นความตั้งใจ เป็นความพยายามเข้าร่วมทุนในกิจการเกี่ยวข้องรัฐบาลเวียดนามกำลังเปิดประมูลขึ้น

กรณีแรก รัฐบาลเวียดนามกำลังดำเนินการเปิดประมูลขายหุ้นในกิจการผลิตเบียร์ ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ คือ Saigon Alcohol Beer and Beverages Corporation หรือ Sabeco (รัฐบาลถือหุ้นเกือบ 90%) ผู้ผลิตเบียร์อันดับหนึ่ง กับผู้ผลิตอันดับสอง–Hanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp (Habeco) หรือ Hanoi Beer (รัฐบาลเวียดนามถือหุ้นประมาณ 82%) ทั้งสองครองตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามถึง 60% คาดกันว่ารู้ผลในต้นปีหน้า

อีกกรณี Fraser and Neave ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลเข้าถือหุ้นเพิ่มเติม (จากเดิมมีอยู่เกือบ 10%) ด้วยการซื้อหุ้นจากหน่วยงานรัฐบาลเวียดนาม (ถือหุ้นประมาณ 45%) ในกิจการเกี่ยวกับนมรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม – Vinamilk ซึ่งมีเครือข่ายทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ มียอดขายมากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นี่เป็นเพียงบทสรุปในชั่วขณะนี้เท่านั้น