บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ เมื่อ CEO แอร์เอเชียเลิกเล่น ‘เฟซบุ๊ก’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อ CEO แอร์เอเชียเลิกเล่น ‘เฟซบุ๊ก’

เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นายโทนี เฟอร์นันเดซ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอร์เอเชียกรุ๊ป ได้ทวีตข้อความว่า ได้ปิดบัญชีเลิกใช้เฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามอยู่ 6.7 แสนคนแล้ว โดยระบุว่า เป็นเพราะโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยความเกลียดชัง และเขายังบอกด้วยว่า อาจปิดบัญชีทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามอยู่ราว 1.29 ล้านคน

การประกาศปิดบัญชีเฟซบุ๊กครั้งนี้เกิดขึ้นหลังคนร้ายผิวขาวชาวนิวซีแลนด์ใช้ปืนกราดยิงที่มัสยิดของชาวมุสลิม 2 แห่งในเมืองไครส์เชิร์ช ของนิวซีแลนด์ ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสงบ ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่ง

คนร้ายที่เป็นชายชาวนิวซีแลนด์วัย 28 ปีผู้นี้ ได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กขณะลงมือกราดยิงชาวมุสลิมที่กำลังทำพิธีอยู่ในบริเวณมัสยิด ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายเลือดเย็นของฆาตกรรายนี้ที่ว่ากันว่าเป็นพวกคลั่งลัทธิคนขาว

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ในจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าเป็นเครื่องมือแสดงเสรีภาพของคนอย่างไม่จำกัด ไม่มีใครควบคุมได้นั้น มีลักษณะเป็นดาบสองคม ทั้งคมดีและคมร้าย

แต่ครั้งใดที่เป็นคมร้าย มันกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ ที่ถูกตั้งคำถามเสมอว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

 

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กถูกตำหนิและเตือนว่าเป็นเครื่องมือให้พวกก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงอย่างพวกไอซิสหรือไอเอส ใช้ล้างสมองบรรดาเยาวชนให้เข้าไปเป็นสาวกและก่อเหตุสยองขวัญทั่วโลก สังหารคนบริสุทธิ์ไปจำนวนมาก

นับตั้งแต่เฟซบุ๊กมีบริการ “ไลฟ์” หรือถ่ายทอดสด ก็เปรียบเสมือนทำให้ทุกคนมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง อยากถ่ายทอดสดอะไรก็ได้ ก่อให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสมมากมาย ทั้งอนาจาร ผิดศีลธรรม ตลอดจนความรุนแรงต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดสดการฆ่า ทั้งฆ่าตัวเอง ฆ่าผู้อื่น ฆ่าสัตว์ ทารุณสัตว์ จนเกิดฉายาว่า “นักฆ่าเฟซบุ๊ก”

เมื่อปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเจอวิกฤตใหญ่ ถูกทางการของอเมริกาและอังกฤษสอบสวนเมื่อพบว่า บริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติก้า ของอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ได้ขโมยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 50 ล้านคนไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อมูลของผู้ใช้บริการถูกขโมยผ่านแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่พัฒนาโดยนักวิชาการชาวอังกฤษซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่บนเฟซบุ๊ก ดังนั้น เฟซบุ๊กจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

เรื่องราวน่าอึ้งไปกว่านั้น เมื่อมีการแฉอีกว่าบริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติก้า เป็นที่ปรึกษาทีมหาเสียงเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปลายปี 2559 ด้วย และน่าเชื่อว่าบริษัทนี้ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา ไปออกแบบโฆษณาเพื่อโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือกลุ่มที่อนาไลติก้าฉกข้อมูลไป) เลือกทรัมป์

ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กนั้นในทางการเมืองและธุรกิจ มันคือ “ขุมทองคำ” ดีๆ นี่เอง

เพราะมันคือการเปิดโอกาสให้ใครก็ตามรู้ข้อมูลเชิงลึกของเราจากสิ่งที่เราโพสต์ แชร์ แสดงความเห็น สถานที่ที่เราเช็กอิน

กลุ่มคนที่เราคบด้วย สิ่งเหล่านี้ในทางการตลาดมันเปิดโอกาสให้นักการตลาด นักวิจัยข้อมูล รู้ไลฟ์สไตล์ รู้ความชอบของเรา ชอบเที่ยวไหน ชอบกินอะไร ชอบนักการเมืองคนใด ชอบดาราคนไหน

เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นักการตลาดจะรู้เพียงข้อมูลประชากรศาสตร์ที่เป็นข้อมูลพื้นๆ เช่น อายุเท่าไหร่ อาชีพ เพศ สถานที่เกิด การศึกษา แต่โซเชียลมีเดียทำให้นักการตลาดได้ข้อมูลละเอียดที่เรียกว่า “บิ๊กดาต้า” ทำให้การทำธุรกิจหรืออื่นๆ มีความแม่นยำในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย

ทุกวันนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียถูกแอบเก็บข้อมูลไปใช้อย่างเงียบๆ ทุกคน ทุกวัน และส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

 

ในทางการเมือง โซเชียลมีเดียยังเป็นแหล่งดีเลิศในการปล่อยข่าวเท็จเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือสร้างคะแนนให้ตัวเอง อย่างกรณีของทรัมป์นั้น พบว่าฝ่ายสนับสนุนทรัมป์เผยแพร่ข่าวปลอมผ่านเฟซบุ๊กอ้างว่าพระสันตะปาปาสนับสนุนทรัมป์ ซึ่งวิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

ในการเมืองไทยก็ไม่เว้น โดยเฉพาะในยามที่มีการแบ่งฝ่าย แตกแยกกันมาหลายปี โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญที่ทำให้การแตกแยกลึกลงไปเรื่อยจากฝีมือของผู้ปล่อยข่าวปลอม แต่ดันมีคนหลงเชื่อ

ดังที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น การสร้างราชกิจจานุเบกษาปลอมขึ้นมาว่าหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจ ม.44 ปลดผู้บัญชาการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เบิกค่ากาแฟแก้วละ 1.2 หมื่นบาท

บางคนอยากโจมตีรัฐบาลและทหารเรื่องการใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธ ก็มีการสร้างข้อมูลแปลกๆ แต่ขณะเดียวกันก็ประจานความไม่รู้ของผู้โพสต์ไปด้วย เช่น บอกว่ารัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% จากเงินเดือนของทุกคน หากสมมุติทุกคนมีเงินเดือน 10,000 บาท ก็คูณด้วยจำนวนประชากร จะได้เงินออกมาหลายแสนล้านบาท แล้วก็อ้างว่านี่เป็นเงินที่ถูกทหารนำไปซื้ออาวุธ

ในความเป็นจริงแวตไม่ได้เก็บจากเงินเดือน เพราะเงินเดือนนั้นจะถูกเก็บเป็นภาษีเงินได้บุคคล หากใครมีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปีก็ไม่ต้องเสีย ส่วนแวตเก็บเมื่อเราซื้อสินค้าและบริการ

เมื่อมีโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถทำตัวเป็นเหมือนนักข่าวด้วยตัวเอง แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูล เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้ถูกฝึกฝนมาอย่างถูกต้องว่าอะไรคือข่าว ข่าวจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ก่อนจะออกมาเป็นข่าวต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ข้อควรระวังก่อนนำเสนอคืออะไร จึงไม่มีการกลั่นกรองตรวจสอบข้อมูลก่อนโพสต์หรือแชร์ออกไป

หรือในหลายกรณีผู้เผยแพร่ข้อมูลจงใจปล่อยข้อความเท็จเพื่อโจมตีผู้อื่น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

 

หากเป็นกรณีที่คนรับสารส่วนใหญ่ คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่รู้วิธีตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ไม่รู้จักค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถืออื่นๆ มาเทียบเคียง ก็เป็นการง่ายที่จะหลงเชื่อบรรดาข่าวปลอม ที่ผู้ประสงค์ร้ายเหล่านั้นเผยแพร่ออกมาด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง

ในยุคที่การเมืองแบ่งข้างล้ำลึกเช่นนี้ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นชัดคือชาวบ้านมักเลือกรับข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก (ในกลุ่มก๊วนของตัวเอง) และสื่อเฉพาะ เช่น เคเบิลทีวี (บางช่อง บางสี) เป็นหลัก จึงง่ายสำหรับนักการเมืองที่ต้องการปลุกปั่นชาวบ้านเพื่อให้เป็นพวกตัวเองด้วยการป้อนข้อมูลด้านเดียวหรือแม้กระทั่งเรื่องเท็จ

หากเราต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างที่อ้างบ่อยๆ และยกระดับชาวบ้านให้มีความรู้ที่ถูกต้อง เราต้องต่อสู้ด้วยความจริง ไม่ควรใช้วิธีจองจำชาวบ้านให้เชื่อเฉพาะข้อมูลจากสื่อของตัวเอง เช่น กรอกหูชาวบ้าน ใส่ความเท็จว่าข่าวทีวีปกติทั่วไปไม่ว่าจะช่อง 3 5 7 9 11 ฯลฯ เชื่อถือไม่ได้เพราะเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ไม่ต้องไปดู

เมื่อปลุกปั่นมอมเมาเช่นนี้ ก็ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่หลากหลาย สุดท้ายก็ต้องตกเป็นเหยื่อของหัวคะแนนและนักการเมืองที่ไม่อยากให้ชาวบ้านฉลาด ทั้งที่หนทางดีที่สุดสำหรับประชาชนคือต้องเลือกรับข้อมูลจากสื่อที่หลากหลาย เพื่อจะได้มีความรู้มากๆ