กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “แฮก-กะ-ตอน”

“ครับ จะจัด แฮก-กะ-ตอน ครับ” กรวิชญ์ เสนอ

ผู้บริหารถาม “อ๋อ ผมเคยดู ผมเคยดู สนุกมากเลย”

“เอิ่ม อันนั้นน่าจะเป็น อา-มา-เก-ดอน นะครับ” กรวิชญ์ เปรยเบาๆ

“อะไรนะ หุ่นยนต์ตัวใหญ่ๆ รึเปล่า” ผู้บริหารอีกท่านหนึ่งส่งเสียง

“อันนั้น เมก-กะ-ตรอน ในเรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ส ครับ”

กรวิชญ์ บ่นในใจ “อะไรฟระ จะตลกไปไหน”

ผู้บริหารสองคนถามพร้อมกัน

“…ที่อยู่ในระบบไฟฟ้าใช่มั้ย”

“………”

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน

ผมเองได้มีโอกาสนำเสนอ “ความคิด” ในการนำ “นวัตกรรม” เข้าสู่องค์กรของผมครับ

ขออนุญาตสงวนชื่อ ไม่บอกว่าเป็น “บริษัท” อะไร

รู้ไว้เพียงแค่เป็นองค์กรขนาดไม่เล็ก และเคลื่อนที่ไม่เร็ว

โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า “แฮก-กะ-ตอน (Hackathon)”

เป็นการรวมคำศัพท์ระหว่างคำสองคำ คือ

“แฮก (Hack)” แปลว่า การเข้าไปทำให้ระบบอะไรสักอย่างรวน เป็นทางลัดสู่อะไรใหม่ๆ

และ “มาราธอน (Marathon)” เหมือนกับการวิ่งระยะไกลอย่างอดทน นั่นเอง

รวมกันแล้วหมายความว่า

การมาสร้างทางลัดสู่สิ่งใหม่ ด้วยการลงมือทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลาติดต่อกันด้วยความ “อดทน”

จัดงานกันสามวันสองคืน ที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งใจกลางเมือง

เริ่มวันศุกร์ จบวันอาทิตย์

แข่งขันกันเสนอแนวคิดทางด้านธุรกิจ และสร้างต้นแบบ “Prototype”

โดยผู้เข้าร่วมที่มีทักษะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

คนวางแผนธุรกิจ คนออกแบบสินค้าและบริการ คนเขียนโปรแกรม

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ จะเพิ่งมารู้จักและรวมตัวกันเป็น “ทีมงาน” ก็เมื่อเย็นวันศุกร์

นำเสนอ “ความคิด” กัน แล้วแบ่งทีม ตามมีตามเกิด

ไม่ได้จำกัดจำนวนคนต่อทีม เลือกเอาตาม “ความสนใจ” จริงๆ

เพราะถ้าคิดจะทำธุรกิจเกิดใหม่ (Start-Up) สักอันแล้ว

คุณจะ “ล้มเหลว” แน่นอน ไม่ว่าช้าหรือเร็ว

การที่คนหนึ่ง “สู้ต่อ” กับสิ่งที่ “เชื่อ”

กับอีกคนหนึ่งที่ “นอนแผ่ยอมแพ้” กับข้ออ้างต่างๆ นานาของตัวเอง

นั่นคือ ความแตกต่างกันระหว่าง “Start-Up” ที่ดี

กับ “เด็กๆ” ที่แค่หาความสนุก ถ่ายรูปอวดชีวิตตัวเองไปวันๆ

ความ “กล้าหาญ” ที่จะเลือกทำงานตาม “ความหลงใหล” ของตน

จึงเป็น “เชื้อไฟ” ที่สำคัญ สำหรับ “ผู้ประกอบการ”

 

สร้าง “ทีม” เสร็จแล้ว ก็ลุยทำงานกันเต็มที่

ตั้งแต่หนึ่งทุ่มตรงวันศุกร์ จนถึงห้าโมงเย็นวันอาทิตย์

นำเสนอผลงานให้กับผู้บริหารของบริษัท และกรรมการตัดสินภายนอก

ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ “สตาร์ตอัพ”

ใครที่แนวคิดดี ต้นแบบโดน ก็ “ได้รางวัล” กันไป

ส่วนจะไป “ต่อยอด” กับบริษัทอย่างไรต่อนั้น

ก็ไปคุยกันนอกรอบ

นี่แหละครับ ปรากฏการณ์ “แฮก-กะ-ตอน”

 

หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า

มันก็ฟังดูเหมือนๆ การแข่งแผนธุรกิจทั่วๆ ไปนี่นา

คิดๆ และก็ “นำเสนอ” ใครชนะ ก็ได้รางวัล

คำตอบคือ “คล้ายๆ” แต่ไม่ใช่สักทีเดียวครับ

ทำไมน่ะหรอ

 

เมื่อสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ที่อเมริกา

มหา”ลัยของผมรายล้อมไปด้วยนักลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า Venture Capital ระดับโลกมากมาย

Venture Capital เหล่านี้ พร้อมจะเดิมพันเงินลงทุนของตัวเอง กับ “ความฝัน” ของเด็กๆ รุ่นใหม่ไฟแรง ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของเด็กๆ เหล่านี้อยู่บ้าง

เด็กชาย สตีฟ จ็อบส์ ผู้ใฝ่ฝันให้ทุกบ้านมีคอมพิวเตอร์ใช้

หนุ่มน้อย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ผู้อยากให้มนุษย์โลกเชื่อมต่อ สื่อสารกันได้ทั้งหมด

คู่หู เอริก ชมิต และ เซอร์เจ บริน สองหนุ่มที่อยากให้คนค้นหาอะไรก็เจอในอินเตอร์เน็ต

บริษัทอย่าง Apple, Facebook หรือ Google ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

ที่จริงแล้ว ก็เคยเป็นเด็กน้อย ที่มี “ความฝัน” และได้รับการสนับสนุนจาก Venture Capital กันทั้งสิ้น

แน่นอนครับ เด็กๆ ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด นอกจากเรียนหนังสือแล้ว

ก็จะหาแนวคิดทางธุรกิจ เพื่อไปนำเสนอขอเงินทุนจาก Venture Capital เหล่านี้ กันอย่างกระตือรือร้น

ที่น่าสนใจก็คือว่า การ “นำเสนอ” ผลงานกับ Venture Capital นั้น

เขาไม่ได้คาดหวังให้เด็กๆ เอาแค่ “แผนธุรกิจ” มานำเสนอ เหมือนการแข่งขันชิงเงินรางวัลทั่วๆ ไป

นี่คือ “การลงทุน” ลงเงินจริงๆ ลงไปใน “ความฝัน” ของเด็กๆ

สิ่งที่ Venture Capital อยากเห็นในการ “นำเสนอ” จึงไม่ใช่แค่ “แผนธุรกิจ” หลักลอย

ที่มีพื้นฐานบนตัวเลข สมมุติฐานที่ “ไม่มีใครรู้” จะใส่ให้ดีแค่ไหน ก็ไม่มีความหมาย

แต่เขาอยากเห็น “ต้นแบบ (Prototype)” ที่ได้รับการ “ยอมรับ” จากลูกค้า ระดับหนึ่ง

นั่นคือ การนำเสนอ “ของที่คุณสร้างขึ้นมาแล้ว” ในเบื้องต้น ด้วยความพยายามของตัวเอง

ไม่ใช่ต้องรอ “เงิน” ก่อนถึงจะลงมือทำ

โลกในยุคดิจิตอล มีเครื่องมือการสร้าง “ต้นแบบ” มากมาย ที่สามารถหยิบมาใช้ได้

ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น หรือการทำเว็บไซต์ต่างๆ สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่เสียเงินมากมาย

ตัว “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ที่มาพร้อม “ต้นแบบ” ที่ได้ทดลองใช้กับลูกค้าของตนแล้วระดับหนึ่ง

จะสร้างความมั่นใจให้กับ Venture Capital ได้มากกว่านำเสนอแค่ “แนวคิด” ในหัว แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำเลย

ถ้าคุณ “หลงใหล” กับ “ความฝัน” ของคุณมากพอ

การนั่งรอ “เงินลงทุน” ก่อนที่จะลงมือทำ คงจะไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุน “คาดหวัง” จาก “ผู้ประกอบการ”

การจัดงาน แฮก-กะ-ตอน จึงไม่ใช่การนำเสนอ “แผนธุรกิจ” เพียงอย่างเดียว

แต่ “เด็กๆ” จะต้องทำงานจริงๆ ใช้เวลากินนอนด้วยกันช่วงสุดสัปดาห์

สร้าง “ต้นแบบ” ขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่แค่การนั่งทำ “สไลด์” อวดแนวคิดของตน

ภาพที่เห็นจะไม่ใช่การมานั่งประชุม เปิด powerpoint ทำ excel กัน

พวกเขาควรจะออกไปข้างนอก เพื่อพูดคุยกับ “กลุ่มลูกค้า” ทดสอบ “แนวคิด” ของตน

ระดมสมองด้วย “post-it note” อย่างรวดเร็ว

แบ่งงานกันออกแบบ แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์

เขียนโปรแกรมกันสดๆ เลยตรงนั้น ถึงดึกๆ ดื่นๆ

กระป๋องเบียร์ และกล่องพิซซ่า ที่วางระเกะระกะ ดูไม่เรียบร้อย

เสียงหัวเราะ ความเครียด ความกังวล และแน่นอน…

มิตรภาพที่เกิดขึ้นจากช่วงเวลาในการ “สร้าง” ทีม ด้วยการทำงานร่วมกัน

เพื่อ “สร้าง” บางสิ่งที่ตัวเองเชื่อเหมือนๆ กัน

เป็น “ภาพ” ที่คุ้นชิน สำหรับการจัดงาน แฮก-กะ-ตอน

 

แน่นอนว่า องค์กรที่จัดงานคงจะคาดหวังแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเอาไปปรับใช้ในองค์กร

แต่ แฮก-กะ-ตอน อาจจะไม่ใช่แค่การ “แข่งขัน” ทางธุรกิจธรรมดาแบบนั้น

มันคือ “พื้นที่” การทดลองใช้ชีวิตแบบ “ธุรกิจเกิดใหม่ (Start-up)”

เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะสนับสนุน “เด็กๆ” ที่มีความฝัน แล้วไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

และยิ่งดี สำหรับ “พนักงานประจำ” ที่เบื่อวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ขององค์กร

ได้มาพบเพื่อนใหม่ มาลองทำงานจริงๆ มาลุยไปด้วยกัน

ตื่นขึ้นมาอีกที วันจันทร์ตอนเช้า

บางคนชีวิตอาจจะไม่เหมือนเดิม

นี่แหละครับ งาน แฮก-กะ-ตอน

 

ที่อยู่ใน “ระบบไฟฟ้า” นั่นมัน “อิเล็กตรอน” ครับ

ไม่ใช่ แฮก-กะ-ตอน

เข้าใจตรงกันนะ ท่านผู้บริหารทั้งหลาย