สุรชาติ บำรุงสุข | ปฏิรูปกองทัพต้องเป็นวาระแห่งชาติ… ต้องคิดปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังแล้ว!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผบ.ทบ.กร้าว! ไล่หญิงหน่อยฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” หลังชูเลิกเกณฑ์ทหาร-ตัดงบ กห.”

หัวข่าวมติชนออนไลน์

18 กุมภาพันธ์ 2562 – 09:18 น.

เมื่อเวลาเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใกล้เข้ามา ก็เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองต่างๆ จะเปิดการรณรงค์หาเสียงด้วยการนำเสนอนโยบายในด้านต่างๆ ให้แก่สังคม

การหาเสียงจึงเป็นดังการ “ขายตรง” ในตลาดการเมืองระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายกับประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

และแน่นอนว่าการหาเสียงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการเมืองย่อมจะมีความเข้มข้นในตัวเองและจะเป็นการตัดสินด้วยมติมหาชน

การแข่งขันเช่นนี้จะทำหน้าที่ตัดสินอย่างสำคัญว่าใครคือผู้ชนะที่จะได้อำนาจทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล

ฉะนั้นในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจึงทำให้แต่ละพรรคต้องสร้างจุดเด่นเพื่อให้สินค้าที่นำเสนอขาย (ในความหมายของตัวนโยบาย) นั้น ถูกใจ…โดนใจผู้ซื้อที่เป็นประชาชน

และยิ่งประชาชนเลือกซื้อมากเท่าใด พรรคก็ยิ่งมีโอกาสชนะมากเท่านั้น

นี่เป็นกฎกติกาพื้นฐานของการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย

AFP PHOTO / AAMIR QURESHI

สินค้าปฏิรูปกองทัพในตลาดการเมือง

การแข่งขันเช่นนี้ต้องถือเป็นด้านบวก อันจะทำให้บรรดาพรรคทั้งหลายใน “ตลาดการเมือง” ของไทย ขายสินค้าที่เป็นนโยบายมากกว่าการนำเสนอขายตัวบุคคล หรืออาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันในมิติดังกล่าวจะเป็นการยกระดับด้วยการทำให้การต่อสู้ของพรรคการเมืองไทยเป็นเรื่องเชิงนโยบายมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการย้ำว่าอำนาจรัฐได้มาด้วยการแข่งขันในการเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ไม่ใช่ได้มาด้วยการยึดอำนาจแบบที่ประชาชนไม่มีทางเลือก

นโยบายชุดหนึ่งที่เสนอขายแล้ว อาจจะถูกใจ “ผู้ซื้อ” ที่เป็นประชาชนอย่างยิ่ง

แต่ดูจะไม่ถูกใจ “ผู้รับผล” ที่หมายถึงบรรดาผู้นำกองทัพที่มีนัยในอนาคตว่าจะต้องเป็นผู้รับนโยบายไปปฏิบัติก็คือนโยบาย “ปฏิรูปกองทัพ” ที่ในการแข่งขันหาเสียงนั้น หลายพรรคเริ่มออกมานำเสนอนโยบายดังกล่าวเพื่อให้สังคมได้เห็นทิศทางของพรรคตน

และคงต้องยอมรับว่าการนำเสนอเรื่องนี้ออกจะถูกใจผู้คนในตลาดการเมืองไทยอย่างมาก

เช่น ปัญหางบประมาณทหารที่ควรจะต้องลด

ปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ควรจะต้องหยุด

หรือปัญหาการเกณฑ์ทหารที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยน เป็นต้น

ข้อเสนอเช่นนี้กำลังเกิดเป็น “กระแสปฏิรูปกองทัพ” ที่ก่อตัวขึ้นในเวทีการเมืองไทยอย่างชัดเจน

ในขณะที่ “เสียงตอบรับ” กับการเสนอขายนโยบายปฏิรูปกองทัพที่มีมากขึ้นในสังคมนั้น กลับเห็นชัดเจนว่า “เสียงปฏิเสธ” จากผู้นำกองทัพสายอนุรักษนิยม ที่ไม่อาจยอมรับเนื้อหาของนโยบายเช่นนี้ได้ จึงนำไปสู่การไล่ผู้สมัครของพรรคการเมือง “ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน”

จนประเด็นนี้กลายเป็นข่าวเด่นของวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์

และกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ในการเมืองไทยทันที

การกล่าวถึง “เพลงหนักแผ่นดิน” เช่นนี้ ตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการส่งสัญญาณถึงการ “ข่มขู่” ทางการเมือง ไม่ว่าผู้นำทหารจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

แต่เพลงนี้คือสัญลักษณ์ของการสังหารหมู่ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519…

หรือว่าการเอาเพลงนี้ขึ้นมาคือการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว” ให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง จนอาจต้องตีความว่าผู้นำทหารกำลัง “กลัว” ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกองทัพที่เดินขึ้นสู่กระแสสูง และต้องการที่จะยับยั้งกระแสนี้ด้วยเพลงหนักแผ่นดิน

แต่คงต้องยอมรับว่ากระแสนี้ได้กลายเป็น “สินค้าขายดี” ในตลาดการเมืองไทยแล้ว

และยิ่งผู้นำทหารออกมาต่อต้านนโยบายปฏิรูปกองทัพมากเท่าใด นโยบายนี้ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นเท่านั้น

สาเหตุการปฏิรูปทหาร

เสียงของผู้นำกองทัพสะท้อนเรื่องใหญ่ที่จะต้องคิดทบทวนอย่างจริงจังใน 5 ประเด็น ดังนี้

1) ปัญหารัฐซ้อนรัฐและความเป็นอิสระทางการเมือง : กองทัพไทยเป็นองค์กรที่มีอิสระในการเมืองไทยอย่างเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือน (คือเป็นองค์กรที่มี political autonomy) หรือมีสถานะเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” (state within the state)

ในรัฐไทยปัจจุบัน การแสดงออกของผู้นำกองทัพอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะในการต่อต้านนักการเมืองที่หาเสียงด้วยนโยบายที่ฝ่ายทหารไม่ชอบนั้น คือการบ่งชี้ว่ากองทัพคือองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการเมืองไทย

และอำนาจทางการเมืองของกองทัพปรากฏชัดอยู่ในทุกบริบทของกระบวนการเมือง

ไม่ใช่เพียงแต่ในทางการเมืองเท่านั้น และอาจต้องยอมรับว่าอำนาจเช่นนี้กำลังแทรกซ้อนอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมการเมืองไทย

อันทำให้รัฐประหาร 2557 มีลักษณะของกระบวนการการสร้าง “รัฐทหาร” อย่างชัดเจน และผู้นำทหารหวังว่ารัฐในรูปแบบเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไป แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ตาม

หรือเป็นความหวังของผู้นำทหารว่า การเลือกตั้งจะนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม” (semi-authoritarianism) ที่ยังคงมีแกนกลางมาจากคณะรัฐประหารเดิม พร้อมกับการออกแบบกติกาในรูปของกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการคงอยู่ของระบอบเดิมอีกด้วย

และอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม ซึ่งหากการดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ย่อมนำไปสู่การกำเนิดของระบอบพันทาง (hybrid regime) ที่จะเห็นการแปลงกายของระบอบทหารแบบเดิม

อันอาจมีนัยถึงการกำเนิดของ “ระบอบกึ่งเผด็จการทหาร” ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย แต่ก็เท่ากับยืนยันให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองของกองทัพที่ยังคงอยู่ในการเมืองไทยต่อไป

2) ปัญหาวินัยทหารกับการแสดงออกทางการเมือง : คำถามสำคัญประการหนึ่งของวินัยทหารในประเด็นนี้ ได้แก่ ผู้นำกองทัพสามารถแสดงออกทางการเมืองได้เพียงใด

มิไยต้องกล่าวเปรียบเทียบว่าการแสดงออกเช่นที่เกิดในสังคมไทยเป็นสิ่งไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในอดีตของการเมืองโลกมีแต่เพียงกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น ที่ผู้นำทหารสามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่มีขีดจำกัด

และการแสดงออกเช่นนี้ไม่ถือเป็นความผิดในวินัยทหาร

ในระบบการเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น มีความแตกต่างออกไป เช่น เราอาจต้องยอมรับว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น การแสดงออกทางการเมืองของผู้นำทหารในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการต่อต้านประชาธิปไตยถือเป็นการผิดวินัยทหารโดยตรง

และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้แต่อย่างใด ผู้นำทหารของกองทัพในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเวทีเปิด

3) ปัญหาสภาวะการขาดความเป็นวิชาชีพทางทหาร : การมีบทบาทของกองทัพทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 ส่งผลให้นายทหารรุ่นหลังเติบโตขึ้นมาด้วยจินตนาการที่เชื่อว่า ทหารไทยเป็น “ทหารการเมือง” นั้น ไม่ใช่สิ่งผิด

เพราะเห็นได้ชัดเจนถึงการมีบทบาทของกองทัพที่เกินเลยจากภารกิจทางทหารในเรื่องของการป้องกันประเทศ

การขยายบทบาทในการทำหน้าที่ทางการเมืองเช่นนี้มีผลโดยตรงต่อการสร้างทัศนะที่เชื่อว่า การเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร ประเทศชาติจึงจะปลอดภัย

อันเป็นทัศนะที่เชื่อว่าทหารเป็น “ผู้พิทักษ์” ของชาติ (หรือในทางทฤษฎีคือ ทหารเป็น “national guardian”)

และความพยายามในการสร้างกองทัพให้เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการสร้าง “ทหารอาชีพ” (professional soldiers) จึงมักจะถูกโต้แย้งว่า สิ่งนั้นเป็นบริบทของกองทัพตะวันตกไม่ใช่กองทัพไทย และกองทัพไทยไม่จำเป็นต้องเดินไปบนเส้นทางดังกล่าว และตามมาด้วยการสร้างวาทกรรมแบบสุดโต่งที่ว่า กองทัพไทยไม่จำเป็นต้องมีทหารอาชีพเหมือนกองทัพตะวันตก

เช่นที่การเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยเหมือนการเมืองตะวันตก พร้อมกับเรียกร้องให้ยอมรับสถานะเดิม (status quo) ของการเมืองและกองทัพในแบบที่เป็นอยู่ และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย

4) ปัญหาความเข้มแข็งของความเป็นทหารการเมือง : ในการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนานั้น ปฏิเสธข้อเท็จจริงประการสำคัญไม่ได้ว่าภาคพลเรือนหรือภาคประชาสังคมมักจะไม่มีอำนาจและขีดความสามารถมากพอที่จะต้านทานการขยายบทบาทของกองทัพได้

ยิ่งการต่อต้านการยึดอำนาจแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลพลเรือน ความอ่อนแอเช่นนี้ได้กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง “ทหารการเมือง” หรือทำให้ภารกิจของทหารกลายเป็นภารกิจทางการเมือง

และที่สำคัญคือ “กระบวนการทำให้เป็นการเมือง” (politicization) ส่งผลให้กองทัพกลายเป็นองค์กรการเมืองในตัวเอง

จนผู้นำกองทัพขาดความตระหนักรู้ถึงภารกิจที่แท้จริงของความเป็นกองทัพ นอกจากนี้ ผู้นำกองทัพมักจะอ้างเหตุถึงความขัดแย้ง รวมถึงความวุ่นวายต่างๆ ทางการเมือง และสร้างทัศนะว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นอ่อนแอและไม่มีขีดความสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กองทัพจึงมี “ความจำเป็น” ที่จะต้องเข้ามาเพื่อป้องกันความรุนแรงจากเหตุดังกล่าว ว่าที่จริงแล้ววาทกรรมรัฐบาลพลเรือนอ่อนแอคือมรดกสำคัญประการหนึ่งที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น

เพราะเป็นความเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งการนำมาใช้ในปัจจุบันก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของกองทัพเป็น “คนกลาง” ที่เข้ามาเพื่อหย่าศึกความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

และเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารเข้ามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้งนั่นเอง

5) ปัญหาอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมและผู้นำทหาร : โดยธรรมชาติของกลุ่มปีกขวาที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมในการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา/กำลังพัฒนา พวกเขามีทิศทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการยึดอำนาจของผู้นำทหาร

กล่าวคือ ผู้คนในสังกัดชุดความคิดนี้มักจะมีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตยภายใต้ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)

โดยภาพรวมคือต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านพรรคการเมือง ต่อต้านนักการเมือง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่กลุ่มเหล่านี้จะให้การสนับสนุนผู้นำกองทัพในการมีบทบาททางการเมือง และจะแสดงออกด้วยความพึงพอใจเสมอต่อการต่อต้านประชาธิปไตยของผู้นำทหาร หรือในอีกด้านก็คือ

คนที่สังกัดชุดความคิดแบบนี้มักเชื่อว่า ผู้นำทหารคือ “คนกลาง” ที่จะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง

แต่ในอีกด้านก็อาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศกำลังพัฒนาไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้ในสนามเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องอาศัยรัฐประหารเป็นเครื่องมือ

หรืออาจกล่าวสรุปว่าในภาวะที่กลุ่มฝ่ายขวาอ่อนแอนั้น พวกเขาต้องแสวงหาพันธมิตรที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และพันธมิตรนี้ไม่มีอะไรเหมาะสมเท่ากับองค์กรทหารที่มีอาวุธ และผู้นำทหารที่มีความคิดในชุดอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

กองทัพในเงื่อนไขเช่นนี้จึงมักมีบทบาทเป็น “แกนกลาง” ของการรัฐประหารของฝ่ายอนุรักษนิยมเสมอ

ลักษณะเช่นนี้อาจจะแตกต่างจากปีกขวาใหม่ในโลกปัจจุบันที่ก้าวข้ามการรัฐประหารไปแล้ว และจำเป็นต้องอยู่กับการเลือกตั้งและการเมืองในระบบเปิด ดังเช่นกลุ่มประชานิยมปีกขวา (Rightwing Populism) ในโลกตะวันตก

ถึงเวลาต้องปฏิรูปกองทัพแล้ว!

หากมองจากบริบทของการเมืองไทยแล้ว คงต้องยอมรับว่าปัญหา 5 ประการเช่นนี้ไม่สามารถทำลายลงทั้งหมดได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย

แต่อย่างน้อยการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพโดยมีเงื่อนไขจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratization) เป็นปัจจัยกำกับ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญประการหนึ่งในการสร้างกองทัพไทยให้เป็นกองทัพในมาตรฐานสากล (ในแบบที่ควรจะเป็น)

มิใช่กองทัพในแบบที่ดำรงบทบาทเป็นจักรกลของการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้นำทหารในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ดังนั้น การแสดงออกของผู้นำกองทัพบกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ช่วยตอกย้ำอย่างมีนัยสำคัญว่า ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องปฏิรูปกองทัพไทยอย่างจริงจังแล้ว

และก็น่าจะได้เวลาที่จะต้องคิดเรื่องการสร้างทหารอาชีพของกองทัพไทยอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่จะต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่มีกระบวนการสร้าง “ทหารประชาธิปไตย” เป็นองค์ประกอบคู่ขนานอีกด้วย

ว่าที่จริงแล้วการแสดงออกของผู้นำกองทัพบกในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดียิ่งสำหรับขบวนประชาธิปไตยที่จะต้องทำให้การปฏิรูปกองทัพเป็น “วาระแห่งชาติ” ในการเมืองไทยในอนาคตนั่นเอง!