เคน นครินทร์ : แค่คิดต่างคงไม่พอ เบื้องหลังไอเดียสนามฟุตบอลไร้รูปทรง

ทุกๆ ปี TIME จะคัดเลือกสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในโลกจำนวน 25 อันดับ โดยตัดสินจากผลงานที่ช่วยทำให้โลกดียิ่งขึ้น ฉลาดขึ้น หรือแม้กระทั่งน่าสนุกยิ่งขึ้น

ผมคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ของตัวนิตยสาร TIME จึงได้เห็น 25 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2016 เช่น Flyte หลอดไฟลอยได้ โดย Simon Morris, Morpher หมวกจักรยานพับได้ โดย Jeff Woolf, Tesla Solar Roof แผงโซล่าร์เซลล์ โดยบริษัท Tesla และ SolarCity, Nike Hyperadapt รองเท้าผูกเชือกเอง โดย Nike, Playstation VR อุปกรณ์แว่นตา Virtual Reality โดย Playstation

แต่ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคงหนีไม่พ้นสิ่งประดิษฐ์ของคนไทยติดอันดับเข้าไปด้วย ซึ่งก็คือ Unusual Football Field สนามฟุตบอลไร้รูปทรง โดย บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)

 

โปรเจ็กต์นี้เป็นแคมเปญฉลองครบรอบ 25 ปี ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง

เมื่อมองจากมุมท็อป เราจะเห็นสนามฟุตบอลในรูปร่างที่ต่างจากความคุ้นเคย เพราะไม่ได้เป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั่วไป แต่เป็นรูปทรงตัวแอล (L-Shape) และรูปทรงซิกแซ็ก (Zig Zag) สอดรับกับภูมิทัศน์ของชุมชนคลองเตยอย่างลงตัว และกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนได้มาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ร่วมกันจริงๆ

เว็บไซต์ชื่อดังด้านการออกแบบและโฆษณา อาทิ designboom, Dezeen และ Ads of the Day รวมถึงนิตยสารไทม์ ต่างกล่าวชื่นชมว่าเป็นแคมเปญที่นำการออกแบบเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่ในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ยึดติดอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่เดิม

เบื้องหลังของแนวคิดการสร้างสนามฟุตบอลนี้คืออะไร?

และเราจะถอดรหัสความสำเร็จนี้มาใช้อะไรได้บ้าง?

 

ท็อป-ภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image แห่ง บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เล่าที่มาของโปรเจ็กต์นี้ให้ทีมงาน The Momentum ฟังว่า โจทย์แรกของเอพีไม่ใช่การสร้างสนามฟุตบอล แต่ทางบริษัทต้องการทำงานออกแบบที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของ “พื้นที่” ที่ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเกิดไอเดียที่จะเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งไร้ประโยชน์ใช้สอยให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์สำหรับชุมชนอีกครั้ง

เอพีเริ่มสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ โดยใช้โดรนบันทึกภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับทีมนักออกแบบ AP Design Lab นำภาพถ่ายไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแต่ละพื้นที่ให้ตรงกับโจทย์มากที่สุด

จนกระทั่งมาลงตัวที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งยังคงประสบปัญหาชุมชนแออัด ทำให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไม่มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในยามว่างหรือหลังเลิกเรียน

เขาเล่าว่าเวลาพูดถึงชุมชนแออัด คนมักจะนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เยาวชนที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิต

“เราคุยกันว่าถ้าจะต้องพัฒนาพื้นที่ในชุมชนคลองเตยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและทำให้คนที่อยู่ในสังคมนั้นๆ ใช้ประโยชน์จากมันได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี เราจะทำอะไร

สุดท้ายจึงมาลงตัวที่การออกแบบพื้นที่ว่างในชุมชน โดยเน้นสำหรับกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก และขยายไอเดียต่อว่าน่าจะทำอะไรเกี่ยวกับกีฬา เพราะช่วยพัฒนาด้านจิตใจและสุขภาพไปพร้อมๆ กัน แต่พื้นที่ในคลองเตยนั้นมีอุปสรรคในการออกแบบ เช่น โครงสร้างเดิมที่ไม่สามารถรื้อถอนได้

พวกเขาจึงหาทางเอาชนะอุปสรรคทางกายภาพดังกล่าว

 

สาเหตุที่สนามฟุตบอลทั้ง 2 แห่งในคลองเตยไม่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนอย่างสนามฟุตบอลทั่วไป ไม่ใช่แค่เพียง “การคิดต่าง”

แต่เป็นการออกแบบพื้นที่ใต้ “ข้อจำกัด” ทั้งด้านขนาดและสภาพแวดล้อม

ทีมงานพยายามออกแบบพื้นที่ให้ “ยืดหยุ่น” และ “กลมกลืน” ไปกับชุมชนมากที่สุด

ที่สำคัญใช้สอยได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปทรงกรอบสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม

แล้วเล่นได้จริงไหม?

ทางเอพียืนยันว่าเล่นได้จริง เหมือนฟุตบอลโต๊ะเล็ก (ฟุตซอล) ตามปกติเลยครับ

ภัทรภูริตกล่าวว่า “ด้วยลุคที่เราเห็น มันอาจจะเป็นรูปทรงบิดเบี้ยว แต่เวลาออกแบบ เราคำนึงเสมอว่าต่อให้รูปทรงของสนามไม่ใช่สี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ผู้เล่นสองฝั่งก็ควรจะเล่นได้จริง โดยไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และให้เด็กๆ เยาวชนในพื้นที่ได้ทดลองเล่นเองด้วย ตอนแรกเขาก็คิดว่าคงไม่โอเคหรอก แต่พอเล่นจริงๆ แล้ว มันแทบจะไม่แตกต่าง ความสนุกมันไม่ได้ลดลงเลย เหมือนเล่นสนามปกติเลย”

ฉะนั้น เหตุผลหลักที่เล่นได้สนุกเพราะเด็กๆ จะโฟกัสกับเกม ไม่ได้โฟกัสกับพื้นที่ทางกายภาพ

พูดง่ายๆ การออกแบบที่ดีทำให้ผู้ใช้งานลืมไปเลยว่านี่คือสนามฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

 

แล้วพวกเขาออกแบบสิ่งประดิษฐ์นี้มาได้อย่างไร ใช้แนวคิดจากไหน?

โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยใช้เวลาไปกับการลงพื้นที่สำรวจ เข้าพัฒนาพื้นที่หลังจากหารือและได้ข้อสรุปจากทางชุมชน จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จและส่งมอบสนามให้แก่ชุมชนคลองเตย

เชื่อไหมครับว่า ขั้นตอนที่กินระยะเวลานานที่สุด คือการคิดการออกแบบเพื่อเอาชนะข้อจำกัดพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งต้องอาศัยการลงพื้นที่ พูดคุย และสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้เจอ

ทางเอพีเล่าให้ The Momentum ฟังว่า พวกเขาได้พบปะกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้อยู่อาศัย หรือผู้นำชุมชน ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาได้ข้อมูลที่เป็น “อินไซต์” จากคนในพื้นที่จริงๆ ว่าเขามีความต้องการอย่างไร มีเรื่องอะไรที่อยากจะพัฒนา อะไรที่เขาไม่ชอบ

“เสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้เราอยากออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีได้จริงด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามหรือประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว แต่เราควรจะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว”

“เราจะถือว่าการจะออกแบบอะไรก็แล้วแต่ เราต้องฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนด้วย และออกแบบให้มันไปกันได้ดีกับความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน”

“ถ้าเราออกแบบโดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อนหรือความต้องการที่แท้จริง เราจะทำได้แค่เอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปตั้งในชุมชน มันอาจจะสวย ดูดี มีประโยชน์ใช้สอย มีคนพูดถึงในระยะแรก แต่ถ้าคนในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ในระยะยาว ต้องหวงแหนทะนุถนอมมัน หรือไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนอย่างแท้จริง สุดท้ายมันก็จะผุพังไปตามกาลเวลา”

 

ผมชอบแนวคิดการออกแบบสนามฟุตบอลไร้รูปทรงนี้ตรงที่ พวกเขาไม่ได้โฟกัสไปที่ความสวยงามหรือประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว

หัวใจสำคัญของโปรเจ็กต์นี้จึงไม่ใช่การคิดต่าง ไม่ใช่การออกแบบที่เท่ได้รางวัล ไม่ใช่การอ้างอิงทฤษฎีสวยหรู

แต่คือการเปิดหูฟังเสียงของคนในพื้นที่

ง่ายๆ แค่นั้นเอง

เพราะหัวใจสำคัญของการออกแบบก็คือการคำนึงถึงผู้ใช้งาน (User-Centered Design) ซึ่งก็คือคนในชุมชน

โปรเจ็กต์นี้จึงประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ มันตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

ลงพื้นที่

พูดคุย

รับฟังปัญหา

สำรวจ

เพื่อค้นหาความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงให้เจอ

แนวคิดนี่ไม่ได้เป็นเฉพาะกับนักออกแบบเท่านั้น แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกสายงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์แต่เพียงอย่างเดียว

ยามใดที่ต้องคิดงาน หรือเจอปัญหา ขอให้ลองทำตามขั้นตอนดังกล่าว

ลงพื้นที่จริง-พูดคุย-รับฟัง-ค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้เจอ

แล้วลงมือทำ

นี่เป็นแนวคิดง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะหลงลืมมันไปแล้ว