วิกฤติศตวรรษที่ 21 : การคุกคามจากงานต้านข่าวกรองของจีนต่อสหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (48)

การคุกคามจากงานต้านข่าวกรองของจีนต่อสหรัฐ

งานต้านข่าวกรองคืองานข่าวกรองแบบเข้มข้น เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางสำหรับจารชนหรือสายลับ สายลับที่มีชื่อในประวัติศาสตร์และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้แก่ มาตาฮาริ (แปลว่าดวงตะวัน) พื้นเพเป็นชาวดัตช์ มีพฤติกรรมเป็นสายลับสองหน้าให้แก่เยอรมนีและฝรั่งเศส ถูกทางการฝรั่งเศสประหารชีวิต

ส่วนสายลับในนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากมีเจมส์ บอนด์ เป็นต้น

งานต้านข่าวกรองหรืองานจารกรรมนี้ เริ่มขึ้นจากการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจในการทำงานข่าวกรองที่มีความเข้มขึ้นทุกที ตั้งแต่ในยุคแย่งชิงอาณานิคม จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ว่ากันว่ามีส่วนถึงขั้นชี้แพ้ชี้ชนะในการศึกได้

ขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคข่าวสารโลกาภิวัตน์ตอนปลาย มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกสิ่ง และโลกาภิวัตน์ที่มีหลายขั้วอำนาจ

สิ่งที่เหมือนเดิมก็คือการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งในขณะนี้ด้านหลักได้แก่ สหรัฐและจีน เพื่อการสร้างหรือรักษาขั้วอำนาจของตน

สิ่งที่ต่างไปก็คืองานจารกรรมได้มีความกว้างขวางครอบคลุม แผ่ซ่านไปในทุกภาคส่วนของสังคม สามารถผ่านอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ สมาร์ตโฟน ไปจนถึงดาวเทียมสื่อสารและงานจารกรรม

เป็นการปฏิวัติงานข่าวกรองแหล่งข่าวเปิด (Open-source Intelligence) บริษัทที่ทำงานด้านข่าวกรองทางธุรกิจได้คืบคลานเข้ามาในงานนี้ มีการนำข่าวสารข้อมูลมาซื้อขายกันมูลค่ามหาศาล

บ้างขายบริการ การกำหนดจุดทางภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กูเกิลแม็ป หรือแผนที่กูเกิล ซึ่งสามารถนำมาใช้ในงานข่าวกรองได้ (ดูบทความของ Nick Waters ชื่อ Google Maps is a Better Spy Than James Bond ใน foreignpolicy.com 25.09.2018)

ดังนั้น งานข่าวกรองธรรมดากับงานข่าวกรองเข้มข้นจึงผสมกันไป

ใครก็ตามมีคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และรู้วิธีค้นหาหรือล้วงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการประมวลหรือการกรองข่าวและมีเจตนา ก็สามารถทำตัวเป็นสายลับได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ก็มีวิธีจำแนกหน่วยงานข่าวกรองธรรมดากับหน่าวยงานต้านข่าวกรองออกจากกันเป็นหลายแบบ

งานต้านข่าวกรองปัจจุบันนิยมแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ

งานต้านข่าวกรองเชิงรับ เป็นงานปัดป้องไม่ให้งานข่าวกรองของศัตรูคู่แข่งล่วงล้ำเข้ามาในระบบงานข่าวกรองของตน รวมทั้งการหาจุดอ่อนในระบบข่าวกรองของตน และปิดช่องโหว่นี้

กลุ่มที่สองได้แก่ งานต้านข่าวกรองเชิงรุก ได้แก่ การหาตัวจารชนของฝ่ายตรงข้ามที่ลักลอบเข้าสู่ระบบข่าวกรอง เพื่อการจับกุม ขับออกนอกประเทศ หรือการเปลี่ยนจารชนเหล่านี้ให้กลายเป็นสายลับสองหน้า

และกลุ่มที่สาม งานต้านข่าวกรองเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ การส่งจารชนสายลับไปยังต่างแดน เพื่อลงรายละเอียดถึงในพื้นที่ เพื่อป้องกันพื้นที่ติดตั้งระบบการจารกรรมและการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังเป็นการทดสอบระบบต้านข่าวกรองของฝ่ายปรปักษ์ เป็นการป้องกันคนของตนเอง ป้องกันสถานที่ติดตั้งระบบ และการปฏิบัติการของตน

ในบรรดาภัยคุกคามด้านงานต้านข่าวกรองแล้ว ขณะนี้ไม่มีชาติใดที่คุกคามต่อสหรัฐได้สูงเท่ากับจีน

นี้เป็นความคิดเห็นพ้องกันของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์อธิบายเปรียบเทียบว่ารัสเซียพยายามปั่นป่วนระบบเหมือนพายุเฮอร์ริเคนมาเร็วและแรง

ส่วนปฏิบัติการของจีนเหมือนกับภาวะโลกร้อนมาอย่างยาวนาน ช้า แต่กระทบทุกด้าน จีนพยายามเข้าชักใยระบบเพื่อความได้เปรียบสูงสุดในระยะยาว ที่สำคัญการได้เปรียบทางการเงิน โดยการล้วงความลับทางการค้าของบริษัทของสหรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลทางการทหาร ที่เกิดผลเสียหายร้ายแรงยิ่งต่อสหรัฐ

ความเข้าใจเช่นนี้มีเหตุผลมาก เพราะในโลกนี้มีเพียงจีนประเทศเดียวที่สามารถขึ้นมาท้าทายสหรัฐในทุกมิติและทุกรูปแบบได้ รัสเซียเด่นแต่ในเรื่องการทหารและการพลังงานที่จะท้าทายสหรัฐ (ขณะนี้กำลังจะเพิ่มการเกษตรขึ้นอีกด้านหนึ่ง) สำหรับประเทศอิหร่านและเกาหลีเหนือเป็นการสร้างเรื่องให้ใหญ่โตของสหรัฐเอง

จีนมีจุดแข็งที่มีฐานอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีที่รวดเร็ว มีศักยภาพในการแซงหน้าสหรัฐ-ตะวันตกในหลายด้าน มีตลาดขนาดใหญ่ที่ยังขยายตัวในอัตราสูงเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จีนได้ผสานงานข่าวกรองและงานต้านข่าวกรองของตนเข้ากับจุดแข็งดังกล่าว จนกลายเป็นอาวุธทรงพลังที่คุกคามสหรัฐอย่างยิ่ง

กลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐเห็นว่า จีนมียุทธศาสตร์การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่นำโดยรัฐบาลอย่างรอบด้านและระยะยาว เพื่อให้สามารถเข้าถึงและได้มาซึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเอง

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนมีเป้าประสงค์สำคัญได้แก่

ก) การสร้างอำนาจแห่งชาติแบบเบ็ดเสร็จ

ข) การสร้างตัวแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

ค) การทำการทหารให้ทันสมัย เครื่องมือในการทำให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวคือ

1) การใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ

2) การประมวลความรู้แบบไม่ใช่ตามแบบแผน

3) งานข่าวกรอง

4) กิจการร่วมค้า

5) โครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ

6) การเป็นหุ้นส่วนทางการวิจัย

7) การตั้งบริษัทบังหน้า

8) การควบรวมและซื้อกิจการ

9) การลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ที่ถือว่าเป็นหัวใจของการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา

10) การร่วมมือทางวิชาการ จีนได้อาศัยช่องโหว่จากเป็นสังคมเปิดของสหรัฐเข้ามาล้วงข่าวสารนี้ได้จากแหล่งเปิดจำนวนมาก เช่น ห้องสมุด สถาบันการศึกษาการวิจัย และฐานข้อมูลที่ไม่ปกปิด

นอกจากนี้จีนยังสร้างเครือข่ายแหล่งข่าวกรองมนุษย์โดยผ่านหลายช่องทางและหลายแบบ เช่น ส่งสายลับแทรกในหมู่นักท่องเที่ยว และผู้อพยพ นักศึกษาและอาจารย์ รวมความว่าเป็นงานที่สหรัฐเอาชนะได้ยาก

Shenzhou-11 manned spacecraft carrying astronauts Jing Haipeng and Chen Dong blasts off from the launchpad in Jiuquan, China, October 17, 2016. China Daily/via REUTERS

การคุกคามด้านอวกาศของจีน

สหรัฐเป็นผู้นำทางด้านอวกาศตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ก็รู้สึกถูกท้าทายมากขึ้นจากประเทศมหาอำนาจอื่น คือจีนและรัสเซีย ที่เห็นประโยชน์จากอวกาศ ทั้งในด้านการสื่อสาร การทหาร และการพาณิชย์

ในสหรัฐเองมีความคิดในการจัดตั้งกองกำลังอวกาศ (สูงเหนือพื้นดินราว 80 ก.ม.) ตั้งแต่ปี 2001

มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องการจัดตั้งกองกำลังอวกาศขึ้น

ในปี 2017 สภาคองเกรสสหรัฐเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังอวกาศ สังกัดกองทัพอากาศ

ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้เอางานเอาการในการจัดตั้งกองทัพอวกาศขึ้นเป็นเหล่าทัพอิสระ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เขาออกคำสั่งให้จัดตั้งเหล่าทัพอวกาศขึ้น เป็นเหล่าทัพที่ 6 ของกองทัพสหรัฐ มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2020-2024

โดยระหว่างนั้นมีการโอนกำลังคนและงบประมาณในเหล่าทัพอื่นได้แก่ ทัพอากาศ ทัพบก เป็นต้น เป็นสำคัญ และมีงบประมาณของตนเองไม่มากนัก เป็นเหล่าทัพที่มีขนาดกะทัดรัด ใช้บุคลากรที่มี ความสามารถพิเศษสูง

การเคลื่อนไหวของสหรัฐในการตั้งเหล่าทัพอวกาศขึ้น มีเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็เพื่อเปิดมิติการแข่งขันอาวุธใหม่ ได้แก่ การติดอาวุธในอวกาศ ที่ต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีสูง และสหรัฐมีโอกาสชนะ

สำหรับการคุกคามด้านอวกาศนี้ กลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐประเมินภัยจากจีนและรัสเซียไว้ใกล้เคียงกัน

ระบุภาพใหญ่ว่า อุตสาหกรรมด้านอวกาศของโลกจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคไม่ใช่รัฐ ที่เป็นผู้แสดงสำคัญจำต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ โดยพยายามเข้าถึงบริการข่าวสารที่ได้จากอวกาศ เช่น ภาพลมฟ้าอากาศ การสื่อสาร การกำหนดสถานที่ และกำหนดเวลา

คาดหมายว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะเพิ่มความพยายามในการสอดส่อง การสื่อสาร และการเดินเรือโดยใช้อวกาศเป็นฐานมากขึ้น และคาดว่าทั้งจีนและรัสเซียจะเพิ่มความสามารถทางอวกาศของตนยิ่งขึ้น เช่น จีนได้ส่งดาวเทียมถ่ายภาพคมชัดสูงมากในเดือนกรกฎาคม 2018

ในด้านการสงครามอวกาศและการพัฒนาอาวุธทำลายในอวกาศ ประเมินว่าทั้งจีนและรัสเซียได้ฝึกฝนและติดอาวุธให้แก่กองกำลังอวกาศมากขึ้น เช่น อาวุธทำลายดาวเทียม เพื่อทำให้บริการทางอวกาศของสหรัฐและพันธมิตรตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็เคลื่อนไหวให้มีความตกลงระหว่างประเทศห้ามการติดอาวุธในอวกาศ แต่ของจีนและรัสเซียไม่ถูกข้อห้ามนี้ เพราะว่าอาวุธตั้งอยู่บนภาคพื้นดิน

ประเมินว่าทั้งสองประเทศได้นำเรื่องความสามารถทางอวกาศเข้าไปไว้ในยุทธศาสตร์ในการต่อสู้และเอาชนะสงครามของตน กองทัพปลดปล่อยจีนได้พัฒนาขีปนาวุธกำจัดดาวเทียมวงโคจรต่ำ และคาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ในไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ยังติดตั้งอาวุธแสงเลเซอร์ภาคพื้นดิน เพื่อที่จะทำลายหรือระงับการทำงานของอุปกรณ์ เซ็นเซอร์ชนิดใช้แสงความไวสูง ที่ใช้ในระบบการรับรู้ระยะไกล รวมความว่าอวกาศที่อยู่สูงเหมือนห่างไกลมาก ไม่ได้ เป็นที่ปลอดภัยของสหรัฐอีกต่อไป

การคุกคามจากอาวุธทำลายล้างสูงของจีน

อาวุธทำลายล้างสูงได้แก่อาวุธนิวเคลียร์ ที่ประเมินกันว่าสามารถล้างโลก (มนุษย์) ได้ สหรัฐเป็นชาติแรกที่สร้างและใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในต้นปี 2018 สหรัฐมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ประจำการรบถึง 1,750 หัว สูงที่สุดในโลก

รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ประจำการ 1,600 หัว แต่มีหัวรบเก็บไว้ในคลังอาวุธหรือเป็นหัวรบสำรอง และหัวรบที่รอการทำลายสูงสุดของโลกที่ 6,850 หัว

สหรัฐมาเป็นที่สองอยู่ที่ 6,450 หัว รวมสองชาตินี้มีหัวรบนิวเคลียร์ทั้งสิ้นราวร้อยละ 92 ของหัวรบนิวเคลียร์ทั้งโลก

จีนมีหัวรบนิวเคลียร์เพียง 280 หัว ทั้งหมดไม่ได้ประจำการรบ เนื่องจากมีนโยบายไม่โจมตีประเทศใดก่อนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่คงสามารถนำมาใช้ในการรบจริงได้อย่างรวดเร็ว (ดูบทความชื่อ The state of the world”s nuclear arsenal in 3 charts ใน weforum.org 19.06.2018)

หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง (2012) โอบามาผู้ได้รับรางวัลสันติภาพ หันมาสนใจด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ประกาศหนุนการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์เต็มตัว

เพิ่มงบฯ ลงทุนด้านการสร้างระบบส่งอาวุธนิวเคลียร์ใหม่

ยกระดับหัวรบนิวเคลียร์ ปฏิรูปเครือข่ายการบังคับบัญชาที่คงทน

สร้างฐานอุตสาหกรรมในการผลิตฮาร์ดแวร์ทางนิวเคลียร์ เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดแล้ว มีงบประมาณสูงถึง 348 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2015-2024

อาวุธนิวเคลียร์ใหม่ที่สำคัญคือเรือใต้น้ำยิงขีปนาวุธใหม่ เครื่องบินทิ้งระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปใหม่ ระบบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีใหม่ มีอำนาจทำลายแบบจำกัดพื้นที่ (ดูบทความของ Loren Thompson ชื่อ Obama Backs Biggest Nuclear Arms Buildup Since Cold War ใน forbes.com 15.12.2015)

เป็นอันว่าดูเหมือนทั้งโลกควรจะได้หวาดกลัวภัยคุกคามอาวุธนิวเคลียร์จากสหรัฐมากกว่า

แต่ในสายตาของกลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐเห็นว่าจีนจะใช้ความพยายามในการขยายความสามารถทางอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ที่สำคัญได้แก่ การทำให้ขีปนาวุธส่งอาวุธนิวเคลียร์ทันสมัย การประจำการอาวุธที่มีฐานทางทะเล การปรับปรุงขีปนาวุธทั้งที่เคลื่อนที่ได้ และติดตั้งถาวร การทดสอบยานร่อนส่งอาวุธความเร็วเหนือเสียง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการโจมตีตอบโต้ และทำลายขีปนาวุธของศัตรู และจะสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ด้วย

พิจารณาจากการแข่งขันอาวุธ ความไม่ไว้วางใจระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสูง และอาวุธที่มีการพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและหลากหลาย ก็นับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์และนักคิดบางคนในสหภาพยุโรป ที่เห็นแนวโน้มของการแตกสลายของทุนนิยม วิกฤติประชาธิปไตยและสงครามโลกครั้งที่สาม รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์และการเตรียมพร้อมของผู้นำจีน