ทำไม “โนเกีย” ต้องขายบริษัทให้กับ “ไมโครซอฟท์” ?

“คนขายชาติ”

วันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนเก่า

ไม่ได้เจอกันมากว่า 10 ปี

เราคุยกันถึงเรื่องการ “ขายหุ้น” ของบริษัทไทยให้กับบริษัทต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนสัญชาติไทย ที่ขายให้กับต่างประเทศ

หรือบริษัทของรัฐบาล ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์

จนมีผู้ถือหุ้นเป็นกองทุนต่างประเทศมากมาย

เรียกได้ว่า ความเป็นเจ้าของของบริษัทนั้นๆ

บ้างก็จะผสมระหว่างความเป็นไทยกับต่างชาติ

บ้างก็กลายเป็นบริษัทต่างชาติไปเลย

แม้ว่าชื่อบริษัทจะเป็นภาษาไทยอยู่

แต่ความเป็นเจ้าของนั้น เป็นต่างชาติไปเรียบร้อยแล้ว

เพื่อนคนหนึ่งแอบบ่นขึ้นมาว่า “ขายชาติ”

สมบัติของคนไทย ทำไมเอาไปขายให้ต่างประเทศ

เพื่อนอีกคนก็ไม่เห็นด้วย

อ้าวแก ก็คนไทยเงินไม่พอ ไม่มีใครมาซื้อหุ้น ไม่มีใครเอา

ต่างชาติเขามาซื้อ ไม่ขายให้เขา

บริษัทก็อาจจะไปไม่รอดนะ

ผมฟังๆ ดูก็สะดุดใจกับคำว่า “ขายชาติ”

ฟังแล้วมัน “มวนท้อง” พิกล

ครั้งที่แล้ว ผมเล่าถึงหนังสือชื่อว่า “Transforming Nokia”

เขียนโดย “ริสโต” ประธานบอร์ดบริษัทโนเกียคนปัจจุบัน

เล่าเรื่องราว “การตายแล้วเกิดใหม่” ของบริษัทโนเกีย

ตั้งแต่ปี 2007 ที่ไอโฟนออกมา ทำให้โนเกียปั่นป่วน

จนกระทั่งส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือโนเกียถูกขายให้บริษัทไมโครซอฟท์ไปเมื่อปี 2013

โนเกียนั้นต้องยอมรับว่า “พลาดท่า” ให้กับตลาดมือถือยุคใหม่

ที่นำโดย “แอปเปิ้ล” และ “กูเกิล” ครับ

สองบริษัทนี้เขาไม่ได้สนใจโทรศัพท์มือถือเป็น “อุปกรณ์” อีกต่อไป

แต่ให้ความสำคัญกับ “มันสมอง” ของโทรศัพท์มือถือ

หรือที่เราเรียกว่า “ระบบปฏิบัติการ (Operating System – OS)”

ถ้าเป็นของแอปเปิ้ล เราเรียกว่า “ไอโอเอส (IOS)”

ถ้าเป็นของกูเกิล เราเรียกว่า “แอนดรอยด์ (Android)”

หลักการก็เหมือนกับที่บริษัท “ไมโครซอฟท์” ผลิต “วินโดวส์ (Windows)”

แล้วเอาไปใส่ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องแทบจะทุกยี่ห้อก็ได้

เป็นรูปแบบธุรกิจที่ทำให้ “บิล เกตส์” เจ้าของบริษัท ขึ้นเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก

โนเกียนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีระบบปฏิบัติการอย่างที่ใครเขามีกัน

เขามี และมีก่อนคนอื่นเสียอีก

เรียกว่า “ซิมเบียน (Symbian)” ครับ

หลายท่านที่เคยใช้ smart phone ของโนเกีย ต้องเคยคุ้นๆ ชื่อแน่นอน

แต่พอได้ลองใช้เจ้าซิมเบียน ก็จะพบว่า “ใช้ยากมาก”

กดตรงนั้น กดตรงนี้ งงไปหมด

แถมที่สำคัญคือ พอเปลี่ยนมือถือโนเกียเป็นรุ่นอื่นๆ

เจ้าซิมเบียนนี้ก็จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป

นี่แหละการเอา “อุปกรณ์” นำ แล้วให้ “สมอง” ปรับตาม

ในเชิงลูกค้า จะทำให้งง และ “หงุดหงิด” มากที่จะต้องมาปรับตัวตามเทคโนโลยีของโนเกีย

และในเชิงธุรกิจ ก็ทำให้สร้าง “แอพพลิเคชั่น” ได้ช้า

ต้องมาคอยเปลี่ยนเวอร์ชั่นเรื่อยๆ ตามชนิดของโทรศัพท์มือถือ

ลองมาดู “ไอโฟน” สิครับ

จะรุ่นไหนๆ ตั้งแต่รุ่นแรก ถึงตอนนี้มีสิบรุ่นแล้ว

“ไอโอเอส” เขาก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม ใช้ง่ายเหมือนเดิม

ไม่ทำให้ “ผู้ใช้งาน” งง

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ “โนเกีย” ก็ต้องตัดสินใจขายบริษัทให้กับ “ไมโครซอฟท์” ในที่สุด

หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า

“ขายบริษัท” นี่ก็คือ “เจ๊ง” ใช่หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่แน่” ครับ

ลองนึกภาพนะครับ มูลค่าของบริษัทโนเกียนั้น ค่อยๆ ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2007

ตกลบมากว่า 20 เท่า จากแสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเพียงห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ

และก็ยังคงจะตกต่ำลงไปเรื่อย

อาจจะเป็นจุดที่เหลือ “ศูนย์” ที่เขาเรียกว่า “ล้มละลาย” ก็เป็นได้

ถ้าตอนนั้นโนเกียมีมูลค่าประมาณห้าพันล้าน

แต่ขายออกไปให้ไมโครซอฟท์ได้เจ็ดพันล้าน

แบบนี้ก็ได้กำไรสองพันล้าน

ดีกว่าเก็บบริษัทเอาไว้แล้วมูลค่าตกลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหลืออะไรมั้ยครับ

นี่แหละ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ “ริสโต” ตัดสินใจขายธุรกิจมือถือของโนเกียให้กับบริษัทไมโครซอฟท์

และนำเงินที่ได้มาจากไมโครซอฟท์มาลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่จะเป็นอนาคตของบริษัท

ริสโตนั้น ตอนที่จะประกาศให้โลกรู้ถึงข่าวการซื้อขายครั้งนี้

เรียกได้ว่า “นอนไม่หลับ” ไปเป็นอาทิตย์

การขายบริษัทโนเกียนั้น เปรียบเหมือนการขายหัวใจของคน “ฟินแลนด์”

โนเกียเป็นบริษัทที่คนฟินแลนด์ภาคภูมิใจ

เคยเป็นหนึ่งในโลก

การที่รู้ว่าต้องถูกขายออกไปให้คนต่างชาตินั้น

เป็นเรื่องที่จะเรียกว่า “ขายชาติ” ก็สามารถจะเข้าใจไปทางนั้นได้

ริสโตถึงกับต้องโทร.บอกกับทาง “นายกฯ” ของฟินแลนด์ก่อนหน้าจะประกาศซื้อขายหนึ่งวัน

และสำคัญคือ บอก “ครอบครัว” ให้เตรียมใจโดนด่าจากสังคมได้

เขารู้ว่า ลูกๆ ก็จะได้รับผลกระทบที่โรงเรียน

หากเพื่อนๆ เขารู้ว่าพ่อเป็นคนที่ขายโนเกียไปให้ต่างชาติ

แม้ว่าสำหรับผู้ถือหุ้นที่เป็นคนโนเกียเอง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

แต่ “อารมณ์” ความรู้สึกนั้น ยากที่จะนำพาไปให้เข้าใจเหตุผลเชิงตัวเลขได้

ซ้ำแล้ว ออฟฟิศของโนเกียที่เป็นเหมือนความภูมิใจของคนฟินแลนด์

ก็จะต้องถูกปลดระวาง เอาโลโก้ของตัวเองออก

และนำโลโก้ของ “ไมโครซอฟท์” ขึ้นไปติดแทน

เหมือนโดนไล่ออกจากบ้านตัวเอง

ใครเลยจะทนไม่รู้สึกสูญเสียไหว

หากแต่ว่า เงินก้อนจากการขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้ไมโครซอฟท์นี่แหละ

ที่ทำให้ “โนเกีย” ยังไม่ตาย

และเติบโตกว่ายี่สิบเท่า ในธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคม

ขึ้นเป็นสามอันดับต้นๆ ของโลก ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

โนเกียยังอยู่ เพราะกล้าตัดสินใจเอาของที่ไม่ดี ของที่พลาดพลั้งออกจากตัว

หากแต่ “ใครเลยจะเข้าใจ”

ผมคิดเบาๆ

ขายหุ้นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นในประเทศให้ต่างชาติ

ด้วยราคาตลาด และโปร่งใส

เพื่อสร้างผลประโยชน์ในภาพรวมให้กับผู้ถือหุ้น ที่มีส่วนได้เสีย

ถ้าธุรกิจมันจะไปไม่รอด แล้วมีต่างชาติที่เชื่อเข้ามาอุ้มบริษัทเอาไว้

ความเสี่ยงมากมายในเชิงธุรกิจก็ถูกส่งต่อไปให้ต่างชาติ ที่อาจจะมีกระเป๋าหนา

ถ้าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ ผู้ถือหุ้นให้คงอยู่ในรูปแบบนี้

จะให้โดนตีตราว่า “ขายชาติ”

ก็น่าเห็นใจครับ