จิตต์สุภา ฉิน : หุ่นยนต์ผู้ช่วย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คนในสังคมสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการแบ่งเพศออกเป็นชายและหญิงน้อยลง

และเริ่มเข้าใจว่าเราไม่มีความจำเป็นจะต้องติดป้ายระบุว่าใครเป็นผู้ชาย หรือใครเป็นผู้หญิงกันสักเท่าไหร่แล้ว

แบบฟอร์มต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เริ่มมีช่องว่างให้สามารถระบุเพศตามต้องการ หรือจะไม่ระบุเพศใดๆ เลยก็ได้

ห้องน้ำที่เคยถูกแบ่งออกเป็นห้องน้ำสำหรับชายและหญิงอย่างเคร่งครัดก็เริ่มถูกปรับให้มีห้องประเภทที่สาม

ไปจนถึงสิทธิต่างๆ ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับผ่านการเรียกร้องอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นว่าเรากำลังค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้มองกันแบบ “ไร้เพศ” ได้มากขึ้น

ทุกแวดวงอุตสาหกรรมต่างก็พยายามปรับเพื่อให้สอดรับกับสังคมไม่จำกัดเพศ ไม่เว้นแม้แต่วงการเทคโนโลยี หลายๆ อย่างเป็นการปรับในหมวดหมู่ที่ดูผิวเผินเหมือนจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร

แต่หากอ่านๆ ไปก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนน่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

สิ่งนั้นก็คือ “เพศ” ของหุ่นยนต์ผู้ช่วยส่วนตัวนั่นเองค่ะ

 

ผู้ช่วยส่วนตัวที่เราสั่งการได้ด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นของค่ายไหน ทั้ง Google Assistant ของ Google Siri ของ Apple Cortana ของ Microsoft หรือ Alexa ของ Amazon ล้วนแต่ใช้เสียงที่ฟังแว้บเดียวก็สามารถบอกได้ทันทีว่านี่คือเสียงของผู้หญิง โดยที่มีความแตกต่างในบางกรณี

เช่น Apple ยอมให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าอยากได้เสียงของผู้ชาย หรือเสียงของผู้หญิง แต่ก็ยังเป็นการแบ่งเสียงออกเป็นสองเพศอยู่ดี

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บทบาทของการเป็นผู้ให้บริการหรือผู้ช่วยที่คอยอำนวยความสะดวกสบายให้มักจะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง

ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เป็นมนุษย์มีตัวตนจริงๆ ตัวละครในภาพยนตร์หรือนิยาย ไปจนถึงหุ่นยนต์

เสียงของผู้ช่วยส่วนตัวจึงมักจะเป็นเสียงของผู้หญิงไปด้วย

ในขณะที่หากหุ่นยนต์ถูกให้เสียงโดยผู้ชายก็จะมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไป

แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์ที่คอยให้บริการ ก็จะกลายเป็นหุ่นยนต์นักล่า นักฆ่า หรือหุ่นยนต์ทำลายล้างแทน

แม้แต่ในกรณีที่บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งลองใช้เสียงผู้ชายมาให้เป็นผู้ช่วยคอยรับใช้ดูบ้าง

ความรู้สึกที่ออกมาก็จะแตกต่างจากผู้หญิงอยู่ดี คือเสียงผู้หญิงทำให้นึกถึงเลขาฯ ส่วนตัว ในขณะที่เสียงผู้ชายจะให้ความรู้สึกว่าเป็นผู้ช่วยด้านการวิจัย บรรณารักษ์ หรือผู้จัดการด้านข้อมูล อะไรแบบนั้น

ทั้งหมดนี้พอจะทำให้เห็นว่าในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น ผู้หญิงมีหน้าที่ในการรับใช้และคอยให้บริการ

ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้ออกคำสั่ง

และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก็ฉายซ้ำภาพลักษณ์เหล่านี้ด้วยการตอกย้ำบทบาทที่แตกต่างกันทั้งสองบทบาทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

แนวคิดทั้งหมดนี้เป็นที่มาของ EqualAI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่เท่าเทียม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาความลำเอียงทางเพศในปัญญาประดิษฐ์

กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง EqualAI ซึ่งประกอบไปด้วยคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยี นักภาษาศาสตร์

นักออกแบบเสียงบอกว่าบริษัทมักจะเลือกใส่เพศชายหรือหญิงเข้าไปในเทคโนโลยีของตัวเอง เนื่องจากนึกว่าจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นกันเองกับเทคโนโลยีนั้นๆ มากขึ้น

แต่คนกลุ่มนี้มองว่านี่เป็นการตอกย้ำว่าโลกนี้มีเพียงแค่สองเพศ และจะยิ่งไปทำให้ภาพเหมารวมที่คนทั่วโลกร่วมกันต่อสู้เพื่อกำจัดให้หายไปกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า

สิ่งที่พวกเขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ไร้เพศ ที่ให้ชื่อว่า คิว (Q)

ในตอนแรกทีมงานคิดว่าจะให้บุคคลที่ไม่จำกัดเพศว่าเป็นชายหรือหญิงกลุ่มหนึ่งมาอ่านประโยคเดียวกันหลายๆ ประโยคซ้ำๆ แล้วหยิบเสียงของทุกคนมาผสมผสานเข้าด้วยกันให้กลายเป็นเสียงไร้เพศ

แต่เมื่อลองทำเข้าจริงๆ กลับพบว่ามีอุปสรรคและทำได้ค่อนข้างยาก

จึงหันไปใช้อีกวิธี นั่นคือการใช้เสียงของคนคนเดียว

แต่เสียงของคนคนเดียวที่ว่านั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นเสียงของใครก็ได้ พวกเขาเลือกเสียงที่อยู่ตรงกลางระหว่างเสียงที่ฟังแล้วแยกออกว่าเป็นเสียงผู้ชาย และเสียงของผู้หญิง

นั่นก็คือเสียงที่อยู่ระหว่าง 145-175 เฮิร์ตซ์

หากมองเป็นกราฟที่มีเสียงของ Q อยู่ตรงกลาง ถ้าลากขึ้นไปข้างบนก็จะกลายเป็นเสียงของผู้หญิง แต่หากดึงให้ดิ่งลงไปข้างล่างก็จะกลายเป็นเสียงของผู้ชายทันที (ทดลองฟังได้ด้วยตัวเอง ที่ genderlessvoice.com)

 

การที่จะทำให้มั่นใจว่าเสียงจะไม่กลายเป็นของเพศใดเพศหนึ่งไปได้ก็จะต้องส่งไปให้คนจำนวนมากทดลองฟัง พวกเขาก็เลยส่งเสียงไปให้คนกว่า 4,500 คนในยุโรปลองฟัง แล้วให้เลือกเสียงกลางๆ ที่พวกเขาแยกไม่ได้ว่าเป็นเสียงของผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่

เสียงนั่นแหละค่ะจึงกลายมาเป็นเสียงของ Q ในที่สุด

แม้ว่าตอนนี้ Q จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเข้าไปอยู่ในสมาร์ตโฟนหรือลำโพงอัจฉริยะของเราเร็วๆ นี้นะคะ

เพราะนี่เป็นเพียงการเปิดโลกทัศน์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีได้รู้ว่าผู้ช่วยส่วนตัวไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดเพศ

แต่หากพวกเขาเปลี่ยนใจและลองหันมาใช้เสียงที่อยู่ตรงกลางดูบ้างก็อาจจะทำให้คนกลุ่มที่ถูกละเลยมาตลอดกลับมารู้สึกว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและใกล้ตัวพวกเขามากขึ้น

นอกจากนี้มันก็อาจจะทำหน้าที่ในการช่วยจุดประกายให้เราได้พูดคุยถกเถียงกันถึงเรื่องปัญหาด้านสังคมอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มที่ทำก็หวังว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ จะหยิบเสียงหรือแนวคิดแบบเดียวกันนี้ไปใช้ให้ทันเวลาสอดรับกับการที่ยอดขายอุปกรณ์สมาร์ตสั่งการด้วยเสียงทั้งหลายกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว

เรื่องของเทคโนโลยีกับการเหยียดเพศหรือกีดกันทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่

นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาสักพักแล้วว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเทคโนโลยีนั้นไม่ควรที่จะใส่ความลำเอียงด้านเพศของตัวเองเข้าไปในผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

เสร็จจากเรื่องเสียงไปแล้ว ก็น่าจะยังต้องไปต่อกันที่รูปลักษณ์และการตั้งชื่ออีก โจทย์ต่อไปก็คือ เราจำเป็นที่จะต้องออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหน้าตาและรูปร่างไปในทางเพศใดเพศหนึ่งหรือเปล่า และชื่อของผู้ช่วยอัจฉริยะควรเป็นชื่อกลางๆ ที่ไม่บ่งบอกเพศไหม อย่างเช่นผู้ช่วยส่วนตัวยอดฮิต Alexa ฟังปรู๊ดเดียว ภาพผู้หญิงก็เด่นชัดขึ้นมาในจินตนาการทันที

ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับไปด้วยกันเพื่อให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำหรับคนทุกคนค่ะ