หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘เมืองหลวง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ - สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกชนิดหนึ่งมีแหล่งอาหารสมบูรณ์พอในเมืองหลวงของพวกมัน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เมืองหลวง’

มีเมืองหลายเมือง ซึ่งแม้จะมีสถานภาพเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ แต่สถานที่ตั้งอยู่ติดกับผืนป่าที่ได้รับการประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์

ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะป่าทางด้านตะวันตกของประเทศไทย

นอกจากความเป็นกลุ่มป่า 17 กลุ่ม มีพื้นที่ต่อเนื่องถึง 11.7 ล้านไร่แล้ว

ป่าที่ดูเหมือนเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน เป็นที่รู้จักมาก และได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” แห่งแรกของไทย ด้วยเหตุผลที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศที่หลากหลาย เหมาะกับการเจริญเติบโตของพรรณพืช และการอยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าหลากชนิด รวมทั้งมีระบบลาดตระเวนป้องกันพื้นที่อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ

ป่าใหญ่ผืนนี้คือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง

 

เมืองเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกล หรือคล้ายเป็นปากทางของป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง จึงมีความสำคัญ

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก อยู่ทางเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีเมืองทองผาภูมิและสังขละบุรี

ป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันออก พึ่งพาเมืองอุ้มผาง

ส่วนป่าห้วยขาแข้ง มีเมืองลานสัก และเมืองบ้านไร่

คนทำงานในป่าห้วยขาแข้ง

เปรียบลานสักเป็นดั่งเมืองหลวง

 

หลายปีในป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งช่วงเวลาที่มีโอกาสร่วมอยู่กับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง ผมเป็นเช่นเดียวกับคนทำงานในป่าแห่งนี้ คือมีลานสักเป็นเมืองหลวง

ใช้เป็นที่ซื้อเสบียง อะไหล่รถ ของใช้จิปาถะ หนังสือ ติดต่องาน และอื่นๆ อีกสารพัด

ลานสัก เมืองเล็กๆ มีสัญญาณไฟจราจร มีถนนสายหลัก 2 เส้น มีธนาคาร 2-3 แห่ง ตู้เอทีเอ็ม เคยมีโรงภาพยนตร์ แต่เลิกกิจการไปแล้ว เหลือเพียงป้ายชื่อ

นอกจากตลาดที่ขายของสด เพื่อซื้อกับข้าว

อีกสถานที่ซึ่งคนขาแข้งและสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำถือเป็นจุดหมายในการเข้าเมือง คือร้าน “เจ้จู”

 

ว่าตามจริง เจ้จู เปรียบเสมือนดั่งที่พึ่ง ที่คอยช่วยคนในป่าที่ขัดสน หรือจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน

โดยเฉพาะในช่วงที่เรียกว่า ปิดงบ

เงินจะไม่ออกราวๆ 3 เดือน เจ้จูช่วยได้เสมอ

หากใครต้องการของสด ของแห้ง เครื่องใช้ ตั้งแต่ทีวี ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ เจ้จูหามาให้ก่อน แล้วผ่อนกับเจ้ทีหลังได้

“ส่วนใหญ่ผมไม่เอาอะไรหรอกครับ นอกจากเหล้า” บุญเลิศ เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พูดขำๆ

หลายปีก่อน เจ้จูสร้างตึกแถวใหม่สีสดใส

“ประตู หน้าต่าง นี่เงินผมทั้งนั้น” บุญเลิศหัวเราะขำ ทุกเดือนเขาใช้เงินค่าเหล้าไปไม่น้อย

 

ผมห่างหายป่าแห่งนี้ไปหลายปี เพราะไปอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ได้แต่ติดต่อเพื่อนๆ ทางวิทยุสื่อสารบ่อยๆ

ผมกลับมาป่าห้วยขาแข้งอีก

ถึงเมืองลานสัก จุดหมายแรกที่แวะคือ ร้านเจ้จู

งานในร้านเจ้จู มีลูกมาช่วยงาน เจ้จูวางแผนจะปล่อยร้านนี้ให้ลูกชายดูแล ส่วนเจ้จูจะไปเปิดร้านใหม่ในเมืองใกล้ๆ

ลานสักไม่เปลี่ยนแปลงนัก สิ่งที่เพิ่มมาคือ ห้างใหญ่ และร้านกาแฟหลายร้าน

“ห้างใหญ่มาเปิดแบบนี้ ร้านเจ้จูเป็นอย่างไรบ้างครับ” ผมถาม

ในยุคที่ดูเหมือน “ทุนใหญ่” จะแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทุกตารางเมตร ร้านค้า ชุมชนที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

“ไม่เท่าไหร่นะ คนเขายังชินกับร้านเราน่ะ ต่อรองราคากันได้” เจ้จูตอบ

“ที่ดูเงียบๆ ไปนี่ เพราะปีนี้พืชไร่ไม่ดีมากกว่า ปีที่ผ่านมา ฝนไม่ดี แล้ง พืชผลไม่ดี เขาก็ไม่มีเงินมาซื้อของกัน” เจ้จูวิเคราะห์แบบบ้านๆ

“นริศ คนที่เคยขายกาแฟอยู่ตรงหัวมุมนั่นก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว”

หัวมุมถนน หน้าธนาคาร ผมคุ้นเคยกับชายหนุ่มผมยาว ผู้มีซุ้มขายกาแฟที่นั่น

“พี่ชายเขาน่าสงสาร” เจ้จูเล่าต่อ

“คนที่ขายกาแฟอยู่ตรงป้อมตำรวจไง เห็นเขาว่าโดนผู้หญิงทิ้งเลยกลายเป็นคนไม่สนใจตัวเอง กินเหล้า เดินเรื่อยเปื่อย กลางคืนนอนตามหน้าบ้านคน วันหนึ่งไปเจอเขานอนตายหน้าร้านข้าวสาร”

ผมพบเขาบ่อย เมื่อขับรถผ่าน เขาจะโบกมือทักทาย และหากเรามีเพื่อนนักวิจัยต่างชาติร่วมมา เขาจะเข้ามาคุยด้วยภาษาอังกฤษ

“เจ้จูเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก พ่อเขาก็ขายกาแฟ เด็กๆ พวกนี้พอเลิกเรียนก็มาช่วยพ่อ เรียนก็ดี หน้าตาก็ดี ดูสิ ผิดหวังกับเรื่องความรักแท้ๆ” เจ้จูส่ายหน้า

ความรักไม่ใช่ยาพิษหรอก

ความผิดหวังน่ะใช่

 

“แต่ลุงดิน ที่ขายไอติมกะทิยังอยู่นะ ไปกินหรือยัง” เจ้จูชวนคุยไม่หยุด คงเพราะไม่ได้พบกันนานแล้ว

ผมพยักหน้า ไอติมกะทิใส่ข้าวเหนียวถ้วยละ 10 บาท เป็นไอติมกะทิที่อร่อยที่สุดสำหรับเราเมื่อออกจากป่า

ก่อนเข้าป่า เราแวะกินไอติม

ลุงดินดูชราภาพขึ้นแต่ยังแข็งแรง สวมแว่นดำ เพิ่งไปผ่าตัดรักษาต้อ

“มาขายทุกวันแหละ” ลุงดินบอก

“นอกจากวันไหนมีคนเหมาไปก็ไม่ได้มาที่นี่” ลุงดินพูด และยื่นถ้วยไอติมให้

“ไม่ใส่ถั่วนะ” ลุงดินจำได้

ผมมองไปที่มุมถนนอีกฝั่งถนน ที่เคยเป็นซุ้มขายกาแฟ ตอนนี้กลายเป็นที่พักตำรวจ

กาลเวลาทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง เหลือไว้แค่ความทรงจำ

เราพูดกันแบบนี้เสมอๆ

กาลเวลาอีกนั่นแหละ

จะทำให้เราเข้าใจข้อความนี้จริงๆ

 

หากลานสักเป็นคล้าย “เมืองหลวง” ของคนทำงานในป่าห้วยขาแข้ง

เหล่าสัตว์ป่าทั้งหลายก็มีป่าห้วยขาแข้งเป็น “เมืองหลวง”

ไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า ที่นี่เป็นผืนป่าที่มีจำนวนประชากรเสือโคร่งมากที่สุด เมื่อมีเสือโคร่ง นั่นย่อมหมายถึงว่าระบบต่างๆ เป็นไปอย่างสอดคล้อง

มีงานวิจัยมากมายในเมืองหลวงแห่งนี้ สัตว์ป่าหลายชนิดสืบเนื่องเกี่ยวข้องมาจากโลกครั้งดึกดำบรรพ์

การศึกษา เรียนรู้ทำความรู้จักกับสัตว์ป่า ก็คล้ายกับทำความรู้จักกับตัวเราเอง

ไม่พยายามทำความเข้าใจกับ “เมื่อวาน”

ดูเหมือนการก้าวสู้ “วันพรุ่งนี้” จะไม่ง่าย

 

เมืองของคนขยายใหญ่โต ไร้การควบคุม

ฝุ่นควันพิษครอบคลุม

กับเหล่าสัตว์ป่า เหลือพื้นที่ไม่มากหรอก ที่สมบูรณ์พอจะเป็น “เมืองหลวง”

เรามักละเลยกับ “เมือง” ที่มี

จนกระทั่งถึงวันที่เหลือแต่เพียงซากผุพัง…