ทำไม ‘บทสังวาส’ ในวรรณคดีไทย สามารถใช้ ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ จินตนาการร่วมรักได้

ญาดา อารัมภีร

จันทรา-อาทิตย์

คนไทยเราคุ้นเคยกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีหน้าที่ให้แสงสว่างแก่โลก ต่างเวลา ต่างวาระ

ดวงอาทิตย์ส่องแสงเจิดจ้าในเวลากลางวัน ดวงจันทร์ส่องแสงเย็นตาในเวลากลางคืน อาทิตย์และจันทร์จึงเป็นของคู่กันตามธรรมชาติ สมดังที่วรรณคดีเรื่อง เงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พรรณนาว่า

โลกนี้มีอะไรที่ไม่คู่ ได้เห็นอยู่ทั่วถ้วนล้วนเป็นสอง

ดวงจันทร์นั้นยังมีอาทิตย์ปอง เดินพบพ้องบางคราวเมื่อเช้าเย็น

ภาษาไทยมีคำหลายคำเรียกดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

ใช้เป็นชื่อคนบ้าง ใช้เป็นศัพท์แสงในวรรณคดีบ้าง อย่างคำที่หมายถึงดวงอาทิตย์ มีตั้งแต่คำหน้าตาธรรมดาๆ เช่น อาทิตย์ พระอาทิตย์ ตะวัน ดวงตะวัน รวี รพี สุรีย์ สุริยะ สุริยา ฯลฯ

ไปจนถึงคำสวยหรู อาทิ ทินกร ทิวากร ทิพากร ภากร ประภากร ภาณุ ภาณุมาศ ภาสกร รังสิมา รังสิมันต์ หรือคำหน้าตาแปลกๆ เช่น ไถง อังศุธร อังศุมาลี อังศุมาลิน ฯลฯ

ชื่อหลังสุดถ้าเป็นนักอ่านนวนิยายหรือแฟนหนังแฟนละครคงจำได้ว่าเป็นชื่อนางเอกในเรื่องคู่กรรม ของทมยันตี ที่พ่อโกโบริ พระเอกของเรื่องเขาชอบเรียกว่า “ฮิเดโกะ” นั่นแหละ

ดวงจันทร์ก็ใช่ย่อย มีคำมากมายที่หมายถึงดวงจันทร์ เริ่มจากคำพื้นๆ เช่น ดวงเดือน จันทร์ ดวงจันทร์ พระจันทร์ จันทร จันทรา ศศิธร ไปจนถึงคำยากๆ เช่น ศศิ ศศิน ศศพินธุ์ รัชนี รัชนีกร นิศากร อินทุ แถง บุหลัน โสม สิตางศุ์ มนทกานติ ฯลฯ

“กวี” หรือ ผู้แต่งวรรณคดี ผู้แต่งกวีนิพนธ์ก็ติดใจดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่ต่างกับคนทั่วไป

แต่แทนที่จะนำคำที่หมายถึงดวงอาทิตย์ดวงจันทร์มา “ตั้งชื่อ” อย่างที่คนทั่วไปเขาทำกัน กวีก็คิดไปไกลกว่านั้น ข้ามขั้นไปถึงการเปรียบเทียบ

กวีมองดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ลึกซึ้งกว่าคนทั้งหลาย แสงร้อนแรงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ทำให้กวีนึกไปถึงความสง่างามและความเข้มแข็งของบุรุษ

ในขณะที่แสงสว่างนวลเย็นตาของดวงจันทร์ทำให้นึกถึงความงดงามที่แฝงด้วยความละมุนละม่อมและความอ่อนโยนของสตรี

กวีคิดเช่นนี้บนพื้นฐานความคิดที่ถือกันว่า บุรุษเป็นเพศเข้มแข็ง สตรีเป็นเพศอ่อนแอ

กวีจึงนิยมเปรียบบุรุษกับดวงอาทิตย์ เปรียบสตรีกับดวงจันทร์

ดังตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ นางรื่นนางโรยพี่เลี้ยงชมโฉมพระเพื่อนพระแพงว่างามสมกันกับพระลอ โดยเปรียบพระลอกับ “ทินกร” หรือดวงอาทิตย์ และเปรียบพระเพื่อนพระแพงกับ “ศศิธร” หรือดวงจันทร์

พิศไท้ไท้ว่าไท้ ทินกร

พิศอ่อนคือศศิธร แจ่มฟ้า

พิศดูอิ่มอกอร ใดดั่ง นี้นา

เดือนตะวันแย้มหน้า ออกรื้อฉันใด ฯ

ความเหมาะสมในการครองคู่เป็นสิ่งที่พบเสมอในวรรณคดีไทยโดยเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ วรรณคดีเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา พี่เลี้ยงและนางกำนัลเมืองนี้ล้วนอยากให้อิเหนาได้ครองคู่กับนางบุษบาเจ้านายของตน ถึงกับเอ่ยออกมาดังนี้

บ้างว่าเหมือนสุริยากับพระจันทร์ ถ้าได้ครองกันจะสมควร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเปรียบอิเหนากับดวงอาทิตย์

เนื่องจากอิเหนาเป็นผู้ชาย ถือกันว่ามีทั้งความแข็งแกร่ง ความองอาจงามสง่า เป็นที่น่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น เทียบได้กับดวงอาทิตย์ที่มีแสงร้อนแรงเจิดจ้าเปี่ยมอานุภาพจนไม่มีใครสามารถทนมองแสงอาทิตย์ได้นานนัก

การเปรียบนางบุษบากับพระจันทร์ก็เพราะนางเป็นผู้หญิง มีทั้งความงดงามละเมียดละไม ความนุ่มนวลอ่อนหวาน เย็นตาเย็นใจแก่ผู้พบเห็น ยิ่งไปกว่านั้นชายหญิงคู่นี้ยังสูงส่งเสมอกันด้วยชาติตระกูล งดงามทัดเทียมกันด้วยรูปลักษณ์ จึงเหมาะสมที่จะครองคู่กันยิ่งนัก

คู่ครองที่เหมาะสมนี้มิได้มีปรากฏในเรื่องอิเหนาเท่านั้น เรื่อง อุณรุท และ ดาหลัง ที่เป็นงานร่วมสมัยก็มีแนวคิดไม่ต่างกัน เรื่องแรกกล่าวถึงนางกำนัลหลงใหลความงดงามคู่ควรกันของพระอุณรุทและนางศรีสุดา ถึงกับรำพันว่า

งามฉวีงามศรีงามทรง เพียงองค์สุริยันกับจันทรา

วรรณคดีเรื่อง ดาหลัง ตอนที่ท้าวปันจะรากันเห็นปันหยีกับนางบุษบาส่าหรี ก็ปรารภว่า

งามสมควรกันเป็นหนักหนา ดั่งสุริยากับพระจันทร์แจ่มใส

โดยเฉพาะวรรณคดีเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน แนวคิดที่ว่ายิ่งเด่นชัด เพราะเป็นการเปรียบพระเอกคนเดียวกันกับนางเอกถึง 2 คน

เริ่มจากพลายแก้วกับนางพิมพิลาไลย นางสายทองพี่เลี้ยงพยายามโน้มน้าวใจนางพิมให้เห็นดีเห็นงามว่า พลายแก้วกับนางพิมนั้นเหมาะสมกันอย่างยิ่ง

พิศรูปสองรูปก็น่ารัก ชะอ้อนอ่อนวรพักตร์เจ้าเฉิดฉัน

ดังอาทิตย์ชิดรถเข้าเคียงจันทร์ ถ้าได้กันแล้วเป็นบุญของสายทอง

แม้ใน “บทสังวาส” หรือ “บทอัศจรรย์” ซึ่งเป็นการใช้สัญลักษณ์มาแทนความหมายของการร่วมรักระหว่างชายหญิง กวีก็นำเอาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มาแทนตัวขุนแผนกับนางแก้วกิริยาตอนเข้าด้ายเข้าเข็มว่า

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ

หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง

วรรณคดีส่วนใหญ่มักจะเปรียบผู้ชายกับดวงอาทิตย์ เปรียบผู้หญิงกับดวงจันทร์ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แปลกไปกว่าเขาเพื่อน คือเรื่อง วิวาหพระสมุทร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์แทนตัวเจ้าหญิงอันโดรเมดา ดังตอนที่เจ้าชายอันเดรพระเอกของเรื่องยืนร้องเพลงเกี้ยวอยู่ใต้หน้าต่างของนางเอกด้วยทำนองเพลงคลื่นกระทบฝั่ง

อันโดรเมดาสุดาสวรรค์ ยิ่งกว่าชีวันเสน่หา

ขอเชิญสาวสวรรค์ขวัญฟ้า เปิดวิมานมองมาให้ชื่นใจ

ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่

ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมน

อ้าดวงสุรีย์ศรีของพี่เอ๋ย ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน

ขอเชิญจันทร์ส่องสว่างกลางสากล เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา

รัชกาลที่ 6 ทรงนำคำว่า ดวงสุรีย์ศรี ที่หมายถึง ดวงอาทิตย์ และคำว่า จันทร์ ในข้อความว่า “ขอเชิญจันทร์ส่องสว่างกลางสากล เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา” มาแทนตัวเจ้าหญิงอันโดรเมดา

ต่อมาครูสุรพล แสงเอก นักแต่งเพลงตัดเอาข้อความตั้งแต่ “ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์” ไปจนถึง “เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา” มาบรรจุเพลงไทยสากลที่แต่งขึ้นและตั้งชื่อว่า สุริยัน-จันทรา เป็นเพลงจากวรรณคดีที่ได้รับความนิยมจากอดีตถึงปัจจุบัน

อยากรู้ว่าเพลงไพเราะแค่ไหนก็ลองหามาฟังกัน