“ไทเกอร์” คัมแบ๊ก กับหลายสิ่งที่ได้เรียนรู้

สุดสัปดาห์ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แฟนกอล์ฟและสื่อกีฬาทั่วโลกต่างตื่นเต้นติดตามข่าการคัมแบ๊กของ “ไทเกอร์ วู้ดส์” อดีตโปรกอล์ฟมือ 1 ของโลกชาวอเมริกัน ซึ่งกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งหลังพักไปนาน 16 เดือนเพราะปัญหาเจ็บหลังเรื้อหลัง

วู้ดส์มีแผนจะกลับมาแข่งขันตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่เลื่อนออกไปเพราะผลการฝึกซ้อมไม่เป็นที่น่าพอใจ กระทั่งมาถึงรายการ “ฮีโร่ เวิลด์ ชาลเลนจ์” ซึ่งตัวเองเป็นเจ้าภาพ จึงตัดสินใจลงสนาม และคว้าอันดับ 15 ร่วม จากนักกอล์ฟ 18 คน ทำผลงาน 4 อันเดอร์พาร์

บทสรุปของรายการนี้ทำให้บรรดากูรูพอจะเห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของวู้ดส์ได้ชัดเจนมากขึ้น

โดยแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

วู้ดส์ยังไม่พร้อมคว้าชัยชนะ

ฟอร์มการเล่นของวู้ดส์ในรายการนี้ยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่มาก บทจะดีก็ดีใจหาย เช่น ตอนทำ 7 เบอร์ดี้ ปลอดโบกี้ในรอบสอง หรือช่วงต้นรอบสามที่ทำ 4 อันเดอร์ใน 5 หลุมแรก จนใครๆ พากันคิดว่า “พญาเสือ” คนเดิมที่เคยไร้เทียมทานกลับมาแล้ว

แต่บทจะแย่ก็น่าตกใจไม่น้อยเช่นกัน เช่น 9 หลุมหลังของรอบแรกซึ่งทำ 1 โบกี้ 2 ดับเบิลโบกี้ หรือรอบสุดท้ายที่แม้จะมี 5 เบอร์ดี้ แต่ก็เสียถึง 3 โบกี้ กับ 3 ดับเบิลโบกี้

ปัญหาของวู้ดส์ในตอนนี้คือฟอร์มที่ยังไม่สม่ำเสมอ ทั้งที่ออกสตาร์ตได้ดีช่วง 9 หลุมแรก แต่ก็มาหลุดใน 9 หลุมหลังบ่อยครั้ง

อีกทั้งรายการนี้เป็นรายการพิเศษที่มีนักกอล์ฟเข้าแข่งแค่ 18 คน ยังไม่เจอแรงกดดันเหมือนการแข่งขันจริง

หากจะรักษามาตรฐานการเล่นให้ตลอดรอดฝั่ง จำเป็นต้องเรียกความฟิตให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

 

มิตรภาพเหนือความคาดหมาย

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่โลดแล่นในวงการ ช่วงก่อนเกิดปัญหาส่วนตัวและอาการบาดเจ็บเรื้องรัง วู้ดส์ซึ่งเป็นเจ้าของแชมป์เมเจอร์ 14 รายการ และแชมป์อาชีพ 79 รายการ มักจะมีออร่าของความน่าเกรงขาม และไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนรอบข้างสักเท่าไร

ดังนั้น ตอนที่วู้ดส์คืนสนามในครั้งนี้ และได้รับแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมวงการมากมาย

บ้างก็เข้ามาให้กำลังใจ

บ้างก็ให้คำแนะนำ

บางคนมาเป็นเพื่อนคุยตอนกลางคืน

เจ้าตัวถึงขั้นอุทานด้วยความซาบซึ้งว่า “เป็นบรรยากาศที่เหลือเชื่อและไม่คาดฝันมาก่อน” เลยทีเดียว


บทบาทใหม่ในฐานะคนเบื้องหลัง

การตัดสินใจถอนตัวในเดือนตุลาคมทำให้วู้ดส์มีเวลาทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่ผู้ช่วยกัปตันทีมสหรัฐในศึก “ไรเดอร์คัพ” มากขึ้น

และการเปลี่ยนบทบาทจากผู้เล่นมาเป็นสต๊าฟโค้ชก็ช่วยให้วู้ดส์มีสมาธิกับการวางแผนการเล่นแต่ละหลุม ต่างจากสมัยเป็นสมาชิกของทีม

ยิ่งพออายุย่าง 41 ปี และรับหน้าที่คณะกรรมการไรเดอร์คัพของสหรัฐพ่วงมาอีกตำแหน่ง วู้ดส์ยิ่งมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบมากยิ่งกว่าเก่า สามารถใช้ทักษะและประสบการณ์จากการแข่งขันที่ผ่านๆ มาได้เต็มที่

ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างมิตรภาพและความผูกพันกับเพื่อนนักกอล์ฟด้วยกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ดังจะเห็นได้จากหลังคว้าแชมป์ไรเดอร์คัพปีนี้ ขณะที่นักกีฬาในทีมแข่งกันทวีตภาพถ้วยรางวัล

วู้ดส์ที่เข้าไปแจมผ่านทวิตเตอร์ด้วยยังโดนเพื่อนเบรกแบบขำๆ ว่า ของเขาไม่นับ (เพราะไม่ใช่นักกีฬา) ด้วย


วู้ดส์จริงจังกับมูลนิธิมากๆ

การแข่งขัน “ฮีโร่ เวิลด์ ชาลเลนจ์” ครั้งนี้ มูลนิธิไทเกอร์ วู้ดส์ เป็นสปอนเซอร์หลัก

มูลนิธิดังกล่าวมุ่งเน้นการช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวยากไร้และด้อยโอกาสทางการศึกษาทั่วโลก โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนนักกอล์ฟด้วยกันหลายราย อาทิ “เออร์นี่ เอลส์, จัสติน โรส”

อีกทั้งธุรกิจในเครือของวู้ดส์ยังมีโครงข่ายเกี่ยวเนื่องกับกับธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ในส่วนที่ขาดได้โดยเฉพาะเงินทุน การที่เขาตัดสินใจกลับมาแข่งขันในรายการที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ หมายความว่าสื่อทั่วโลกต้องให้ความสนใจ การระดมทุนย่อมทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงความช่วยเหลือที่เพิ่มพูนสำหรับเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บาฮามาส สถานที่แข่งขันรายการดังกล่าว

 

ร่างกายของเขาไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

สมัยหนุ่มๆ วู้ดส์จัดเป็นพวกบ้าพลัง ชอบการออกกำลังกายหนักๆ เช่น วิ่งวันละหลายกิโลเมตร ยกน้ำหนักคราวละหลายกิโลกรัม

ซึ่งสภาพร่างกายที่ฟิตเปรี๊ยะนำไปสู่ฟอร์มการเล่นที่ทรงพลัง จนเพื่อนร่วมทัวร์หลายคนต้องหันมาฟิตร่างกายตาม

อย่างไรก็ตาม ตอนอายุยังไม่มาก เวลามีปัญหาบาดเจ็บ ร่างกายจะคืนสภาพกลับมาได้เร็ว ผิดกับปัจจุบันซึ่งพอเจ็บทีแล้วเจ็บยาว

มีตัวอย่างให้เห็นเมื่อปีที่แล้วที่วู้ดส์ใจร้อนรีบคืนสนามหลังผ่าตัดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ไม่นาน สุดท้ายกลายเป็นยิ่งแย่และต้องผ่าตัดซ่อมอีก 2 ครั้ง

กลับมาเที่ยวนี้ เขาจึงจำเป็นต้องหาวิธีการรักษาตัวที่เหมาะสมที่สุด และรอยคอยอย่างใจเย็น หากหวังจกลับมาเป็นคนเก่งคนเดิมที่มีลุ้นแชมป์แทบทุกรายการที่ลงแข่งขัน

ไม่เช่นนั้นโอกาสจะลุ้นแชมป์เมเจอร์อีกอย่างน้อย 4 สมัยเพื่อทาบสถิติสูงสุด 18 สมัยของตำนาน แจ๊ก นิกคลอส คงเป็นได้แค่ความฝันที่ยากจะเป็นจริง