โลกหมุนเร็ว/ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / พระพุทธเจ้ากับความเท่าเทียม

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

พระพุทธเจ้ากับความเท่าเทียม

 

น้อยครั้งมากที่เราจะได้ยินคนพูดกันเรื่องพระพุทธเจ้ากับความเท่าเทียม ส่วนใหญ่แล้วเรามักเอ่ยถึงท่านในเรื่องการดับทุกข์และความหลุดพ้น

ในตอนแรกผู้เขียนอยากจะตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า พระพุทธเจ้ากับประชาธิปไตย และโยงมาเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบันในช่วงเลือกตั้ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าประชาธิปไตยกับความเท่าเทียมเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า

ความเท่าเทียมคืออุดมคติที่มนุษย์ต้องการไปให้ถึง แต่ประชาธิปไตยคือคำตอบหรือเปล่า หรือเป็นอุดมคติเช่นเดียวกันกับความเท่าเทียมหรือเปล่า

ต้องค่อยๆ คิด คิดนานๆ

ในช่วงนี้มีการยกเอาวาทกรรมของหลวงปู่ชา และโสกราติสมาเผยแพร่ทางโซเชียลเพื่อหักล้างความคิดที่ว่าประชาธิปไตยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศ ทั้งวาทกรรมของโสกราติสและหลวงพ่อชามีเนื้อหาคล้ายๆ กันคือ ถ้าใช้ระบอบประชาธิปไตยและปล่อยให้ผู้มีปัญญาน้อย มีวุฒิภาวะน้อยเป็นผู้ตัดสินทางเลือกของรัฐไม่น่าจะเกิดผลดี

การยกวาทกรรมนี้มาจากคนที่เชื่อว่าตน “หวังดี” ต่อประเทศ หวังดีว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดความเสี่ยงว่าผู้มีปัญญาน้อยจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย

แต่ถ้ามองให้ลึก คนที่หวังดีทั้งหลายนี้ก็หวงเอาประเทศไว้เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว

 

มองอีกมุมหนึ่งยุคสมัยของโสกราติสและหลวงพ่อชาก็ผ่านพ้นมานานแล้ว สังคมในขณะนั้นเป็นสังคมแห่งการดูแลกัน ไม่ใช่สังคมแห่งการเอารัดเอาเปรียบกันเหมือนทุกวันนี้ คนที่มีโอกาสน้อยกว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ

แม้แต่เด็กอายุ 18 ที่เพิ่งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งก็ยังรู้ว่าสังคมนี้เหลื่อมล้ำและคนมีโอกาสไม่เท่ากัน

มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาชี้ให้เห็นว่าความเท่าเทียมเป็นเรื่องจำเป็นของมนุษยชาติ เพื่อเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ ในประเทศอินเดียมีความเหลื่อมล้ำอันยิ่งใหญ่ เพราะมีระบบวรรณะที่หยั่งรากลึก

มีเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล ถึงการออกบวชของชายวรรณะจัณฑาลผู้หนึ่งชื่อสุนิต เขามีอาชีพเป็นคนหาบโคลน เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าและพระสาวกเดินผ่านเขารีบหลบออกไปนอกทางและกระโจนลงไปในน้ำ ด้วยความที่กลัวกลิ่นโคลนจะเหม็นมาถึงพระพุทธเจ้าและทำให้พระองค์เปรอะเปื้อน เขาคิดว่าการทำให้พระภิกษุมีมลทินเป็นสิ่งต้องห้าม

แต่พระพุทธองค์กลับตามเขาไป และเมื่อรู้ว่าเขาไม่กล้าทำให้พระองค์และพระสาวกมีมลทิน พระองค์กลับตอบว่า “ในมรรคาของเราไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะอีกต่อไป ท่านเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย เราไม่กลัวว่าจะได้รับมลทินจากท่าน ในโพธิมรรคชนชั้นวรรณะจะมีอยู่ต่อไปไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ และโรหิณี เมื่อไหลลงสู่ทะเลจะไม่มีความแตกต่างอีกต่อไป”

แล้วพระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้นายสุนิตอุปสมบทได้

การที่อนุญาตให้สุนิตจัณฑาลบวชเช่นเดียวกับเชื้อกษัตริย์ทั้งหลายก็เท่ากับแสดงให้เห็นความเท่าเทียม การไม่แบ่งแยก

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“การรับชาวจัณฑาลเข้าสู่คณะสงฆ์เป็นเพียงปัญหาของกาลเวลา มรรคของเราเป็นมรรคแห่งการเสมอภาค เราปฏิเสธชนชั้นวรรณะ แม้เราต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการอุปสมบทให้พระสุนิต เราก็ได้เปิดประตูเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งชนรุ่นอนาคตจะขอบคุณเรา เราต้องมีความกล้าหาญไว้”

 

ยังมีเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียมอีกมากมายจากการอ่านหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” เล่มที่ 2 เขียนโดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ และแปลโดยรสนา โตสิตระกูล กับสันติสุข โสภณสิริ

คำว่าประชาธิปไตย โดยนัยยะแล้วหมายถึงทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ ไม่ว่าจะมีหรือจน ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด เลือกผิดก็คือชะตากรรมของประเทศ ระบอบประชาธิปไตยจะปรับตัวเองโดยธรรมชาติ

ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมเริ่มเคลื่อนเข้ามาซ้อนทับเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว

ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนเลือกผู้แทนที่เข้าใจปัญหาของตนซึ่งจะเข้าไปแก้ปัญหาให้ตนได้ ปัญหาของเกษตรกรคือราคาผลิตผลที่ตกต่ำ ส่วนปัญหาของพ่อค้าแม่ขายรายเล็กคือการขาดแคลนเงินทุน ปัญหาของพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยคือไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเรียน

มีภาพสะท้อนจากการบอกเล่าของช่างทำผมหน้าบ้าน อย่างที่รู้กันร้านทำผมมักเป็นที่รวมของข้อมูลต่างๆ ที่มาจากลูกค้าหลากหลาย ช่างบอกว่าลูกค้ารายหนึ่งของเธอบอกว่ากู้เงินในรัฐบาลนี้มันทำไม่ได้ เอกสารแยะ ถึงเวลาก็กู้ไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะโฆษณาปาวๆ เหมือนดีแต่พูด ในขณะที่รัฐบาลทักษิณแม่ค้าค้ำกันเองได้ เดี๋ยวเดียวก็กู้ผ่าน เศรษฐกิจก็ดี

แม่ค้าไม่ได้ใช้ “ปัญญา” ตรงไหนตัดสินว่าเธอจะเลือกใคร เธอใช้ “สามัญสำนึก” เลือกคนที่เข้าใจปัญหาของเธอ และแก้ปัญหาให้เธอได้

ตราบใดที่ไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ล้ำลึกในคำว่าความเท่าเทียม หรืออะไรคือปัญหาที่จริงๆ ของประชาชน คุณก็จะไม่สามารถนั่งอยู่ในใจของประชาชนได้

ในความหมายของพระพุทธเจ้า คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับสุนิตเกิดมาเป็นจัณฑาล แต่ในสังคมประชาธิปไตยสุนิตย่อมจะมีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นในการขอบวช เป็นต้น

พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบแห่งประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

 

ครั้งหนึ่งพระสงฆ์เกิดข้อขัดแย้งกัน พระสงฆ์ฝ่ายหนึ่งคือพระธรรมธร อีกฝ่ายคือพระวินัยธร พระวินัยธรมีหน้าที่คุมกฎ เมื่อพระธรรมธรทำผิดกฎลืมล้างอ่างล้างหน้า เมื่อพระวินัยธรทำโทษโดยไม่ให้เข้าร่วมอุโบสถ ฝ่ายพระธรรมธรก็ไม่พอใจไม่ยอมทำตาม ต่างฝ่ายต่างมีผู้หนุนหลังจึงทะเลาะกันใหญ่โต พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแต่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยอมฟัง

พระพุทธองค์จึงจากไปปลีกวิเวกเป็นเวลานาน ระหว่างนั้นเมื่อข่าวการไม่ปรองดองแพร่ไปในหมู่คฤหัสถ์ก็เกิดการประท้วงไม่ถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายจึงสำนึกได้ว่าควรจะยุติเรื่องบาดหมางได้แล้ว จึงต่างฝ่ายต่างขอขมากัน

ในกรณีนี้พระพุทธองค์ทรงปล่อยให้เหตุการณ์พาไปจนคู่กรณีสำนึกเอง ในเมื่อทรงเข้าแทรกแซงแล้วไม่ได้ผล

ถือว่าทรงใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตย (ไม่เผด็จการ)